Auto

รถยนต์เผชิญวิบาก พี่ใหญ่ ‘โตโยต้า’ คาดตลาดหดตัว 7% ฟันธง ‘ต่ำล้านคัน’

ต้องยอมรับว่าปี 2563 จะเป็นอีกปีที่อุตสาหกรรมรถยนต์ต้องเผชิญวิบาก และความท้าทายครั้งใหญ้อีกครั้ง เมื่อค่ายผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง “โตโยต้า” ออกมาฟันธงชัดเจนว่า ภาพรวมตลาดรถยนต์เมืองไทยปีนี้ จะต่ำกว่า 1 ล้านคัน

นั่นหมายความว่า ตลาดรถยนต์ปีนี้จะอยู่ในภาวะหดตัว จากปี 2562 ที่ผ่านมาที่มียอดขายอยู่ที่ 1,007,552 คัน ซึ่งลดลง 3% จากภาพรวมตลาดรถยนต์ในปี 2561 โดยที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยมียอดขายถึง 1,000,000 คัน ครั้ง ได้แก่ ปี 2555, ปี 2556, ปี 2561 และ ปี 2562

มิจิโนบุ ซึงาตะ2
มิจิโนบุ ซึงาตะ

นายมิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ปี 2563 จะเป็นปีที่ท้าทายอีกปีหนึ่งสำหรับตลาดรถยนต์ไทย เนื่องจากตลาดรถยนต์ยังคงเผชิญกับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะจากสถานการณ์จีน–สหรัฐซึ่งส่งผลกระทบทางอ้อม รวมไปถึงมาตรการควบคุมสินเชื่อรถยนต์ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น

จากปัจจัยลบดังกล่าว ทำให้ โตโยต้าคาดการณ์ว่า ตลาดรถยนต์โดยรวมในประเทศไทยปี 2563 นี้ จะอยู่ที่ 940,000 คัน ซึ่งลดลงถึง 7% เมื่อเทียบกับปี 2562

ปี2020

 

สำหรับเป้าหมายของโตโยต้าในปี 2563 นี้ ได้ตั้งเป้าหมายการขายที่ 310,000 คัน ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ 33.0% ซึ่งลดลงประมาณ 7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่เป้าหมายการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของโตโยต้าในปีนี้ คาดการณ์ไว้ว่าปริมาณการส่งออกจะอยู่ที่ 263,000 คัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 1% ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศคู่ค้ายังไม่คลี่คลาย

โตโยต้า 2020

 

นอกจากนี้แผนการผลิตสำหรับการขายภายในประเทศและการส่งออกจะอยู่ที่ 556,000 คัน ลดลง 3% จากยอดผลิต 570,850 คัน ในปี 2562 ซึ่งมียอดการผลิตลดลง 3% เช่นกัน เมื่อเทียบจากปี 2561

ยอดผลิต

ภายใต้ปัจจัยลบดังกล่าว หนึ่งในทางออกของโตโยต้าเพื่อสร้างการเติบโตจากนี้คือ การมุ่งสู่การผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และ ปลั๊ก–อิน ไฮบริด หลังจากได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 โดยคาดการณ์ว่า จะได้เห็นการเปิดตัวรถยนต์ภายใต้โครงการดังกล่าวประมาณปี 2566

อย่างไรก็ตาม กรรมการผู้จัดการใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เห็นว่า การที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องมาจากความร่วมมืออย่างบูรณาการของทั้ง ภาครัฐ, เอกชน และ สถาบันการศึกษา ขณะที่ระบบโครงสร้างพื้นฐานของรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันที่มีจำนวนราว 500 แห่งทั่วประเทศ ยังไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการที่กระจายอยู่ของรถยนต์ไฟฟ้า

ยอดขายโตโยต้า

ขณะที่ผลการดำเนินงานของโตโยต้าในปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่า สามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นสวนทางกับสถานการณ์ตลาดที่หดตัวลง โดยมียอดขายอยู่ที่ 332,380 คัน เติบโต 6% ครองส่วนแบ่งการตลาด 33.0% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2.8 จุด

การเติบโตสวนทางตลาดดังกล่าว เป็นผลมาจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่และรุ่นปรับปรุงใหม่ของรถยนต์นั่งอย่าง New Camry และ New Corolla Altis รวมไปถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายของ Yaris และ ATIV ตลอดจนรถเพื่อการพาณิชย์ อย่าง Hilux Revo Z Edition, Commuter และ Majesty

ส่งออก

ด้านการส่งออกในปี 2562 โตโยต้าได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปจำนวน 264,775 คัน ลดลง 10% จากปี 2561 โดยปริมาณการผลิตสำหรับการขายภายในประเทศและการส่งออกมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 570,850 คัน ลดลง3% สืบเนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยในหลายภูมิภาค เช่น โอเชียเนีย อเมริกากลางและอเมริกาใต้

 

Avatar photo