Business

เปิดทางเอกชนรับจ้างเดิน ‘รถไฟขนสินค้า’ แหลมฉบัง-หนองคาย ลงทุน 3 หมื่นล้าน

ศึกษา PPP เปิดทางเอกชนรับจ้างขนสินค้าทางรถไฟ “แหลมฉบัง-หนองคาย” มูลค่า 3 หมื่นล้าน คาดเปิดประมูลได้ต้นปีหน้า วิ่งจริงปี 69

EC254087 4D9D 4660 BF96 C56C7ED56B5E

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมเรื่องโครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการเดินรถสินค้า วันนี้ (6 ก.พ.) ว่า การรถไฟฯ อยู่ระหว่างว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาโครงการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในการเดินรถสินค้า เส้นทางแหลมฉบัง-หนองคาย ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครับและเอกชน พ.ศ.2562

โดยขณะนี้การรถไฟฯ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อยู่ระหว่างเดินสายรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการขนส่งทางราง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ภาคเอกชน รวมทั้งกระทรวงคมนาคม เพื่อให้การศึกษาครอบคลุมและมีแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม

ท่าเรือแหลมฉบัง
ท่าเรือแหลมฉบัง

นายพีระพลกล่าวต่อว่า แนวทางหลักของโครงการนี้คือ การรถไฟฯ จะจัดสรรตารางเดินรถ (Slot) เส้นทางแหลมฉบัง-หนองคาย ที่ไม่ได้ใช้งานและไม่มีการซ่อมบำรุง ให้เอกชนเข้ามารับจ้างขนส่งสินค้า เพื่อเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินในระบบรางและเพิ่มการใช้รางให้เต็มประสิทธิภาพ เพราะขณะนี้การรถไฟฯ กำลังลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ ซึ่งจะส่งผลให้รางมีความจุเพิ่มขึ้น 2.5-3 เท่าในอนาคต

โดยเอกชนจะต้องลงทุนประมาณ 2.6-3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนระบบจ่ายไฟฟ้าตลอดแนวเส้นทาง 2-2.4 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ใช้หัวรถจักรไฟฟ้าในการขนส่งสินค้าได้ และที่เหลืออีก 6.5 พันล้านบาท เป็นการลงทุนจัดซื้อหัวรถจักรไฟฟ้าและแคร่ ที่เอกชนจะใช้ในการรับจ้าง ด้านการรถไฟฯ ก็จะได้รับประโยชน์ จากการพัฒนาระบบไฟฟ้าบนเส้นทางรถไฟทางคู่ เพราะในอนาคตการรถไฟฯ ก็ต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากดีเซลเป็นไฟฟ้าเช่นกัน รวมถึงได้ผลตอบแทนเป็นค่าใช้รางด้วย

S 3252227

เปรียบกับรถร่วมฯ บขส.

ทั้งนี้ อยากให้มองว่า การเปิดให้เอกชน PPP รับจ้างขนส่งสินค้าในครั้งนี้ ไม่ใช่การแย่งลูกค้าของการรถไฟฯ เพราะการรถไฟฯ ก็มีลูกค้าเดิมของตัวเองและยังสามารถหาลูกค้าเพิ่มได้ เพียงแต่การรถไฟฯ เปิดให้เอกชนเช่า Slot ที่ว่าง เพื่อนำไปรับจ้างขนส่งสินค้าเพิ่มเติมเท่านั้น ส่วนรูปแบบการลงทุนยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะยังต้องตกลงกันว่า ใครควรจะเป็นผู้บริหาร Slot ระบบไฟฟ้า และอื่นๆ ภายในโครงการ

“อยากให้มองภาพเหมือนในต่างประเทศ ถ้าเราพัฒนารถไฟให้มีความปลอดภัย ตรงเวลา และต้นทุนต่ำกว่ารถบรรทุก ก็จะดึงดูดให้คนมาใช้บริการ ส่วนการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมขนส่งสินค้านั้น ก็เหมือนกรณีของ บขส. ที่เป็นบริการรถโดยสารสาธารณะ ซึ่ง บขส. ก็หาลูกค้าได้ในระดับหนึ่ง แต่พอเปิดให้รถร่วมฯ วิ่งให้บริการด้วย ก็ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีบริการที่หลากหลายมากขึ้น” นายพีระพลกล่าว

สำหรับสาเหตุที่เลือกเส้นทาง แหลมฉบัง-หนองคาย ในการเปิด PPP ครั้งนี้ เนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เป็นเส้นทางที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารจำนวนมาก โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าที่สามารถเชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว และประเทศจีนตอนใต้ ขณะเดียวกันเมื่อพัฒนารถไฟทางคู่แล้ว ก็จะทำให้ขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพ ตรงเวลา และยังมีราคาถูกกว่าการขนส่งทางรถบรรทุก

55793600 2646911498658259 5887436294845366272 o

เปิดประมูลปีหน้า

นายพีระพลกล่าวต่อว่า ผลการศึกษาของโครงการนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะสรุปได้ในช่วงกลางปี หลังจากนั้นก็ต้องเสนอเรื่องให้คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฯ เห็นชอบ ก่อนส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) พิจารณาตามลำดับ โดยคาดว่าจะเปิดประมูลได้เร็วที่สุดในต้นปี 2564 และเปิดเดินรถได้ในปี 2569

สำหรับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ของโครงการนี้มากถึง 20% เพราะระบบขนส่งทางรางช่วยลดมลพิษ เวลาในการเดินทาง และอุบัติเหตุบนทางถนนไปได้มาก ด้านผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ตามหลักการแล้วควรอยู่ที่ 12-15% ซึ่งตนก็ขอให้การรถไฟฯ ช่วยพิจารณาตรงนี้เป็นพิเศษ เพื่อดึงดูดให้เอกชนร่วมลงทุน

รวมถึงต้องมีความชัดเจนว่า การรถไฟฯ มี Slot เหลือมากน้อยแค่ไหน และต้องสอดคล้องกับตารางเดินเรือที่ท่าเรือแหลมฉบังด้วย เพื่อให้เอกชนตัดสินใจได้ถูกต้อง ซึ่งการรถไฟฯ ก็จะไปหารือกับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและอาจจะสนใจเข้าร่วมโครงการ เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), กลุ่มซีพี (CP), มิตรผล, กลุ่มบีทีเอส (BTS) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ต่อไป

Avatar photo