COLUMNISTS

เสนอปรับบทบาท ตม. จากจับ ‘อาชญากรข้ามชาติ’ เป็น ‘นักเฝ้าระวังโรคข้ามชาติ’

Avatar photo
2212

เฟซบุ๊กเพจ “ดร. พิมพ์รพี พันธ์ุวิชาติกุล – Pimrapee Phanwichatikul, Ph.D” เผยแพร่บทความแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่  ที่เกี่ยวเนื่องกับสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) โดยระบุว่า

การเตรียมพร้อมรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ถือว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำได้ดีมาก แต่มีประเด็นที่อยากเสนอแนะ ซึ่งจะทำให้การรับมือกับโรคระบาดข้ามชาติ ไม่ใช่เฉพาะกรณีไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เท่านั้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น

169543

ด้วยการปรับบทบาทของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ที่ในปัจจุบันจะมุ่งเน้นในเรื่องของ “อาชญากรข้ามชาติ” มาเป็นการเฝ้าระวัง “โรคข้ามชาติ” ในเชิงรุก แทนที่จะเน้นในเรื่องการตรวจบุคคลที่เดินทางจากประเทศต้นทางของการแพร่ระบาด ณ บริเวณด่าน ตม.เพียงอย่างเดียว มาเป็นการใช้ข้อมูลที่ตม.มี ให้เป็นประโยชน์ ในการติดตามเฝ้าระวังต่อเนื่อง ขณะที่คนเหล่านี้อาศัยอยู่ในประเทศไทย

การคัดกรองบริเวณด่านตรวจ ไม่สามารถทำได้ 100% เนื่องจากอาจมีการกินยาแก้ไข้กดอาการ ทำให้ไม่พบปัญหา จึงควรมีการใช้ข้อมูลของ ตม. ให้เกิดประโยชน์ในการเฝ้าระวังต่อเนื่อง เพราะ ตม. ถือเป็นคลังข้อมูลเกี่ยวกับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย  ทุกสถานประกอบการด้านที่พักอาศัย จะต้องรายงานต่อที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดในเขตพื้นที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ตามแบบตม. 30 ทันทีที่มีชาวต่างชาติเข้าพักอาศัย

“ในกรณีไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่  ทราบต้นทางชัดเจนว่ามาจากเมืองอู่ฮั่น ซึ่งตม.มีข้อมูลตั้งแต่ต้นทางว่า มีใครเดินทางมาจากอู่ฮั่นบ้าง ก็ควรแยกรายชื่อไว้เป็นการเฉพาะ เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ เมื่อโรงแรมหรือสถานประกอบการส่งรายชื่อชาวต่างชาติไปให้ ตม. สามารถจับคู่ได้ทันทีว่าคนที่ผ่านด่านตม.ไปแล้วกระจายไปพักอาศัยอยู่ที่ไหน เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็แจ้งกลับไปยังโรงแรมต้นทางให้เฝ้าระวังสังเกตอาการรวมถึงแจ้งไปยังสาธารณสุขในพื้นที่ให้รับทราบ ข้อมูลเหล่านี้ จะได้จัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำแบบนี้ได้ต้องปรับบทบาทมาเป็นนักเฝ้าระวังโรคข้ามชาติในเชิงรุกแทนที่จะ ตั้งด่านสกัดเพียงอย่างเดียวซึ่งไม่เพียงพอ”

ในขณะนี้ประเทศจีนได้ปิดเมืองอู่ฮั่นแล้ว ทางการไทยต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่ายังมีชาวจีนจากอู่ฮั่นตกค้างในไทยจำนวนเท่าใด ในจำนวนเหล่านั้นมีใครต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสนี้หรือไม่ และจะมีการดูแลคนเหล่านี้ระหว่างที่พวกเขายังกลับบ้านเกิดไม่ได้อย่างไร ก็เป็นอีกภารกิจสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้ด้วยเช่นเดียวกัน