Wellness

4 กุมภาพันธ์ ‘วันมะเร็งโลก’ ตระหนักรู้ อยู่ห่างไกล

“มะเร็ง” เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้คนทั่วโลก และมีแนวโน้มว่า จะมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี สมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (Union for International Cancer Control, UICC) และ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) จึงได้กำหนดให้ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น “วันมะเร็งโลก” (World Cancer Day) เพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของโรคนี้

GettyImages 1085599802

มะเร็ง คืออะไร

มะเร็งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย โดยมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ เกิดเป็นก้อนเนื้อที่มีการลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง หรือกระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ ผ่านทางระบบเลือด หรือระบบทางเดินน้ำเหลือง โรคมะเร็งมีหลากหลายชนิดขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็นจุดกำเนิดของโรค และชนิดของเซลล์มะเร็ง

มะเร็งแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้

  • คาซิโนมา (Carcinoma) มะเร็งที่มีจุดกำเนิดมาจากผิวหนัง หรือ เนื้อเยื่อบุอวัยวะ
  • ซาโคมา (Sarco ma ) มะเร็งที่มีจุดกำเนิดมาจากกระดูก กระดูกอ่อน ไขมัน กล้ามเนื้อ หรือเส้นเลือด
  • ลิวคีเมีย (Leukemia) มะเร็งที่มีจุดกำเนิดมาจากเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูก ทำให้มีความผิดปกติของเม็ดเลือด
  • ลิมโฟมา และ ไมอีโลมา (Lymphoma and myeloma) มะเร็งที่มีจุดกำเนิดมาจากเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกัน
  • มะเร็งระบบสมอง และไขสันหลัง (Central nervous system cancers)

mitosis 3876669 640

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็ง

โดยทั่วไปแพทย์ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า มะเร็งในแต่ละบุคคลเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงสาเหตุเดียว แต่ข้อมูลในปัจจุบันพบว่า มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้โอกาสในการเกิดมะเร็งเพิ่มมากขึ้น

  • อายุ อายุที่เพิ่มขึ้นมีโอกาสเกิดมะเร็งได้มากขึ้น
  • บุหรี่ มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปอด, มะเร็งกล่องเสียง, มะเร็งช่องปากและลำคอ, มะเร็งหลอดอาหาร, มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ, มะเร็งไต, มะเร็งกระเพาะอาหาร, มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งปากมดลูก
  • แสงแดด หรือแสงอัลตร้าไวโอเลต (UV) สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งผิวหนัง
  • รังสีในธรรมชาติ หรือ เอกซเรย์ รังสีนิวเคลียร์ แก๊ซเรดอน หากได้รับปริมาณสูงเกินกำหนด สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งลิวคีเมีย มะเร็งไทรอยด์ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะอาหาร
  • สารเคมี เช่น asbestos, benzene, benzidine, cadmium, nickel หรือ vinyl chloride
  • เชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น เอชพีวี ไวรัส, ไวรัสตับอักเสบบี ซี, ไวรัสเอชไอวี เป็นต้น
  • การได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านม
  • ประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง มะเร็งบางชนิดสัมพันธ์กับความผิดปกติของสารพันธุกรรม ที่เรียกว่า “ยีน” อย่างไรก็ดีมะเร็งที่ถ่ายทอดในครอบครัวพบได้เป็นสัดส่วนน้อย
  • แอลกอฮอล์ สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งทางเดินอาหาร มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งตับ และมะเร็งเต้านม
  • วิถีการดำเนินชีวิตบางอย่าง เช่นการกินอาหารไขมันสูง สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งลำไส้ มะเร็งโพรงมดลูก และมะเร็งต่อมลูกหมาก ความอ้วนหรือออกกำลังกายน้อย สัมพันธ์กับมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งไต และ มะเร็งโพรงมดลูก

อย่างไรก็ตาม การมีปัจจัยเสี่ยงไม่ได้จำเป็นต้องเป็นมะเร็ง ในขณะเดียวกันผู้ไม่มีปัจจัยเสี่ยงก็สามารถเกิดมะเร็งได้เช่นเดียวกัน แต่มะเร็งไม่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บ และไม่ติดต่อกันเหมือนการติดเชื้อโรค

cancer

อาการที่อาจแสดงการเป็นโรคมะเร็ง

  • ตรวจพบการหนาตัว หรือก้อนที่ผิวหนัง เต้านม หรือส่วนใดๆ ของร่างกาย
  • ไฝเกิดขึ้นใหม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของไฝเดิม เช่น ขยายขนาดโตขึ้น คัน แตกเป็นแผล เลือดออก
  • เจ็บปวดที่บริเวณต่างๆ ของร่างกายเรื้อรัง
  • เสียงแหบ หรือไอเรื้อรัง
  • มีความเปลี่ยนแปลงในการขับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะปนเลือด ถ่ายอุจจาระลำเล็กลง อุจจาระลำบาก อุจจาระปนเลือด ปวดหน่วงทวารหนักเวลาขับถ่าย
  • มีความเปลี่ยนแปลงในการรับประทานอาหาร เช่น กลืนติด กลืนลำบาก กลืนเจ็บ อิ่มเร็ว คลื่นไส้อาเจียน
  • การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก เช่น น้ำหนักลดมากโดยไม่มีสาเหตุอันควร
  • มีสารคัดหลั่งออกผิดปกติหรือเลือดออก เช่น ตกขาวผิดปกติ ตกขาวปนเลือด เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติภายหลังการมีเพศสัมพันธ์

กระนั้นก็ตาม อาการดังกล่าวข้างต้นอาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากมะเร็งเสมอไป ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการตรวจและวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยทั่วไปมะเร็งในระยะเริ่มแรกมักไม่แสดงอาการเจ็บปวดอย่างเด่นชัด หากท่านมีอาการข้างต้นจึงไม่ควรเพิกเฉย ควรพบแพทย์แต่เนิ่นๆ

GettyImages 53436758

วิธีการรักษา

ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ และสุขภาพของผู้ป่วยเอง ว่าวิธีใดที่จะเหมาะสมที่สุด และให้ผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยน้อยที่สุด ซึ่งโดยหลักๆ แล้ว มีวิธีการรักษาดังนี้

  • ผ่าตัด
  • ฉายแสง
  • เคมีบำบัด
  • ให้ฮอร์โมน

ทั้งนี้ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่ตลอดเวลา ก็ช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งได้มาก

ที่มา : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์

Avatar photo