Business

10 เรื่องชวนติดตามกับ ‘ผลงานหุ้นธนาคาร’

ประกาศออกมาครบถ้วนกันแล้วสำหรับผลประกอบการปี 2562 ของกลุ่มธนาคารไทย โดยภาพรวมของ 10 ธนาคารพาณิชย์ไทย ในตลาดหลักทรัพย์ ถือว่ามีกำไรเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2561 

แน่นอนว่าหุ้นธนาคารถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อดัชนีพอสมควร เพราะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ และเกี่ยวเนื่องกับทุกๆ อุตสาหกรรม วันนี้เลยจะมาสรุป 10 ข้อน่าสังเกต ประเด็นน่าสนใจของผลประกอบการกลุ่มแบงก์ รวมถึงแนวโน้มปี 2563 กัน

P06 cover 01

1. กำไรสุทธิโตต่ำ

ภาพรวม กำไรสุทธิของ 10 แบงก์ในปี 2562 อยู่ที่ 202,211‬ ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 3% จากปีก่อน อย่างไรก็ดี ถือเป็นการเติบโตที่ต่ำลง เป็นผลมาจากผลงานงวดไตรมาส 4/62 ออกมาแย่กว่าที่หลายฝ่ายคาด

2. SCB แชมป์กำไรสูงสุด

P06 02 01

SCB ยังสามารถรักษาเบอร์หนึ่งแบงก์กำไรสูงสุดได้อีกปี โดย 5 แบงก์ที่กำไรปี 2562 สูงสุด ได้แก่

      1.  SCB – ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กำไรสุทธิ 40,436 ล้านบาท

      2. KBANK – ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กำไรสุทธิ 38,727 ล้านบาท

      3. BBL – ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กำไรสุทธิ 35,816 ล้านบาท

      4. BAY – ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กำไรสุทธิ 32,749 ล้านบาท

      5. KTB – ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กำไรสุทธิ 29,284 ล้านบาท

3. TMB – KKP กำไรร่วง

P06 03 01

สองแบงก์ที่กำไรสุทธิลดลง ได้แก่ TMBธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และ KKP – ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)

สำหรับ TMB (รวมผลประกอบการธนชาตในเดือนธันวาคมเข้าไปแล้ว) กำไรสุทธิเหลือ 7,222 ล้านบาท ลดลง 37.75% จาก 11,610 ล้านบาท ส่วน KKP กำไรสุทธิ 5,988 ล้านบาท ลดลง 0.89% จาก 6,042 ล้านบาท

4. CIMBT โต 216 เท่า

มองมาที่ CIMBT ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) คือ แบงก์ที่กำไรเติบโตสูงสุดถึง 21,661% หรือ 216 เท่า โดยทำกำไรสุทธิ 1,502 ล้านบาท จาก 6.90 ล้านบาท เนื่องจากการลดลงของการสำรองหนี้สงสัยจะสูญ และรายได้จากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น

5. KBANK ขนาดสินทรัพย์ยืนหนึ่ง

P06 05 01

3.29 ล้านล้านบาท คือ ขนาดสินทรัพย์ทั้งหมดของ KBANK โดย เยอะที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง โค่นแชมป์เก่าอย่าง SCB ลงได้สำเร็จ หลัง SCB มีขนาดสินทรัพย์ลดลง 7% เหลือ 2.93 ล้านล้านบาท

6. TMB ควบ TBNAK ขนาดสินทรัพย์เกิน 1 ล้านล้าน

ประเด็นการควบรวมของ TMB กับ TBANK ส่งผลให้มี ขนาดสินทรัพย์เพิ่มเป็น 1.86 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังทำให้ธนาคารขนาดกลางหายไป (สินทรัพย์มากกว่า 5 แสนล้านบาท แต่ไม่ถึง 1 ล้านล้านบาท) เหลือเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ (สินทรัพย์เกิน 1 ล้านล้านบาท) และธนาคารขนาดเล็ก (สินทรัพย์ไม่ถึง 5 แสนล้านบาท)

P06 06 01

7. กังวล NPL พุ่งสูงปรี๊ด

ขณะที่ภาพรวมของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ประมาณ 3.56 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 13.39% เมื่อเทียบกับ ปี 2561 ที่อยู่ระดับ 3.14 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมากกับภาวะเศรษฐกิจในตอนนี้

8. หลังประกาศงบมูลค่าหุ้นแบงก์วูบ 8 หมื่นล้าน

P06 08 01

ถ้าสังเกตกันจะเห็นชัดว่าหลังประกาศงบหุ้นแบงก์ในวันที่ 17 มกราคม 2562 ในวันนั้น SET INDEX มูลค่า (Market CAP) ลดลง 120,950 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของหุ้นแบงก์ 87,180 ล้านบาท จากความกังวลของตลาดที่มองว่างบออกมาโดต่ำกว่าที่คาด

สำหรับหุ้นตัวหลักๆ ที่กดดันดัชนีในวันนั้น ได้แก่ SCB ปรับลดลง 12.82%, KBANK ปรับลดลง 4.59 % และ BBL ปรับลดลง 2.60 %

9. BAY – BBL ราคาอัพไซด์สูง

หากมองมาที่หุ้นที่ราคายังคงมีอัพไซด์สูงอยู่จากการรวบรวมของ IAA Consensus ปัจจุบันมีสองตัว ได้แก่ BAY ราคาอัพไซด์ 30.50% และ BBL ราคาอัพไซด์ 32.88%

10. ปี 2563 คงเป็นอีกปีที่ยากลำบาก 

เศรษฐกิจชะลอมากกว่าคาด การถดถอยของคุณภาพสินเชื่อ รวมถึงกฎเกณฑ์ใหม่จากภาครัฐ และสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า น่าจะทำให้ภาพรวมปี 2563 ยังเป็นปีที่เหนื่อยสำหรับธนาคารไทย

Avatar photo