Properties

ส่อง ‘พื้นที่อุตสาหกรรม’ ปี 63 รับอานิสงส์ ‘นโยบายรัฐ-อีอีซี’ หนุน

เน็กซัส คาดภาพรวมตลาดพื้นที่อุตสาหกรรม ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง ผลจากการผลักดันของภาครัฐ อีกทั้งโครงการอีอีซีที่เริ่มมีความชัดเจน ส่งผลให้เกิดการซื้อขายที่ดินในเขตอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง อย่างดีลใหญ่จากอาลีบาบามูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท ที่ช่วยปลุกตลาดคึก

นายธีระวิทย์ ลิ้มทองสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส เรียลเอสเตท แอ็ดไวเซอรี่ จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดพื้นที่อุตสาหกรรมชั้นนำซึ่ง ได้แก่ พื้นที่บริเวณตอนเหนือกรุงเทพฯ ตะวันออกกรุงเทพฯ และบริเวณอีสเทิร์นซีบอร์ดในปัจจุบันว่า ที่ดินนิคมอุตสาหกรรมมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง

ตลาดพื้นที่อุตสาหกรรม

ปัจจุบันมีที่ดินพร้อมขายสะสมในนิคมอุตสาหกรรมชั้นนำทั้งหมดมีประมาณ 168,000 ไร่ ขายไปแล้วกว่า 87% โดยมีราคาขายเฉลี่ยประมาณ 5.7 ล้านบาทต่อไร่ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 9% และยังพบว่าจังหวัดชลบุรีมีราคาซื้อขายที่ดินในนิคมอุตสหกรรมสูงที่สุดอยู่ที่ประมาณ 11 ล้านบาทต่อไร่

ในส่วนของตลาดโรงงานสำเร็จรูปให้เช่า โดยพื้นที่ในการสำรวจได้แก่ พื้นที่บริเวณตอนเหนือกรุงเทพฯ ตะวันออกกรุงเทพฯ และบริเวณอีสเทิร์นซีบอร์ด ดังกล่าว พบว่าพื้นที่โรงงานสำเร็จรูปให้เช่ามีทั้งสิ้นประมาณ 2.5 ล้านตารางเมตร โดยมีอัตราเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 77%

ขณะที่ราคาค่าเช่าของพื้นที่โรงงานสำเร็จรูปมีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยราคาค่าเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 205 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน อย่างไรก็ตาม คาดว่าจำนวนพื้นที่ให้เช่าจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยตามทิศทางตลาดและทิศทางในการดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานที่เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น รวมถึงราคาค่าเช่าที่คาดว่าจะปรับตัวขึ้นเช่นกัน

นิคม

ส่วนตลาดคลังสินค้าสำเร็จรูปในนิคมอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่ส่งผลให้ธุรกิจคลังสินค้าให้เช่าเติบโตขึ้นอย่างมาก เนื่องจากมีความต้องการใช้พื้นที่คลังสินค้าเพื่อการเก็บ คัดแยก และส่งต่อสินค้าต่างๆ ไปยังผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

ในปัจจุบัน จำนวนพื้นที่โรงงานสำเร็จรูปให้เช่า มีทั้งสิ้นประมาณ 4 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้นประมาณ 2% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน อีกทั้งยังมีอัตราการเช่าที่ประมาณ 90% และค่าเช่าเฉลี่ยประมาณ 160 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน

ทั้งนี้ พบว่าเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติยังคงมีเข้ามาเรื่อยๆ แต่เนื่องจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในปี 2562 และผลจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติในปีที่ผ่านมายังมีไม่มากนัก อีกทั้งยังส่งผลให้บางธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออก เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เห็นได้ว่า บางบริษัทได้ตัดสินใจลดกำลังผลิตในไทยลง เนื่องจากต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เช่น มาสด้า ที่ย้ายฐานการผลิตรถบางรุ่นกลับไปที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

อมตะซิตี้

อย่างไรก็ตาม ประเทศญี่ปุ่นยังคงเป็นชาติที่มีจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมในเขตอีอีซีมากที่สุดคือ 167 โครงการ คิดเป็นสัดส่วน 24% ของโครงการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด และมีมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 59,187 ล้านบาท คิดเป็น 29% ของมูลค่าเงินลงทุนรวมจากต่างประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งหมด

ดังนั้น ภาพรวมปี 2563 คาดการณ์ว่า ตลาดพื้นที่อุตสาหกรรมยังคงมีแนวโน้มเป็นบวก จากการผลักดันโครงการอีอีซีของภาครัฐ รวมถึงความคืบหน้าจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่เริ่มเห็นรูปร่างอย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังต้องจับตามองภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด รวมถึงค่าเงินบาทที่คาดว่าจะยังคงแข็งค่าต่อไป

Avatar photo