Economics

เตรียมรับมือภาคเกษตรเสี่ยงขาดน้ำรุนแรง

รศ.ดร.ทวนทัน กิจไพศาลสกุล

ฝนตกถล่มทลายในหลายพื้นที่อย่างนี้ ใครจะเชื่อว่าไทยจะเป็นประเทศที่ขาดแคลนน้ำจริง ถึงหน้าแล้งทีกระแสประหยัดน้ำก็โหมกระพือขึ้นมาที นอกเวลานั้นเราก็ใช้น้ำสุรุ่ยสุร่ายเหมือนเดิม หน่วยงานที่อยู่กับข้อมูลน้ำของประเทศต่างรู้ถึงสถานการณ์น้ำของประเทศว่า เราไม่ได้มีน้ำใช้ชั่วนาตาปี เพราะสภาพโลกเปลี่ยนไปมาก อย่างที่เห็นเกิดภัยพิบัติในประเทศไทยเอง และประเทศต่างๆที่ประสบภัยกันถ้วนหน้า คงพอจะนึกออกว่า วันหนึ่งน้ำหนึ่งหยดอาจมีค่ามากกว่าทอง และวันหนึ่งหนีไม่พ้นต้องมีมาตรการปันน้ำ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หน่วยงานวิจัยที่กำข้อมูลน้ำของประเทศ มีผลการศึกษามากมายที่บ่งชี้ว่า ไทยต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในอีกไม่นาน ล่าสุดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ออกผลการศึกษาที่ออกมาตอกย้ำว่า  “ไทยสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ” ในหลายพื้นที่ สาเหตุจากความต้องการน้ำที่เพิ่มมากขึ้น และความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกันยังพบว่า คุณภาพน้ำมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง จากการระบายน้ำเสียชุมชน โดยเฉพาะกรุงเทพฯที่พบน้ำเสียมากที่สุด

ALL SpearkerChula 021ภาคเกษตรใช้น้ำมากสุด 70%

ดร.ทวนทัน กิจไพศาลสกุล  อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาวิจัยสถานการณ์น้ำของประเทศไทยระหว่าง ปี 2549 – 2558 ตามโครงการรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำของประเทศไทย : ทรัพยากรน้ำกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ภายใต้ทุนวิจัยสกว. ระบุว่าจากข้อมูลปริมาณการใช้น้ำในช่วง 10 ปี พบว่า

ภาคเกษตร :  ใช้น้ำมากที่สุดคิดเป็น 70 % ของปริมาณการใช้น้ำทั้งหมด พื้นที่เกษตรที่อยู่ในเขตชลประทานมีประมาณ 29 ล้านไร่  ขณะที่พื้นที่เกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทานมีมากกว่า 4 เท่า หรือประมาณ 120 ล้านไร่

ภาคบริการ :  ใช้น้ำน้อยแต่สร้างรายได้และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เช่น การท่องเที่ยว

ภาคการใช้น้ำในระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม : ใช้น้ำ 17-18 % มากกว่าปริมาณการใช้น้ำในภาคครัวเรือนหรือเพื่อการอุปโภคบริโภค

จะเห็นได้ว่าการใช้น้ำภาคเกษตรมีแนวโน้มมากขึ้น โดยลุ่มน้ำที่มีปริมาณการใช้น้ำต่อปีในภาคเกษตรโดยค่าเฉลี่ยมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่

  • ลุ่มน้ำมูล 18,800 ล้านลบ.ม.
  • ลุ่มน้ำชี 13,300 ล้านลบ.ม.
  • ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 10,200 ล้านลบ.ม.

6จังหวัดพื้นที่เกษตรขาดน้ำรุนแรง

พื้นที่ที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำรุนแรง  ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกอ้อยและทำนาที่ใช้น้ำมาก  สาเหตุส่วนใหญ่มาจากมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าปีละ 1,000 มิลลิเมตร และขาดแคลนแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่  เช่น ในลุ่มน้ำยม บางพื้นที่สภาพดินไม่อุ้มน้ำ ทำให้มีการระบายน้ำออกมามาก การเก็บกักน้ำไม่ดี เกิดปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก  และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะใน 6 จังหวัด ได้แก่ แพร่ สุโขทัย นครราชสีมา บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ เป็นต้น

พื้นที่ที่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปัญหาจะเบาบางลง เช่น  ลุ่มน้ำปิง  น่าน  และเจ้าพระยาในภาคกลาง  รวมถึงพื้นที่ที่มีปริมาณฝนมากก็จะประสบปัญหาภัยแล้งน้อยเช่นกัน  เช่นในภาคใต้ฝั่งตะวันตก

“มาตาการแก้ไขต้องพัฒนาแหล่งน้ำ  เช่นระบบแก้มลิง เพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝนและใช้น้ำในฤดูแล้ง  ช่วยบรรเทาสภาพปัญหาน้ำในพื้นที่  ซึ่งปัจจุบันแนวทางดังกล่าวได้ถูกกำหนดลงในแผนบริหารจัดการน้ำของชาติแล้ว” ดร.ทวนทัน ระบุ

คุณภาพน้ำกรุงเทพเสื่อมโทรมหนัก

ด้านคุณภาพน้ำการศึกษาพบว่า ภาพรวมของประเทศไทยมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลงอย่างเห็นได้ชัด  มาจาก 2 สาเหตุใหญ่ คือ

1.การระบายน้ำเสียจากชุมชน

2.การชะหน้าดินที่มีปุ๋ยประเภทสารเคมีตกค้างจากการเกษตรและปศุสัตว์  

สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาน้ำเน่าเสียที่ผ่านมา เกิดจาก

  • ชุมชน
  • การพัฒนา
  • การเพิ่มขึ้นของประชากร

โดยเฉพาะชุมชนที่ตั้งอยู่ริมน้ำ ส่วนใหญ่จะระบายน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำโดยตรง ขณะที่ระบบบำบัดน้ำเสียรวมไม่เพียงพอรองรับต่อการขยายตัวของชุมชน ซึ่งผลการศึกษาสภาพของแหล่งน้ำ พบว่า แหล่งน้ำทั่วประเทศมีคุณภาพน้ำอยู่ในสัดส่วน ดังนี้

  • เกณฑ์ดี 29%
  • พอใช้ 49 %
  • เสื่อมโทรม 22%

ALL SpearkerChula 022

คุณภาพน้ำจังหวัดตรังดีที่สุด

แหล่งน้ำภาคใต้มีคุณภาพน้ำดีกว่าภาคอื่นๆ และ “ตรัง” เป็นจังหวัดที่มีคุณภาพน้ำดีที่สุด  ส่วนภาคกลางมีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมากกว่าภาคอื่น โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีน้ำเสียมากที่สุด

เมื่อผลการวิเคราะห์ประเมินออกมามากมาย รวมถึงงานศึกษานี้ว่า ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วม  เพราะไม่มีอ่างเก็บน้ำ ดร.ทวนทัน จึงระบุว่า ต้องมีมาตรการอื่นในการพัฒนาแหล่งน้ำ  เช่น ระบบแก้มลิงเพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝนและใช้น้ำในฤดูแล้ง  ช่วยบรรเทาสภาพปัญหาน้ำในพื้นที่  ซึ่งปัจจุบันแนวทางดังกล่าวได้ถูกกำหนดลงในแผนบริหารจัดการน้ำของชาติแล้ว

 “ หากเราสามารถประเมินความเสี่ยงวิกฤติน้ำได้ก่อนล่วงหน้า จะช่วยลดความเสียหายลงได้มาก ดังนั้น การศึกษาสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำที่ถูกต้องเหมาะสม  ถือเป็นงานวิจัยที่มีความสำคัญ เพราะสถานการณ์น้ำมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง อดีต ปัจจุบัน และอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะแตกต่างกันมาก  จึงต้องมีการศึกษาติดตามข้อมูลและสถานการณ์น้ำอย่างน้อยทุก 3 – 5 ปี  เพื่อให้ทันกับสถานการณ์และนำมาพัฒนาปรับปรุงและกำหนดมาตรการที่เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการน้ำต่อไป” ดร.ทวนทัน ระบุ

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า  สถานการณ์น้ำของประเทศไทยมีความผันผวนเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง  แต่ละพื้นที่มีระดับความเสี่ยงภัยที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ระดับน้อย ปานกลาง และมาก  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยภาครัฐและผู้บริหารชุมชนต่างๆ ต้องประเมินสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และใช้ข้อข้อมูลต่างๆรวมถึงผลการศึกษานี้ เพื่อกำหนดแนวทางการจัดการน้ำ และหามาตรการที่เหมาะสม นำมาใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป

Avatar photo