Economics

กฟผ. คิกออฟ ‘โซลาร์ลอยน้ำไฮบริด’ ใหญ่สุดในโลก 45 เมกะวัตต์ พร้อมปั่นไฟปลายปี 63

กฟผ. ร่วมกับ กิจการค้าร่วม บี.กริม เพาเวอร์ – เอ็นเนอร์ยี่ ไชน่า เดินหน้าโครงการโซลาร์ลอยน้ำล็อตแรก เขื่อนสิรินธร 45 เมกะวัตต์  842 ล้านบาท โชว์ศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมผลิตไฟฟ้าธันวาคม 2563

EAK 4667

วันนี้ (20 ม.ค.) พลเอกสมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานลงนามสัญญา “โครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ”  สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ระหว่าง กฟผ. กับกิจการค้าร่วม บี.กริม เพาเวอร์ ‘BGRIM’– เอ็นเนอร์ยี่ ไชน่า

โดยมี นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. เป็นผู้แทน กฟผ. ร่วมลงนามกับ ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ และ Mr. Wang Xinping ประธานกรรมการ บริษัทChina Energy Engineering Group Shanxi Electric Power Engineering Co., Ltd.

52825 0
พลเอกสมศักดิ์ รุ่งสิตา

พลเอกสมศักดิ์ รุ่งสิตา กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จังหวัด อุบลราชธานี ของ กฟผ. เป็นการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างโซลาร์เซลล์กับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ถือเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทย ที่ลดข้อจำกัดความไม่แน่นอน ของพลังงานหมุนเวียน ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง มีเสถียรภาพ สอดรับกับนโยบายสนับสนุนการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนของรัฐบาลตามแผนพัฒนากำลังผลิตพลังไฟฟ้าของประเทศไทย ฉบับปัจจุบัน (PDP 2018) ที่จะต้องดำเนินการรวม 2,725 เมกะวัตต์ใน 9 เขื่อนของกฟผ. โครงการดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชน ได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ลดการพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้า

IMG 20200120 182333
เทพรัตน์ เทพพิทักษ์

ด้าน นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ระบุว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร เป็นการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผสมผสานระหว่างโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำ ที่จะผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวัน ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิม

โดยนำระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System หรือ EMS) มาบริหารจัดการพลังงานทั้งสองประเภท ทำให้สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมความต้องการของระบบไฟฟ้า โดยอนาคตยังสามารถ นำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ร่วมกับโครงการ เพื่อสร้างเสถียรภาพของพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้า และความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ

สำหรับโครงการโซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธรมีกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการกว่า 842 ล้านบาท จะใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิดดับเบิ้ลกลาส ที่เหมาะสมกับการวางแผงโซลาร์เซลล์ใกล้ผิวน้ำ ที่มีความชื้นสูง และมีการเคลื่อนไหวของผิวน้ำอยู่ตลอดเวลา และใช้ทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene) ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ และสิ่งแวดล้อม ติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดบนพื้นที่ผิวน้ำกว่า 450 ไร่

โดยใช้ระบบส่งไฟฟ้าเดิมร่วมกับเขื่อนของ กฟผ. เช่น หม้อแปลง สายส่ง สถานีไฟฟ้าแรงสูงทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคตมีราคาถูกภายหลังจากการลงนามในสัญญาแล้ว คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 12 เดือน และจะสามารถผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในเดือนธันวาคม 2563

สำหรับโครงการที่จะดำเนินการต่อไปอีก 2,680 เมกะวัตต์ จะมีการทะยอยขออนุมัติเงินลงทุนจากครม.และกรอบเงื่อนไขการประมูล (TOR ) จากคณะกรรมการกฟผ.ต่อไป โครงการที่ 2 ดำเนินการที่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ขนาด 24 เมกะวัตต์ กำหนดเข้าระบบในปี 2566

52826
ฮาราลด์ ลิงค์

ด้าน ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า การลงนามสัญญาจัดซื้อ และจ้างในครั้งนี้ นับเป็นความสำเร็จอีกก้าว ของบริษัทที่จะโชว์ศักยภาพในการดำเนินการด้านพลังงานในทุกมิติ การที่บีกริม ได้รับโอกาสในการพัฒนา และสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำให้กับ กฟผ. ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนของประเทศไทย

ทั้งยังเป็นเป็นการเพิ่มศักยภาพ และมาตรฐาน ในการพัฒนาธุรกิจด้านพลังงานทดแทน ที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องให้กับบริษัท บีกริม พร้อมทั้งยังเป็นการสนองนโยบายของภาครัฐ และเป็นโอกาส ที่จะทำให้บริษัทได้รับโอกาส ในการพัฒนา และดำเนินการโครงการโซลาร์ทุ่นลอยน้ำในโครงการอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

ด้วยความพร้อม และศักยภาพของบริษัท ภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลก เอ็นเนอร์ยี่ ไชน่า ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีศักยภาพ และความได้เปรียบสูง ในการบริหารจัดการต้นทุน การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ และการพัฒนาเทคนิควิศวกรรมที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการพัฒนา และก่อสร้าง โครงการโรงไฟฟ้าอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

 

Avatar photo