Finance

‘กนง.’ ลดดอกเบี้ย ดันระดับ PE ขยับขึ้น หนุนดัชนีรวม ‘หุ้นเช่าซื้อ-ปันผลสูง’

“ทรีนีตี้” ชี้ กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% หนุนระดับ PE เป้าหมายของตลาดหุ้นไทยขยับขึ้นจากเดิม 2.9% ส่งผลดีต่อภาพดัชนีโดยรวม รวมถึงหุ้นกลุ่มเช่าซื้อ และกลุ่มปันผลสูง แนะจับตาท่าทีสหรัฐต่อ

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผย กรณีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ส่งให้ดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 1% ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ว่า ผลของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะส่งผลให้ระดับ PE เป้าหมายของ SET Index ถูกขยับขึ้นจากเดิม 2.9% ตามปรากฏการณ์ PE Expansion

ณัฐชาต เมฆมาสิน

ก่อนหน้านี้ ทรีนีตี้ได้ให้ระดับ PE เป้าหมายในกรณีดีสุดของตลาดไว้ที่ 15.4 เท่า ซึ่งหากอิงบนสมมุติฐานกำไรต่อหุ้น (EPS) ของบริษัทจดทะเบียนปีนี้ที่ 100 บาท จะได้ระดับดัชนีเป้าหมายในช่วง 6 เดือนแรกอยู่ที่ 1,540 จุด

ทั้งนี้ หลังจากที่กนง.ปรับลดดอกเบี้ยวันนี้ ทำให้ระดับ PE เป้าหมายในกรณีดีสุดถูกขยับขึ้นเป็น 15.8 เท่า และจะทำให้ระดับดัชนีเหมาะสมใหม่ในกรณีดังกล่าวปรับขึ้นเป็น 1,580 จุด สำหรับในกรณีฐาน ระดับ PE เป้าหมายจะถูกขยับขึ้นจาก 14.4 เท่าเป็น 14.8 เท่า และได้ระดับดัชนีเหมาะสมใหม่ที่ 1,480 จุด ส่วนในกรณีแย่สุด ระดับ PE เป้าหมายจะถูกขยับขึ้นจาก 13.4 เท่าเป็น 13.8 เท่า และได้ระดับดัชนีเหมาะสมใหม่ที่ 1,380 จุด

สำหรับระดับดัชนีข้างต้นยังไม่รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเข้ามาซื้อขายของหุ้น CRC ในช่วงถัดไป ซึ่งจะทำให้ประมาณการ EPS ของตลาดถูกลดทอนลงอีกเหลือราว 98 บาทต่อหุ้น ดังนั้น หากรวมผลกระทบดังกล่าวเข้าไปด้วย จะทำให้ระดับดัชนีเหมาะสมขยับลดลงเล็กน้อยได้

ดอก

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะส่งผลดีต่อหุ้นในกลุ่มปันผลสูง (Hire purchase) และกลุ่มเช่าซื้อ (Leasing) เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากต้นทุนทางการเงินที่ถูกลง รวมถึงหุ้นในกลุ่มกอลทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund / REIT/ IFF) ที่จะมีความน่าสนใจต่อไป จากส่วนต่างเงินปันผลเมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยที่อยู่ในระดับสูง

“อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลง ยังส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรและค่าเงินบาทมีโอกาสปรับตัวลงอีกเล็กน้อยในระยะสั้น แต่จะไม่มีนัยสำคัญมากเนื่องจากได้สะท้อนในราคาไปแล้วก่อนหน้านี้”นายณัฐชาต กล่าว

ขณะที่ประเด็นที่จะต้องจับตาต่อไปหลังการลดดอกเบี้ยคือ ท่าทีของสหรัฐฯในช่วงถัดไป โดยเฉพาะในเดือนเมษายน ว่าจะมีการพิจารณาว่าไทยเข้าข่ายประเทศที่บิดเบือนค่าเงินหรือไม่ ซึ่งหากมีการบรรจุไทยเข้าไปใน Watchlist จะทำให้สหรัฐฯใช้เป็นข้ออ้างในการใช้มาตรการทางภาษี (Tariff ) ในการกีดกันการค้าต่าง ๆกับไทยได้

Avatar photo