Business

คึกคัก! เดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 23 เดือนเม.ย.นี้

เดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 23 เดือนเมษายนนี้ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดการลงทุนขั้นต่ำ 1,500 ล้านบาท คาดเป็นที่สนใจนักลงทุน เหตุไทยไม่เปิดสัมปทานมา 13 ปี และเทคโนโลยีพัฒนา เน้นแปลงในอ่าวไทย ส่วนแปลงบนบกติดกฎหมายสปก.ขณะที่ในฝั่งอันดามันต้องรอศึกษาข้อมูลรอบด้าน

200A9661 ตัด
สราวุธ แก้วตาทิพย์

ดร.สราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า การเปิดประมูลให้สิทธิสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 23 น่าจะเกิดขึ้นได้ภายในเดือนเมษายนนี้ โดยจะได้ข้อสรุปรายละเอียดจำนวนแปลง ที่จะเปิดสัมปทานภายในกุมภาพันธ์ และจะเป็นการเปิดแปลงในอ่าวไทยเป็นหลัก เพราะแปลงบนบกติดพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

โดยจุดที่น่าสนใจของการเปิดสัมปทานรอบนี้ คือ เทคโนโลยีการสำรวจทันสมัย ทำให้มีความแม่นยำมากขึ้น แหล่งปิโตรเลียมขนาดเล็กอย่างประเทศไทย มีโอกาสถูกพัฒนามากขึ้นกว่าเดิม ขณะเดียวกันไทย ก็ไม่ได้เปิดสัมปทานมาเป็นเวลา 13 ปีมาแล้วตั้งแต่ปี 2550 สำหรับกติกาของเราชัดว่า หากเปิดในทะเล ต้องเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต( PSC)

“นักลงทุนก็ถามมาตลอดว่า ในมุมภาครัฐ ประเทศไทย ยังมีศักยภาพที่จะดึงดูดนักลงทุนด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมหรือไม่ เพราะหลายประเทศมีการปรับกฎกติกาให้จูงใจ เพราะต่างต้องแข่งขันกันดึงดูดนักลงทุน ยกตัวอย่าง นอร์เวย์ยกเลิกการเก็บค่าภาคหลวง เพื่อให้บริษัทเอกชนอยู่ได้ก่อน รัฐถึงเข้าไปเก็บภาษี แต่ไทยเก็บ 3 ส่วน เก็บเป็นค่าภาคหลวงก่อน 10% และหลังหักค่าใช้จ่ายเก็บเป็นภาษีเงินได้อีก 20% เมื่อบวกลบแล้ว มีกำไร เก็บจากกำไรอีกขั้นต่ำ 50%”

ดร.สราวุธ ย้ำว่า หลายประเทศมีการปรับแก้ไขกฎ เพื่อดึงดูดนักลงทุน เพราะทุกประเทศต่างต้องการให้มีการสำรวจ เนื่องจากการการผลิตได้เอง ย่อมดีกว่านำเข้า ก่อให้เกิดการลงทุน และจ้างงาน แม้เราคงไม่ทำเหมือนในต่างประเทศ แต่ต้องมองว่าอนาคตเราจะเดินอย่างไร

อย่างไรก็ตามการเปิดสัมปทานรอบนี้ หากได้รับความสนใจ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างดี ก่อให้เกิดการลงทุนในการสำรวจขั้นต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท และหากพบศักยภาพ จะมีการลงทุนอีกมหาศาล ปัจจุบัน 1 หลุม ใช้เงินในการพัฒนาประมาณ 2.5 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้จะช่วยต่อลมหายใจให้กับปิโตรเลียมของประเทศ โดยปัจจุบันไทยมีการจัดหาปิโตรเลียมในประเทศคิดเป็น 40% ของความต้องการใช้ในประเทศ ที่เหลือต้องมีการนำเข้า ยกตัวอย่าง ในส่วนของน้ำมันดิบเราใช้อยู่ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ผลิตได้ 1.2 แสนบาร์เรลต่อวัน

บงกช
แหล่งบงกช

ปัจจุบันแหล่งเอราวัณ และบงกช ในอ่าวไทยเป็นแหล่งปิโตรเลียมหลักของประเทศป้อนเป็นสัดส่วน 70% ขณะเดียวกัน ก็มีกำลังการผลิตลดลงจาก 2,100 ล้านลบ.ฟุตต่อวันเหลือ 1,500 ล้านลบ.ฟุตต่อวันในปี 2565 เป็นต้นไป

“หากมีการสำรวจพบปิโตรเลียม จะเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งเกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนไทย นอกจากนี้ยังขับเคลื่อนธุรกิจต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับการสร้างแทนผลิตปิโตรเลียม และส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ที่มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เช่น ร้านอาหาร โรงแรม ภาคขนส่ง เป็นต้น “

ดร.สราวุธ กล่าวย้ำว่า การเปิดสัมปทานรอบนี้ เน้นฝั่งอ่าวไทยก่อน ส่วนอันดามันข้อมูลยังไม่ตกผลึก ต้องรอ 4-5 เดือน จึงเปิดไม่ทันรอบนี้ ต้องรอประมวลให้ตกผลึก ส่วนแปลงบนบก เกิดความทับซ้อนกับพ.ร.บ.การปฏิรูที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งเราก็เข้าใจและเคารพกฎหมายเขา ขณะเดียวกันเราก็เคารพกฎหมายที่เรามีอยู่

ประเด็นสำคัญ คือ ในอดีต มีระเบียบให้มีการเข้าไปพัฒนาพื้นที่สปก.ในรูปแบบอื่น แต่เกษตรกรได้ประโยชน์ แต่ปัจจุบันไม่มีระเบียบรองรับแล้ว พื้นที่สปก.ต้องใช้เพื่อการเกษตรเท่านั้น แม้ว่าการผลิตปิโตรเลียม จะไม่ได้ใช้หน้าดิน เป็นใต้ดิน แต่เราก็เข้าพื้นที่ไม่ได้

ผู้บริหารกรมเชื้อเพลิง 85 ตัด

ดร.ศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ ผู้อำนวยการบริหารสัญญา และสัมปทานปิโตรเลียม โฆษกกรมเชื้อเพลิง อธิบายว่า ตามระเบียบเดิม สปก.ให้ผู้รับสัปทานยื่น และขอใช้ประโยชน์พื้นที่สปก.ได้ แต่ภายหลังมีคำพิพากษาศาลปกครอง ทำให้สปก.ไม่มีอำนาจนี้ จึงคืนคำขอของผู้รับสัมปทานทั้งหมด เพราะไม่สามารถขอใช้พื้นที่กับสปก.ได้ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เท่ากับไม่มีกฎระเบียบให้ผู้รัสัมปทานเข้าใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป ยกเว้นจะมีการแก้ไขพ.ร.บ. แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องการตัดสินใจของระดับนโยบาย อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาปลัดกระทรวงพลังงาน ได้หารือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการพยายามสร้างความร่วมมือ

ดร.สราวุธ กล่าวถึงความคืบหน้าของการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา (Overlapping Claims Area: OCA) ซึ่งนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้นโยบายในเรื่องนี้ ซึ่งจะเป็นจิกซอว์ ต่อลมหายใจให้กับประเทศไทย โดยนายสนธิรัตน์ ย้ำให้ make sure ว่าการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อน ทั้งไทยและกัมพูชาต้องไม่เสียอธิปไตย ซึ่งบริเวณนี้มีพื้นที่รวม 26,000 ตร.กม.ส่วนที่จะพัฒนาร่วมกันกินพื้ที่เท่าใด ยังบอกอะไรไม่ได้

อย่างไรก็ตามโมเดลที่ประสบผลสำเร็จ และได้รับการยอมรับในระดับสากลในการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อน ก็คือ การพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) ซึ่งมีการตั้งองค์กรพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) มาเป็นกลไกในการดำเนินงาน ทำให้แต่ละปีเราได้รายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย 12,688 ล้านบาท ขณะที่มาเลเซียก็ได้ในสัดส่วนเดียวกัน

“โครงการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทยมาเลเซียเกิดได้ เพราะดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด เดินทางมาพบนายเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น โดยระบุว่าทั้งสองประเทศไม่ควรมาทะเลาะกัน แต่ควรมา enjoy และพัฒนาร่วมกันจะดีกว่า สำหรับไทยกัมพูชาหากเห็นภาพตรงกันก็เดินไปได้ เพราะเราต่างเป็นเพื่อนบ้านกัน อย่างไรเสียก็ต้องเป็นเพื่อนบ้านกันตลอดไป “

ทั้งนี้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ กรมเชื้อเพลิงและทีม จะเริ่มเดินสายหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในระดับอธิบดีกรมต่างๆ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ แต่เรื่องนี้ก็คงทำได้ไม่เร็ว ยกตัวอย่างเช่น JDA มีการลงนามความร่วมมือสิบกว่าปี จากนั้นจึงสามารถพัฒนาร่วมกันได้ใน 15 ปีหลัง

สำหรับภาพรวมการจัดหา ปัจจุบันไทยมีการดำเนินงานอยู่ 38 สัมปทาน 48 แปลงสำรวจ แบ่งเป็นบนบก 19 แปลง ในทะเล 29 แปลง มีการผลิตปิโตรเลียมได้รวม 821,060 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน

ในปีงบประมาณ 2562 มีการจัดเก็บรายได้จากกิจการปิโตรเลียมเข้าสู่ภาครัฐจำนวน 166,332 ล้านบาทสูงสุดเป็นอันดับ 4 มาจากค่าภาคหลวง 45,555 ล้านบาท เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ 1,151 ล้านบาท รายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย 12,688 ล้านบาท

Avatar photo