Business

ก่อนท่วมเมือง! ดีเดย์ จัดการซากแผงโซลาร์เซลล์-แบตเตอรี่

มิติใหม่ ! 2 หน่วยงาน กฟผ.-กรอ. จูงมือศึกษาแนวทางจัดการ “ซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์-แบตเตอรี่” ต่อยอดผลสู่การจัดตั้งโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ต้นแบบของไทย

LINE P20191128 190924205

ปัจจุบันไทย ยังไม่มีเทคโนโลยี และการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) – แบตเตอรี่ อย่างเป็นระบบและครบวงจร ซึ่งอายุการใช้งานของแผงโซลาเซลล์ โดยเฉลี่ยประมาณ 20 ปี คาดว่าในปี 2565 จะมีซากจากแผงโซลาเซลล์เกิดขึ้น 112 ตัน และจะเพิ่มเป็น 1.55 ล้านตัน ในปี 2600 หากไม่มีการวางแผนที่เหมาะสม

วันนี้ (23 ม.ค.) จึงมีความร่วมมือระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ใน “โครงการศึกษาการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ในประเทศไทย”

1579756879797

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลมีแผนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ให้ได้ 15,574 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศให้ได้ 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 ซึ่งจะทำให้เกิดซากเซลล์แสงอาทิตย์และอุปกรณ์ประกอบ และซากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าจำนวนมาก

โดยเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 นายกรัฐมนตรี มีมีนโยบายเกี่ยวกับการจัดการขยะ ที่เกิดจากเซลล์แสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้า โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้บรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การจัดการของเสียของกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว

“เราตระหนักดีว่าหากไม่มีการจัดการอย่างเหมาะสม นอกจากจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศแล้ว ยังเป็นปัญหาอุปสรรค ต่อแผนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์และการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยด้วย และภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงเกิดเป็นความร่วมมือกับ กฟผ. ให้มั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการซากทั้งหมด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ” 

คุณพัฒนา แสงศรีโรจน์ 3 ตัด
พัฒนา แสงศรีโรจน์

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ รวมถึงการใช้แบตเตอรี่ทั้งจากอุปกรณ์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้า มีการเติบโตอย่างรวดเร็วนั้น กระทรวงพลังงานมีนโยบายให้ กฟผ. ในฐานะหน่วยงานซึ่งมีส่วนส่งเสริม และผลักดันการใช้เทคโนโลยีพลังงาน ทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และรถยนต์ไฟฟ้า ศึกษาความเป็นไปได้ ในการดำเนินการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ หลังสิ้นสภาพการใช้งานอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้เพื่อป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และเพื่อประโยชน์สูงสุด ต่อการบริหารการใช้ทรัพยากรภายในประเทศ ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการนำแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว มาแปรรูป และนำกลับไปใช้อีกในอนาคต นอกจากนี้เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันแล้ว ยังส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

สำหรับความร่วมมือกับกรอ.มีวัตถุประสงค์ แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยี ข้อเสนอแนะ และแนวทางการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ในประเทศไทย เพื่อนำมาประกอบการศึกษาความความเหมาะสม ในการพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศ โดยมีระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันลงนาม และมีขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้

BR8 3686

กรอ. จะให้การสนับสนุนด้านข้อมูล ได้แก่

1. ข้อมูลแนวโน้มซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ในประเทศไทย

2. ข้อมูลจากการพิจารณา แนวทางการเก็บรวบรวมซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่จากภาคอุตสาหกรรม

3. ข้อมูลจากการศึกษาทำเลที่ตั้ง ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย

ส่วนของ กฟผ. จะรับผิดชอบในการดำเนินงาน ได้แก่

1.ศึกษาเทคโนโลยี การจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เหมาะสม สำหรับประยุกต์ใช้กับโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย

2. ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย คู่กับการพิจารณาตามแนวทางการเก็บรวบรวมซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ จากภาคอุตสาหกรรมตามข้อมูล กรอ.

3. ศึกษาเทคโนโลยี และแนวทางการบริหารจัดการซากแบตเตอรี่ ที่อาจสามารถนำมาบูรณาการกับโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย

“ความร่วมมือระหว่าง กรอ. และ กฟผ. ในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยสร้างความยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการบริหารทรัพยากรในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย” 

Avatar photo