General

ยก ‘หลักประกันสุขภาพไทย’ เทียบชั้น ‘ญี่ปุ่น’ ดีที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก

ประธาน China Medical Board ชี้จุดแข็งระบบ “บัตรทอง” คือสามารถสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนได้ ยกนิ้วฝีมือหมอ – พยาบาล ทำให้ระบบมั่นคงมา 17 ปี

ในการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี พ.ศ.2563  ศ.นพ.ลินคอล์น เชน (Lincoln chen) ประธาน China Medical Board ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระหว่างประเทศ และอดีตศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้สัมภาษณ์ว่า จากการเข้าร่วมประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (Prince Mahidol Award Conference 2020) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์นี้  ทำให้เห็นศักยภาพของไทย ในการดึงผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นองค์กรระหว่างประเทศ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รัฐบาล เอ็นจีโอ มาร่วมกันสะท้อนมุมมองที่มีต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และยกระดับเรื่องนี้เป็นประเด็นระดับโลก ซึ่งถือว่าเป็นการใช้  “อำนาจอ่อน” หรือ Soft Power เรียงร้อยองคาพยพทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันวาระนี้ ให้เป็นที่พูดถึงทั่วโลกอย่างน่าสนใจ

470284
ศ.นพ.ลินคอล์น เชน

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทย ประสบความสำเร็จในการผลักดันวาระนี้  ศ.นพ.ลินคอล์น กล่าวว่า หนีไม่พ้นการที่ไทย สามารถเริ่มต้นนโยบาย “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”” หรือ “30 บาทรักษาทุกโรค” ขึ้นได้เมื่อ 17 ปีก่อน ตั้งแต่ยังเป็นประเทศรายได้ปานกลางถึงต่ำ  เป็นตัวอย่างให้ทั่วโลกได้เห็นว่า ประเทศที่กำลังพัฒนา และไม่ได้ร่ำรวยมาก ก็สามารถเริ่มต้นนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแบบเดียวกันนี้ได้ โดยใช้งบประมาณไม่มากนัก

ไทยยังเป็นตัวอย่างให้เห็นอีกว่า สามารถใช้งบประมาณได้อย่างคุ้มค่า มีการเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆ และไทยยังมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ให้เริ่มต้นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของตัวเองขึ้น แบบเดียวกับไทย

“ในระดับโลก เมื่อพูดถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประสบความสำเร็จ คนมักจะพูดถึง 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และไทย โดยไทย แม้จะเริ่มต้นช้ากว่าประเทศอื่น ๆ แต่ก็สามารถสร้างระบบได้อย่างยั่งยืน และจากการเดินทางมาไทยอย่างสม่ำเสมอในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าหลังมีระบบบัตรทอง ระบบสุขภาพของไทย ก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทิ้งห่างประเทศเพื่อนบ้านรอบด้านไปไกล”

ศ.นพ.ลินคอล์น กล่าวอีกว่า จุดแข็งของระบบสุขภาพไทย ได้แก่ การที่ไทยสร้างระบบผลิตแพทย์โดยยึดโยงกับพื้นที่ชนบท  มีการกำหนดไว้ชัดเจนให้นักศึกษาแพทย์ที่เรียนจบต้องไปใช้ทุนในต่างจังหวัด 2-3 ปี ทำให้พวกเขาได้เห็นพื้นที่จริง และเห็นปัญหาของระบบสาธารณสุขจริง เพราะฉะนั้น เมื่อมีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้น เพื่อยกระดับชีวิตคนในพื้นที่ชนบท แพทย์จึงพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้คนในชนบท ได้เข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น

“นอกจากนี้ ระบบการผลิตพยาบาลของไทยเอง ภาครัฐก็ค่อนข้างให้ความสำคัญ โดยไทยมีจำนวนพยาบาลสัดส่วนเยอะเป็นลำดับต้นๆ ของภูมิภาค และสามารถกระจายพยาบาลได้ดีกว่าประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีน ขณะเดียวกัน สังคมไทยก็ค่อนข้างให้เกียรติ และให้เครดิตพยาบาลมากกว่าประเทศอื่นๆ อาจเป็นเพราะสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระอัยยิกาของพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบันเอง เคยเป็นพยาบาลมาก่อน”

อย่างไรก็ดี ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในไทย ยังคงมีความท้าทายสำคัญหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผู้สูงอายุ ปัญหาจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง มากขึ้นเรื่อย ๆ  โดยส่วนตัว เห็นว่าไทย จะต้องเตรียมรับมือโดยการฝึกบุคลากรทางการแพทย์ให้พร้อมต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้ให้มากขึ้น และลงทุนกับระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยยึดชุมชนเป็นฐานในการจัดการปัญหา ซึ่งจากระบบสุขภาพที่แข็งแรง เชื่อว่าไทยจะสามารถผ่านไปได้ด้วยดี

ประธาน China Medical Board กล่าวอีกว่า เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals ที่ให้ทุกประเทศสมาชิกสหประชาชาติบรรลุเป้าหมาย มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายในปี 2573 ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ มีทิศทาง มีนโยบายไปอีกอย่าง คือมุ่งเน้นการเติบโตของภาคเอกชน แทนที่จะสร้างระบบสวัสดิการแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้คนเข้าถึงระบบบริการได้ดีขึ้น

กระนั้นก็ตาม ถือเป็นโอกาสดี ที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) หยิบยกประเด็นนี้มากำหนดเป็นเป้าหมาย เพราะทำให้ทุกองคาพยพ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศอย่าง ธนาคารโลก องค์การอนามัยโลก กำหนดทิศทางวาระระดับโลกมุ่งไปสู่การดูแลสุขภาพของประชากรทุกคนบนโลกนี้อย่างเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงบริการ ให้ได้มากที่สุด

Avatar photo