Business

รฟม. ไฟเขียว! แนวทางแบ่งผลประโยชน์ ‘รถไฟฟ้าสีชมพู’ รีดเงินเข้ารัฐเร็วขึ้น

บอร์ด รฟม. ไฟเขียวแนวทางแบ่งผลประโยชน์ “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” หากผู้โดยสารแตะ 3.4 แสนคน เอกชนต้องแบ่งค่าโดยสารที่สูงกว่าคาดการณ์ 20% เข้ารัฐ ด้าน “โครงการแทรมภูเก็ต” ถูกบอร์ดตีกลับอีกรอบ

รถไฟฟ้า สายสีชมพู

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า วันนี้ (22 ม.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) มีมติเห็นชอบแนวทางการแบ่งผลประโยชน์ในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีชมพู (ส่วนต่อขยาย) ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร ระหว่าง รฟม. และกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ผู้รับสัมปทาน

ทั้งนี้ การแบ่งผลประโยชน์ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ส่วนต่อขยาย) จะถูกผูกเข้ากับสัญญาหลักช่วง แคราย-มีนบุรี แต่คณะกรรมการมาตรา 43ฯ ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ได้ต่อรองขอเปลี่ยนแปลงเพดานการแบ่งผลประโยชน์ เพื่อทำให้ รฟม. ได้รับส่วนแบ่งจากเอกชนเร็วขึ้น

ก่อสร้าง รถไฟฟ้า ชมพู

ปรับตัวเลขผู้โดยสาร ได้ส่วนแบ่งเร็วขึ้น

รายงานข่าวกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการแบ่งผลประโยชน์ว่า เดิมโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2564 และคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารเติบโตเป็น 2.9 แสนคนต่อวันในปี 2566 เมื่อรถไฟฟ้ามีผู้โดยสารสูงกว่าคาดการณ์ 30% หรือเพิ่มขึ้น 87,000 คนต่อวัน เป็นตั้งแต่ 3.77 แสนคนต่อวันขึ้นไป เอกชนจะต้องเริ่มแบ่งผลประโยชน์ให้ รฟม. ในอัตรา 20% จากค่าโดยสารที่สูงกว่าคาดการณ์

แต่เมื่อกิจการร่วมค้า BSR ขอก่อสร้างส่วนต่อขยาย คณะกรรมการมาตรา 43ฯ จึงได้เจรจาขอเปลี่ยนแปลงกรอบการแบ่งผลประโยชน์ โดยปรับคาดการณ์ผู้โดยสารขั้นต่ำให้เหลือ 2.6 แสนคนต่อวัน โดยเมื่อรถไฟฟ้ามีผู้โดยสารสูงกว่าคาดการณ์ 30% หรือเพิ่มขึ้น 78,000 คนต่อวัน เป็นตั้งแต่ 3.38 แสนคนต่อวันขึ้นไป ก็ให้เอกชนเริ่มแบ่งผลประโยชน์ทันที โดย รฟม. จะได้รับผลประโยชน์จากกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR ในอัตรา 20% ของค่าโดยสารที่สูงว่าประมาณการณ์

รถไฟฟ้าสายสีชมพู

ทั้งนี้ เมื่อบอร์ดเห็นชอบแนวทางดังกล่าวแล้ว รฟม. จะต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 43ฯ เห็นชอบอีกครั้ง ก่อนส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดร่างบันทึกความร่วมตกลงระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายและเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เพราะต้องแก้ไขเอกสารแนบท้ายสัญญาด้วย

นอกจากนี้  รฟม. ได้เสนอรายงานศึกษารูปแบบ PPP โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาระดับพื้นดิน (Tram) จังหวัดภูเก็ต วงเงิน 3.45 หมื่นล้านบาทให้บอร์ดพิจารณาอีกครั้งในวันนี้ แต่บอร์ดขอให้ รฟม. กลับไปพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้ง

Avatar photo