Wellness

‘แท้ง’นั้นสำคัญไฉน

miscarriage
ภาพจากเอเอฟพี

จากกรณีที่โลกโซเชียลในช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา โดยเฉพาะบนทวิตเตอร์นั้นร้อนเป็นไฟ เนื่องจากมารดาของเน็ตไอดอลอย่าง “มิ้ง ศวภัทร” ได้ออกมายอมรับอย่างเป็นทางการแล้วว่าลูกสาวตนเองนั้นแท้งลูกไปแล้วเรียบร้อย แต่กระแสบนโลกโซเชียลกลับไม่ยอมจบ โดยมีการใช้แฮชแท็ก “มิ้งโป๊ะแตก” อย่างต่อเนื่องจนติดอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์เทรนด์ตั้งแต่เมื่อคืนจนถึงเดี๋ยวนี้

โดยสิ่งที่ชาวเน็ตต่างตั้งข้อสงสัยตลอดมาคือ การตั้งครรภ์ของเน็ตไอดอลคนดังที่ไม่มีเอกสารที่น่าเชื่อถือจากทางโรงพยาบาลทั้งตอนตั้งครรภ์และตอนแท้งออกมาแสดงให้ประจักษ์ อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดความชัดเจน ทางผู้สื่อข่าวได้ติดต่อสอบถามกับทางโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง (ขอสงวนชื่อ) เพื่อสอบถามถึงขั้นตอน และกระบวนการตรวจพิสูจน์ รวมถึงการออกหลักฐานว่ามีการแท้งบุตรจริงว่า โดยทั่วไปแล้ว โรงพยาบาลที่มีมาตรฐานนั้นมีกระบวนการอย่างไร ซึ่งทางเจ้าหน้าที่พยาบาลฝ่ายสูตินารีได้บอกเล่าถึงขั้นตอนในการตรวจสอบว่า ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ แต่จะมีการตรวจหลายอย่างเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่ามีเลือดออกแล้วจะแท้งได้เลย ทั้งการตรวจชิ้นเนื้อที่หลุดออกมาจากช่องคลอดว่าเป็นทารกจริงไหม หรือเป็นชิ้นเนื้อจากผนังมดลูกของมารดา

นอกจากนี้ หากเกิดการแท้งจริง จะมีการขูดมดลูก และต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลระยะหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ทางเจ้าหน้าที่ระบุว่าขึ้นอยู่กับคุณหมอเจ้าของไข้เป็นผู้วินิจฉัย

ขณะที่สื่อบนโลกออนไลน์อย่างเว็บไซต์พบแพทย์นั้น มีการให้ข้อมูลถึงสัญญาณของการแท้งบุตรที่พบได้บ่อย ก็คือมีเลือดออกทางช่องคลอด โดยอาจไหลออกมาเพียงเล็กน้อยเป็นหยด ๆ สีน้ำตาลหรือสีแดงสด ซึ่งอาการเลือดออกนี้อาจเป็น ๆ หาย ๆ อยู่หลายวัน อย่างไรก็ตาม การมีเลือดไหลทางช่องคลอดยังเป็นอาการที่พบได้ทั่วไประหว่างการตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก การมีเลือดออกจึงไม่ได้หมายความว่ามีการแท้งเกิดขึ้นเสมอไป ทั้งนี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการที่อาจแสดงถึงการแท้งต่อไปนี้เกิดขึ้น

  • มีเลือดออกจากช่องคลอด โดยจากที่ออกแต่น้อยจะค่อย ๆ รุนแรงมากขึ้น
  • มีเนื้อเยื่อถูกขับออกมาทางช่องคลอด
  • มีเมือกขาวอมชมพูออกจากช่องคลอด
  • เกิดตะคริวอย่างรุนแรง
  • ปวดเกร็งช่องท้องส่วนล่าง
  • ปวดหลัง
  • อ่อนล้า ไม่มีแรง
  • มีไข้
  • ไม่มีอาการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือเต้านมฟกช้ำอีกต่อไป

ทั้งนี้ การแท้งในช่วงไตรมาสแรก มักมาจากหลายสาเหตุ เช่น โครโมโซมทารกผิดปกติ อาจมีมากเกินปกติหรือมีจำนวนไม่เพียงพอ ส่งผลให้ทารกไม่สามารถพัฒนาได้อย่างปกติและมีการแท้งเกิดขึ้นได้ในที่สุด ซึ่งการแท้งจากโครโมโซมที่ผิดปกติในช่วงแรกของการตั้งครรภ์นี้มีอัตราถึง 2 ใน 3 แต่ก็มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเกิดการแท้งจากสาเหตุนี้ขึ้นอีกครั้ง ส่วนสาเหตุความผิดปกติของโครโมโซมที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด และส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากปัญหาในโครโมโซมของบิดาหรือมารดาแต่อย่างใด

หรือปัญหาจากรก เนื่องจากรกมีหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างมารดากับทารกเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงทารกในครรภ์ ดังนั้นปัญหาที่ส่งผลต่อการพัฒนาของรกจึงสามารถนำไปสู่การแท้งบุตรได้เช่นกัน

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจากมารดาก็มี ได้แก่

  • โรคอ้วน
  • การสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์
  • การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินควร
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อวัน โดยในชา 1 แก้วจะมีคาเฟอีนประมาณ 75 มิลลิกรัม ส่วนในกาแฟสำเร็จรูปมีคาเฟอีน 100 มิลลิกรัมต่อแก้ว นอกจากนี้คาเฟอีนยังพบได้ในในเครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มที่มีรสซ่า รวมถึงช็อกโกแล็ตแท่งได้เช่นกัน
  • การใช้สารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์
  • อายุที่มากเกินขณะตั้งครรภ์ ทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ที่ทารกมีโครโมโซมผิดปกติ โดยหญิงตั้งครรภ์อายุ 40 ปี มีความเสี่ยงกว่าหญิงอายุ 20 ปีเป็น 2 เท่า และความเสี่ยงนี้ยิ่งจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป
  • มีประวัติการแท้งบุตรมาก่อน หญิงที่เคยแท้งตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปจะยิ่งมีโอกาสเสี่ยงแท้งบุตรอีกครั้ง

สำหรับเอกสารที่ทางโรงพยาบาลสามารถออกให้ได้นั้น จะเป็นใบรับรองแพทย์ที่ระบุอาการตามที่เกิดขึ้นจริง และการรักษาที่คนไข้ได้รับ

 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight