Business

‘เมียนมา’ ปรับกฎหมายต่างชาติถือหุ้นดึงลงทุน

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ร่วมกับสมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมา (Thai Business Association of Myanmar – TBAM) จัดงานสัมมนาด้านเศรษฐกิจ เมียนมา อินไซต์ 2018” (Myanmar Insight 2018)  โดยเป็นหนึ่งในกิจกรรมฉลองครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เมียนมา ในปี 2561

bc24e2f42dc09700496744bf9092f034

สำหรับงานสัมมนา “เมียนมา อินไซต์ 2018” จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ปีนี้เน้นเรื่องภาพรวมของโอกาสลงทุนในเมียนมา

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่าปี 2560 การค้าขายไทยและเมียนมามีมูลค่าประมาณ 6.7 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีมูลค่า 6.5หมื่นล้านดอลลาร์

ขณะที่ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) มูลค่าการค้าขายไทยและเมียนมาเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.5 หมื่นล้านบาท เป็นการเติบโตต่อเนื่องจากการพัฒนาการค้าร่วมกันทุกด้านของทั้ง 2 ประเทศ ปัจจุบันเปิดการค้าชายแดน 4 ด่าน และเตรียมพิจารณาเปิดเพิ่มอีก 2 ด่าน

ทั้งนี้ ไทยเข้าไปลงทุนในเมียนมาสูงสุดเป็นอันดับ 3 รองจาก จีนและสิงคโปร์ หลังจากนี้ยังมองโอกาสการพัฒนาการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน เช่น โครงข่ายเคเบิลใต้น้ำ โครงข่ายไฟเบอร์ออฟติก การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล, การพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการทดลองโครงข่าย 5G ในช่วง 2-3 ปีนี้

นายพิเชฐ กล่าวว่าปัจจุบันไทยกำลังดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งสามารถแบ่งปันประสบการณ์ในการขับเคลื่อนนโยบายด้านดิจิทัลร่วมกับรัฐบาลเมียนมา นอกจากนี้ไทยกำลังพัฒนา “สมาร์ท ซิตี้” พื้นที่ อีอีซี ,ภูเก็ต ,เชียงใหม่ และขอนแก่น  ซึ่งรัฐบาลเมียนมากำลังขับเคลื่อนนโยบาย “สมาร์ท ซิตี้” ในเมืองย่างกุ้ง เนปิดอว์ มัณฑะเลย์  จึงมีโอกาสที่เอกชนไทยจะเข้าไปลงทุนด้านเทคโนโลยีในสมาร์ทซิตี้ของเมียนมา

mmmmm

ปรับกม.ต่างชาติถือหุ้นดึงนักลงทุน

นายตอง ตุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงรัฐบาลกลางของเมียนมา กล่าวว่าปัจจุบันทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ซึ่งอาเซียนถือเป็นภูมิภาคที่ยังมีโอกาสเติบโตสูง ทั้งการเงินทุน, เทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากร

“เวลานี้เป็นเวลาที่ดีที่สุดของการเติบโตในโลกฝั่งตะวันออก ที่กำลังเปลี่ยนขั้วการเติบโตจากฝั่งตะวันตก และอาเซียนเป็นภูมิภาคที่โอกาสขยายตัว โดยทั้งเมียนมาและไทยยังอยู่ในกลุ่มที่เติบโตได้เร็ว”

จุดแข็งของตลาดอาเซียนมีประชากรกว่า 600 ล้านคน  คิดเป็นสัดส่วน 20% ของจีดีพีโลก ปัจจุบันเมียนมามีประชากร 56 ล้านคน อยู่ในวัยทำงาน 33 ล้านคน  เป็นตลาดเสรีที่เปิดรับการลงทุนทุกด้านและมีแรงงานพร้อมทำงาน

ที่ผ่านมาเมียนมาได้ปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองเปิดตลาดเสรีรับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยได้ปรับกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น โดยในวันที่ 1 ส.ค.2561 จะประกาศใช้กฎหมายใหม่ ให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นไม่เกิน 35%  ในการเป็นเจ้าของบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งในเมียนมา ที่จะได้สิทธิเป็นเจ้าของทรัพย์สินถาวรที่ลงทุนในเมียนมา เชื่อว่าจะมีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในเมียนมามากขึ้น

นับตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบันเศรษฐกิเมียนมาขยายตัวอย่างโดดเด่น ปี 2560 จีดีพีเติบโต 6.4% ปี 2561 คาดการณ์ที่ 7%  เช่นเดียวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศ ปัจจุบันคนเมียนมาใช้มือถือ 90% และเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 50% ของประชากร  ทำให้ตลาดด้านออนไลน์มีโอกาสขยายตัวได้ในอนาคต  โดยมีแผนพัฒนาโครงการสมาร์ทซิตี้ ที่เมืองย่างกุ้ง เพื่อขับเคลื่อนเศษฐกิจในยุคดิจิทัลเติบโตเช่นกัน

1

“เอ็มไอซี”หนุนลงทุนเว้นภาษี

 นายอ่อง นาย อู เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของเมียนมา (MIC) กล่าวว่าปัจจุบันเอ็มไอซีมีกฎหมายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ต่างๆ  แบ่งเป็น 3 โซนหลัก คือ โซน1 พื้นที่ยังไม่พัฒนา 156 เมือง ได้รับการยกเว้นภาษี 7 ปี ,โซน2 พื้นที่พัฒนาระดับกลาง ยกเว้นภาษี 5 ปี  และโซน 3 พื้นที่เมืองพัฒนาแล้ว ยกเว้นภาษี 3 ปี

นอกจากนี้เอกชน สามารถเช่าที่ดินได้ระยะยาว 50 ปี และต่ออีกครั้งละ 10 ปี 2 ครั้งรวมเป็น 70 ปี เชื่อว่ามาตรการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวจะจูงใจนักลงทุนต่างชาติ

นายปิยะ สุขุมภาณุเมศร์ ผู้จัดการใหญ่ โครงการเมียนมา  บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP  กล่าวว่า ปตท.สผ.เข้ามาลงทุนในเมียนมาตั้งแต่ปี 2532 หรือ 29 ปี โดยเป็นผู้สำรวจแหล่งพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพื่อใช้ในเมียนมาและส่งออกมาไทย ซึ่งถือเป็นธุรกิจต้นน้ำ โดยกลุ่มปตท.มองโอกาสการขยายการลงทุนในเมียนมา ทั้ง “ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ”  เช่น ธุรกิจปิโตรเคมี การกลั่นน้ำมัน ครบวงจร นอกจากนี้ ปตท.ได้ขยายธุรกิจนอน ออยล์ ร้านกาแฟ “คาเฟ่ อเมซอน”ที่เมียนมาแล้ว 3 แห่ง มองว่าเมียนมายังเป็นโอกาสการลงทุนของกลุ่มปตท.

Avatar photo