World News

เจาะลึก ‘งูกินค้างคาว’ ผู้ต้องสงสัยเบอร์ 1 ต้นตอ ‘เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่’

นักวิทยาศาสตร์ชี้ “งูสามเหลี่ยม-งูเห่า” สายพันธุ์จีน อาจเป็นต้นตอของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ทั่วจีนในขณะนี้

GettyImages 1125202278

การติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ พบเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ที่เมืองอู่ฮั่น ทางตอนกลางของจีน ก่อนที่เชื้อไวรัสจะแพร่ระบาดขยายวงไปอย่างรวดเร็ว พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในจีน และอีกหลายประเทศ รวมถึง สหรัฐ

นักวิทยาศาสตร์จีน ได้ดำเนินการเพาะเชื้อไวรัส ที่ได้มาจากผู้ป่วย เพื่อหารหัสพันธุกรรมของไวรัส และใช้กล้องจุลทรรศน์ถ่ายรูปไว้ จนสามารถฟันธงได้ว่า เชื้อไวรัสที่กำลังระบาดอยู่ล่าสุดนี้ เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ในตระกูลโคโรนา

ไวรัสพันธุ์ใหม่นี้ อยู่ในตระกูลเดียวกับเชื้อไวรัสชื่อดัง SARS-CoV สาเหตุของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) และ MERS-CoV ต้นตอโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (เมอร์ส) ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ซึ่งองค์กรอนามัยโลกกำหนดชื่อทางเทคนิคของไวรัสพันธุ์ใหม่นี้ว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ 2019-nCoV

GettyImages 1191008832

ไวรัสโคโรนาคืออะไร

ชื่อของเชื้อไวรัสโคโรนา มาจากรูปร่างลักษณะของตัวเชื้อไวรัส ที่คล้ายคลึงกับมงกุฏ หรือกลดของพระอาทิตย์ เมื่อดูผ่านกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน

เชื้อไวรัสโคโรนาติดต่อกันได้ผ่านทางอากาศ และมักติดเชื้อบริเวณระบบทางเดินหายใจส่วนบน และระบบทางเดินอาหารของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และนก ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ในตระกูลไวรัสโคโรนา จะทำให้ผู้ติดเชื้อเกิดอาการเหมือนเป็นไข้อ่อนๆ เท่านั้น แต่เชื้อไวรัสโคโรนา ต้นเหตุโรคซาร์ส และเมอร์ส ทำให้เกิดการติดเชื้อทั้งในระบบทางเดินหายใจส่วนบน และล่าง จนทำให้อาการโรครุนแรง และเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้

2019-nCoV  ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยแบบเดียวกับโรคซาร์ส และเมอร์ส ทั้งยังเป็นเรื่องจำเป็นที่นักวิจัยจะต้องทำความเข้าใจกับวงจรชีวิตของ 2019-nCoV ให้มากขึ้น รวมถึง แหล่งที่มาของไวรัส รูปแบบการติดต่อ และวิธีการที่ไวรัสแตกตัว เพื่อหาทางทั้งการป้องกัน และการรักษา

Coronavirus 011

ติดต่อจากสัตว์

ทั้งซาร์ส และเมอร์ส ต่างถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน อันหมายความว่า ผู้ป่วยคนแรกสุดได้รับเชื้อไวรัสเหล่านี้มาจากสัตว์โดยตรง ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นไปได้ เพราะขณะที่เชื้อไวรัสอยู่ในตัวสัตว์นั้น อาจเกิดการกลายพันธุ์ขึ้นหลายครั้ง จนทำให้มีความสามารถที่จะสร้างการติดต่อ และแตกตัวเพิ่มเป็นหลายเท่าภายในร่างกายมนุษย์

ในกรณีของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ รายงานส่วนใหญ่เน้นว่า ผู้ติดเชื้อกลุ่มแรก ที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เป็นคนงาน หรือลูกค้า ที่ตลาดขายส่งอาหารทะเลท้องถิ่น ที่มีเนื้อสัตว์ และสัตว์เป็นๆ จำหน่ายด้วย ทั้งหมู ลา แกะ อูฐ หมาจิ้งจอก ตัวแบดเจอร์ หนูไม้ไผ่ เม่น และสัตว์เลื้อยคลานชนิดต่างๆ

การที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อนถึงการพบเชื้อไวรัสโคโรนาในสัตว์น้ำ ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานที่เป็นไปได้ว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ อาจมาจากสัตว์ชนิดต่างๆ ที่ขายอยู่ในตลาดแห่งนี้

นักวิทยาศาสตร์ได้ดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ และเปรียบเทียบยีนของเชื้อไวรัส 2019-nCoV เข้ากับเชื้อไวรัสโคโรนาที่รู้จักกันทุกสายพันธุ์ และพบว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ มีความใกล้ชิดมากที่สุดกับเชื้อไวรัสโคโรนาในค้างคาว ที่เก็บตัวอย่างมาจากจีน ทำให้ได้ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า “ค้างคาว” อาจเป็นต้นตอของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แบบเดียวกับเชื้อไวรัสซาร์ส และเมอร์ส

กระนั้นก็ตาม การวิจัยยังพบสิ่งที่ลึกไปกว่านั้น โดยพบว่า ลำดับการเข้ารหัสพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ของ 2019-nCoV กีดขวางโปรตีน ที่ทำให้อนุภาคไวรัสก่อตัวเป็นรูปร่างคล้ายกับมงกุฏ ในการฝังตัวเข้ากับเซลล์ตัวแรก บ่งชี้ว่า ไวรัสจากค้างคาวนี้ อาจเกิดการกลายพันธุ์ก่อนที่จะติดต่อมาถึงคน

ทั้งเมื่อนักวิจัยศึกษาลงลึกไปในการวิเคราะห์ข้อมูลชีวภาพของลำดับการเข้ารหัสพันธุกรรม ในเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ กลับพบหลักฐานบ่งชี้ว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ อาจมาจากงู

collage 1

จากค้างคาวสู่งู

นักวิจัยใช้วิธีการวิเคราะห์รหัสโปรตีนของ 2019-nCoV และนำมาเปรียบเทียบกับรหัสโปรตีนเชื้อไวรัสโคโรนา ที่พบในสัตว์พาหะต่างชนิดกัน อย่าง นก งู บ่าง เม่น ลิ่น ค้างคาว และคน ซึ่งผลที่ได้สร้างความประหลาดใจขึ้นมา เพราะนักวิจัยพบว่า รหัสโปรตีนของ 2019-nCoV มีความคล้ายคลึงกับที่อยู่ในงูมากที่สุด

ตามธรรมชาตินั้น งูมักล่าค้างคาวมาเป็นอาหารอยู่แล้ว และรายงานข่าวที่ระบุว่า มีงูขายอยู่ในตลาดอาหารทะเลท้องถิ่นในอู่ฮั่นด้วยนั้น ทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นว่า 2019-nCoV อาจแพร่ระบาดจาก ค้างคาว ซึ่งเป็นพาหะตัวแรก มายังงู และจากนั้นก็มาสู่คน ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด

อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่า เชื้อไวรัสสามารถปรับตัวเข้ากับพาหะ ทั้งที่เป็นสัตว์เลือดเย็น และสัตว์เลือดอุ่นได้อย่างไร

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวยังเป็นแค่ข้อสมมติฐานเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องได้ตัวอย่างดีเอ็นจากสัตว์ชนิดต่างๆ ที่มีจำหน่ายอยู่ในตลาดต้องสงสัย รวมถึง จากงู และค้างคาวป่าก่อน ถึงจะยืนยันแหล่งที่มาของไวรัสได้

ที่มา : sciencealert.com

Avatar photo