Economics

วุ่นหนัก!! กกพ.ย้ำมาโดยคำสั่งคสช.-ยกผลตีความกฤษฎีกาไม่ต้องจับสลาก

ธัญญพงศ์ชัย

นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ. ) เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวจะยุบคณะกรรมการกกพ.ว่า ตามมาตรา 17 ของพ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ให้กรรมการมีวาระดํารงตําแหน่ง 6 ปี และให้ดํารงตําแหน่งได้เพียงวาระเดียว ในวาระเริ่มแรก เมื่อครบกําหนด 3 ปี ให้กรรมการออกจากตําแหน่ง  3 คนโดยวิธีจับฉลาก

เรื่องนี้เคยหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ครั้งเมื่อกกพ.ครบวาระการทำงาน 3 ปีเมื่อปี 2560 ได้คำตอบจากการตีความตามกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า ตามมาตรา 17 ที่ระบุถึงวาระแรกนั้น หมายถึงคณะกรรมการกกพ.ชุดแรก ที่มีการแต่งตั้งเข้ามา แต่กกพ.ชุดนี้เป็นชุดที่ 3  ซึ่งกกพ.ชุดแรกได้มีการจับฉลากไปแล้ว ถือว่าไม่ต้องจับฉลากตามกฎหมายมาตรา 17 อีก  นอกจากนี้ กกพ.ทั้ง 7 คน มาจากการแต่งตั้งโดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เมื่อปี 2557 ซึ่งคำสั่ง คสช. ถือเป็นกฎหมาย

“ตอนเราอยู่ครบ 3 ปีก็กังวล และไม่มั่นใจ เพราะกฎหมายมี 2 ฉบับทั้งพ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงาน และคำสั่งคสช. คิดว่าจะทำอย่างไรดี จะต้องจับฉลากหรือไม่ ต้องทำอย่างไรถึงจะถูกต้องตามกฎหมาย ตอนนั้นได้มีการถามหลายๆคน แต่ได้รับคำตอบไม่เหมือนกัน จึงตัดสินใจถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา และได้รับคำตอบดังกล่าว ซึ่งได้รายงานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานขณะนั้นไปแล้ว”

อย่างไรก็ตาม กกพ.คงไม่นิ่งเฉย จะนำประเด็นการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมาหารือ ในคณะกรรมการ เพื่อหาคำตอบต่อไป  ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าต้องออกหรือไม่  เพราะเพิ่งรับทราบข่าวผ่านสื่อต่างๆ ไม่ได้บอกว่าเราจะอยู่ไปเรื่อยๆ เพียงแต่รู้ตัวดีว่ามาอย่างไร

“ยืนยันว่าตั้งแต่ปฏิบัติหน้าที่มาเราทั้ง 7 คน ไม่เคยทำผิดนโยบาย ทำตามงานที่ได้รับมอบหมายมาตลอด ยกตัวอย่างตอนกกพ.ชุดนี้ เข้ามาก็มาแก้ปัญหากรณีการออกใบอนุญาตสร้างโรงงาน  (รง 4) ล่าช้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการขอสร้างโรงไฟฟ้า ทำให้ล่าช้าไปด้วย เกิดปัญหาเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า  ขณะนั้นคสช.ก็ให้เรามาดู และดำเนินการเรียบร้อย ใครจะบอกว่าเราเก่งไม่เก่งไม่ทราบได้ เพราะไปเดาใจใครไม่ได้ แต่ที่ตั้งปณิธานร่วมกัน คือ ความซื่อสัตย์สุจริต  ทำงานเป็นทีม คอร์รัปชั่นต้องไม่มี และทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และเราก็ทำมาจนถึงทุกวันนี้”

ส่วนกรณีที่มีบริษัทเอกชนฟ้องร้องเราหลายคดีนั้น เป็นเรื่องปกติ เพราะกฎหมายกำหนดให้ฟ้องร้องได้ตามหลักเกณฑ์และกฎระเบียบที่ใช้กับทุกคนเหมือนกัน ซึ่งเราเปิดทางให้เอกชนใช้สิทธิ ถือเป็นเรื่องการตีความต่างกัน ไม่ได้โกรธเกลียดกันเป็นการส่วนตัว และเราก็เข้าใจดีว่า เมื่อพลังงานเป็นธุรกิจ ทุกคนย่อมต้องการรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจ

36679858 408642259635451 718381113306775552 n

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกกพ. กล่าวว่า ตามคำสั่งคสช.ยกเว้นไม่ดำเนินการตามพ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงาน 2550 เรื่องเดียวคือการสรรหากกพ.เพราะกกพ.ชุดนี้มาจากการแต่งตั้งโดยคสช.ส่วนเรื่องอื่นก็เป็นไปตามพ.ร.บ.

ทั้งนี้การดำเนินงานที่ผ่านมานั้น ยอมรับว่ากกพ.ถูกฟ้องประมาณ 200 คดี ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นเรื่องการอุทธรณ์ค่าทดแทนที่ดินและทรัพย์สินของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงข่ายพลังงาน แต่ส่วนใหญ่ก็ชนะคดี เพราะหลักเกณฑ์ของกกพ.วางไว้ในการให้ค่าทดแทนตามราคาตลาด ไม่ได้ยึดราคาประเมิน จึงทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้ราคาสูงกว่าปกติ 2-3 เท่า

ส่วนเรื่องการยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองของบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ กรณีไม่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) อยู่ระหว่างการดำเนินการในชั้นศาล แต่เรายืนยันว่าทำตามกฎหมายและกติกาที่วางไว้ เพราะไม่มีกลุ่มลูกค้าที่จะมารับซื้ออย่างชัดเจน

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight