Economics

LNG ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (ตอน2)

S 26837080

ก๊าซธรรมชาตินับว่ามีบทบาทในกิจการไฟฟ้าของประเทศอย่างยิ่งยวด ขณะที่เชื้อเพลิงถ่านหินแทบจะเรียกว่า “ปิดประตูตาย”  เมื่อความต้องการมากขึ้น ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยไม่เพียงพอกับความต้องการ การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จึงเป็นเรื่องจำเป็นโดยปริยาย

มาดูโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติของไทยในวันนี้ แหล่งก๊าซธรรมชาติในบ้านเรามาจากอ่าวไทย 70% เมียนมา 18%  บนบก 3% และ LNG 9% รวมกำลังผลิต 4,761 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ปลายทางไปที่โรงแยกก๊าซฯ 20 %  อีก 59 % ใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า 14% ใช้ในภาคอุตสาหกรรม และ 7% ใช้เป็นก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV)

5ปัจจัยผลักให้ LNG โตก้าวกระโดด

จะเห็นได้ว่า LNG มีสัดส่วนวันนี้เพียง  9-10 % หรือราว 600 ล้านลบ.ฟุต/วัน แต่กำลังถูกจับตามอง ด้วยเป็นธุรกิจที่จะเติบโตก้าวกระโดดนับจากนี้

 จาก 5 ปัจจัย ดังนี้

  • ปี 2565-2566 แหล่งก๊าซฯในอ่ายไทยหลักๆ อย่าง เอราวัณ และบงกช ที่ผลิตก๊าซฯได้ 2,100 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน จะหมดอายุสัมปทาน
  • ปี 2566-2567 สัญญาแหล่งก๊าซในเมียนมาจะทยอยหมดอายุ
  • แหล่ง JDA ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียจะสิ้นสุดสัมปทานปี 2570
  • โรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จากการคัดค้านของกลุ่มคนมากหน้าหลายตา
  • ราคา LNG ตลาดโลกก็ต่ำลงจากต้นปี 2557 ที่ 19-20 ดอลาร์/ล้านบีทียู ลดลงกว่าครึ่งมาอยู่ในระดับ 6-8 ดอลลาร์ในช่วง 1-2 ปีนี้ จากการทำสงครามราคาระหว่างสหรัฐและรัสเซียผู้ผลิต LNG รายใหญ่

ปี 77 ไทยต้องพึ่ง LNG 100%

ด้วยปัจจัยทั้งหมด โรงไฟฟ้าก๊าซฯ จึงเป็นโรงไฟฟ้าหลักต่อไป และ LNG คือพระเอกในระยะยาว ตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติปี 2558-2579 และการคาดการณ์ของกระทรวงพลังงาน ระบุว่า นับจากนี้ จะได้เห็นตำแหน่งของ LNG ประเทศไทย 3 ด้านสำคัญ คือ

  • ปี2564-2566 จะมี LNG สัดส่วนนำเข้ารวม 40% หรือ 2,000 ล้านลบ.ฟุต/วัน
  • ปี 2570 สัดส่วนนำเข้าจะเพิ่มเป็น 50-60%
  • ต้องพึ่งพา LNG นำเข้า 100% นับจากปี 2577
  • นำเข้า LNG มากถึง 5,500 ล้านลบ.ฟุต/วัน หรือ 40 ล้านตัน/ปี ตั้งแต่ปี 2573

นอกจาก LNG เป็นกิจการที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดดในประเทศแล้ว รอบบ้านเราก็มีแนวโน้มเติบโตด้วยเช่นกัน ปตท.จึงมีแผนธุรกิจอย่างจริงจังที่จะเป็นผู้นำเข้าและขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

ประเทศเหล่านี้มีความต้องการใช้ LNG เพื่อผลิตไฟฟ้าในประเทศเช่นเดียวกัน  โดยทำสัญญาซื้อขายกับกาตาร์ 2 ล้านตัน/ปี  บริษัท เชลล์ บีพี 2 ล้านตัน/ปี และบริษัท ปิโตรนาส 1.2 ล้านตัน/ปี รวมเป็น 5.2 ล้านตัน การันตีว่าปตท.จะเดินหน้ากิจการนี้อย่างจริงจัง

เมื่อเป็นธุรกิจที่หอมหวน กระแสการเรียกร้องของผู้ประกอบการที่ต้องการแบ่งเค้กก้อนนี้บ้างจึงเกิดขึ้น นำมาสู่การปรับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศ  จากเดิมที่การนำเข้า และจำหน่ายผูกขาดไว้ที่ปตท. และฝ่ายกำกับดูแลก็เข้ามามีบทบาท

3 ขั้นสู่เปิดเสรี

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วางแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ  แบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย

ระยะที่ 1 เปลี่ยนโครงสร้างให้มีการแข่งขัน โดยให้ปตท.แยกธุรกิจท่อก๊าซให้เป็นอิสระจากการจัดหาและการขาย โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้นำเข้าอีกราย เพื่อทดสอบระบบ ทั้งจัดหา การใช้สถานีรับจ่ายและแปลงสภาพ และระบบท่อส่งก๊าซ รวมถึงวางกติกาใหม่ๆ มารองรับ

ระยะที่ 2 เปิดให้เอกชนรายอื่น ๆ เข้ามาดำเนินการ ทั้งการนำเข้า LNG การจัดหาและการจำหน่าย (shipper) และการลงทุนบริหารสถานีรับจ่ายและแปลงสภาพ รวมถึงให้ ปตท.จัดตั้งผู้บริหารระบบท่อก๊าซ (transmission system operator) เพื่อแยกให้เป็นอิสระจากการจัดหาและขาย รวมถึงให้เอกชนรายใหม่นำเข้า LNG ได้ เพื่อให้มี shipper หลายรายทำหน้าที่จัดหาและจำหน่ายก๊าซไปยังลูกค้าโดยตรง และมีผู้ลงทุนและบริหารกิจการสถานี LNG รายใหม่มาเชื่อมต่อระบบ เป็นต้น

ระยะที่ 3 เปิดแข่งขันเสรีเต็มรูปแบบ มีผู้นำเข้า LNG และ shipper หลายราย ทำให้สัดส่วนของการจัดหา LNG เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่การจัดหาและการใช้ก๊าซฯภายใต้สัญญาเดิมลดน้อยลง ส่งผลให้ตลาดพร้อมเข้าสู่ระบบการแข่งขันมากขึ้น

ภายใต้นโยบายดังกล่าว คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า(กกพ.) จึงเข้ามาวางกติกาการแข่งขันเพื่อเปิดทางให้ผู้ประกอบการรายอื่นนำเข้า และขาย LNG ด้วย โดยวางกติกาให้ใช้ หรือเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซฯ และสถานี LNG แก่บุคคลที่ 3 (Third Party Access : TPA ) และได้อนุมัติและประกาศใช้ TPA Code  รวมถึงประกาศข้อบังคับว่าด้วยการจัดทำข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานี LNG แก่บุคคลที่สาม (TPA Regime) ภายใต้พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550

6 กกพ.วีระพล 1

ดันกฟผ.ชิมลางเปิดเสรี

และกพช.ได้อนุมัติให้กฟผ. ชิมลางทำหน้าที่เป็น Shipper รายใหม่ในการนำเข้า  LNG จากต่างประเทศ 1.5 ล้านตันเพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าของกฟผ.เองภายในปี 2561 ขณะเดียวกับที่กกพ.ออกข้อกำหนดเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ลดการเก็บค่าบริการเก็บรักษาและแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซ ในส่วนของต้นทุนคงที่ ของบริษัทพีทีที แอลเอ็นจี จำกัด สำหรับรอบกำกับดูแล 5 ปี (ปี 2561-2565) อัตราค่าบริการลดลงจาก 24.932 บาทต่อล้านบีทียูเหลือ 18.3506 บาทต่อล้านบีทียู

“การเปิดเสรีนำเข้าและจัดจำหน่าย พร้อมกับการวาง TPA Regime กระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในการจัดหาก๊าซมากขึ้น ลดการผูกขาด เพิ่มแรงจูงใจในการเพิ่มประสิทธิภาพ และมีการใช้ประโยชน์สูงสุดจากสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่มารองรับ LNG และอีกไม่นาน LNG จะมีสัดส่วนการใช้เป็น 2 ใน3 ของการใช้ก๊าซทั้งหมดในประเทศ ” นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกกพ. ระบุ

การเปิดเสรี LNG ซึ่งถือเป็นบิ๊กล็อตของพลังงานของไทยครั้งนี้ แม้จะเปิดตลาดให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาแข่งขันได้ แต่ในระยะแรกดูเหมือนยาก เพราะ facilities ถูกจับจองโดยปตท. และกฟผ.เป็นที่เรียบร้อย ผู้ประกอบการหน้าใหม่ต้องรอคิวขยายสถานีรับและแปลงสภาพ และอื่นๆที่จะมารองรับการนำเข้า LNG ในล็อตต่อไป

อย่างไรก็ตามแม้ว่าธุรกิจ LNG จะหอมหวาน แต่ก๊าซฯเป็นต้นทุนหลักของโรงไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม การเปิดเสรี LNG 100 % คงไม่ใช่เรื่องง่าย การกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึง กกพ.เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้การเปิดเสรีสร้างประโยชน์กับประชาชน ทำให้ต้นทุนสาธารณูปโภค  สาธารณูปการต่ำลง มิใช่การนำเข้าเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ แต่สุดท้ายประชาชนรับภาระ

Avatar photo