Branding

‘เซ็นทรัลรีเทล’ เคาะไอพีโอ 40-43 บาท/หุ้น มูลค่าเฉียด ‘8 หมื่นล้าน’

เซ็นทรัล รีเทลเคาะราคาหุ้นไอพีโอ 40- 43 บาทต่อหุ้น มูลค่าเสนอขายรวม ประมาณไม่เกิน 74,404 – 79,984 ล้านบาท เผยกลุ่มนักลงทุนซื้อแล้วกว่า 60% เปิดจอง 29 – 31 มกราคม และ 3 กุมภาพันธ์ 2563 คาดเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เดือนกุมภาพันธ์นี้

Central Chidlom

นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. เซ็นทรัล รีเทล (CRC) เปิดเผยว่า การเสนอขายหุ้นสามัญของเซ็นทรัล รีเทล ครั้งนี้จะมีขนาดใหญ่ที่สุดของตลาดทุนไทย โดยมีมูลค่าเสนอขายประมาณ 74,404 – 79,984 ล้านบาท นับเป็นการเพิ่มสินค้าที่มีคุณภาพให้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และคาดหวังว่าจะช่วยกระตุ้นบรรยากาศและความสนใจในการลงทุนของนักลงทุนทั้งในประเทศและในต่างประเทศให้มีความคึกคักยิ่งขึ้น

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็นทรัล รีเทล กล่าวเสริมว่า หุ้น CRC ถือว่าได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก มีนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศรวม 11 ราย สนใจมาลงทุนเป็น Cornerstone Investors ของ CRC

โดยมีมูลค่ารวมกว่า 24,000 ล้านบาทที่ราคาเสนอขายสูงสุด หรือกว่า 60% ของจำนวนหุ้น IPO ในครั้งนี้ และถือว่าเป็นหุ้น IPO ที่มีมูลค่าตกลงจองซื้อก่อนโดย Cornerstone Investors สูงที่สุดในตลาดทุนไทยเท่าที่เคยมีมา

CRC IPO2020 4

ทั้งนี้ Cornerstone Investors ของ CRC ประกอบด้วยสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียงระดับสากล เช่น Capital Research Management Company, GIC Private Limited และ Avanda Investment Management เป็นต้น รวมถึงนักลงทุนสถาบันชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ บลจ.กสิกรไทย บลจ.บัวหลวง บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ. อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) บลจ.ทิสโก้ และ บลจ.ธนชาติ

สำหรับหุ้นสามัญของ CRC ที่จะเสนอขายในครั้งนี้ มีจำนวนไม่เกิน 1,691,000,000 หุ้น โดยแบ่งออกเป็น

1. หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,331,000,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 22.1 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลัง IPO ซึ่งหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนดังกล่าว ประกอบด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ROBINS’ ที่ตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ผ่านการแลกหุ้น (Share Swap) และหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายและจัดสรรให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก

CRC IPO2020 9
ญนน์ โภคทรัพย์

2. หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Hawthorn Resources Limited (ผู้ถือหุ้นเดิม) จำนวนไม่เกิน 360,000,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 6.0 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลัง IPO และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน จำนวนไม่เกิน 169,100,000 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่เสนอขายในครั้งนี้

การออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรกของ CRC จะดำเนินการควบคู่ไปกับการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ ROBINS เพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ของ ROBINS ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจของ CRC โดย CRC ได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ CRC ส่วนหนึ่งให้เป็นค่าตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นของ ROBINS ที่ตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ โดยการนำหุ้นสามัญของ ROBINS มาขายในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมด

Retail plaza เพชรบุรี

ขณะที่ผู้ถือหุ้น ROBINS จะได้รับค่าตอบแทนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ CRC แทนการชำระด้วยเงินสด โดยคำนวณจากอัตราแลกหุ้นที่ราคาเสนอซื้อเท่ากับ 66.50 บาทต่อหุ้น ROBINS 1 หุ้นกับราคาหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ CRC ที่ช่วงราคาเสนอขาย 40 – 43 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นช่วงอัตราแลกหุ้นที่ประมาณ 1.55 ถึง 1.66 หุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ของ CRC ต่อ 1 หุ้นสามัญเดิมของ ROBINS

“เมื่อนับมูลค่าตลาดรวมหรือมาร์เก็ตแคปของหุ้น CRC ที่ช่วงราคาเสนอขายดังกล่าว หุ้น CRC มีโอกาสที่จะได้จัดอยู่ในหุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 15 ลำดับแรกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” นายญนน์ กล่าว

นอกจากนี้ การเสนอขายหุ้นและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในครั้งนี้ ยังเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการบริหารงานตลอด 72 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน CRC มีแบรนด์ค้าปลีกชั้นนำหลากหลายประเภทใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มแฟชั่น กลุ่มฮาร์ดไลน์ และกลุ่มฟู้ด มีแบรนด์ค้าปลีกชั้นนำ อาทิ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ซูเปอร์สปอร์ต เซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป เพาเวอร์บาย ไทวัสดุ ท็อปส์ แฟมิลี่มาร์ท โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ รวมไปถึงบิ๊กซี/GO! เหงียนคิม ลานชีมาร์ท ในประเทศเวียดนาม และ รีนาเชนเต ห้างสรรพสินค้าไฮเอนด์ในประเทศอิตาลี

Go Vietnam 2

ด้านกลยุทธ์การดำเนินงาน CRC อาศัย 6 กลยุทธ์หลักในการเพิ่มขีดความสามารถและขยายธุรกิจของกลุ่ม CRCประกอบด้วย

  • การต่อยอดความเป็นผู้นำผ่านการเติบโตด้วยตนเอง (Organic Growth) และการควบรวมกิจการหรือ เข้าซื้อกิจการ (Inorganic Growth) ในประเทศไทย
  • การใช้ประโยชน์จากธุรกิจบิ๊กซีเพื่อเร่งการเติบโตทางธุรกิจของกลุ่ม CRC ในประเทศเวียดนาม พร้อมด้วยการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) ที่แตกต่างและไม่เหมือนใคร ซึ่งสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าทั้งในเขตเมืองและพื้นที่ชนบท
  • การใช้ประโยชน์จากรีนาเชนเตเพื่อผนึกกำลังทางธุรกิจและแสวงหาโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจในประเทศอิตาลีและในทวีปยุโรป
  • การใช้แพลตฟอร์ม Omni-channel ซึ่งผสมผสานระหว่างจุดแข็งของการค้าปลีกผ่านทางออนไลน์และการค้าปลีกที่มีร้านค้าเป็นหลักเพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการ มอบความสะดวกสบายให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงแบรนด์ค้าปลีกของเซ็นทรัล รีเทลได้จากทุกสถานที่ทุกเวลา และสร้างประสบการณ์ในการเลือกซื้อสินค้าอย่างไร้รอยต่อให้แก่ลูกค้า
  • การใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าเพื่อสร้างความภักดีของลูกค้าและเพิ่มยอดขาย
  • การแสวงหาโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจในอนาคตทั้งในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง

Business Unit logos under CRC

นายปิยะ งุ่ยอัครมหาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บมจ. เซ็นทรัล รีเทล  กล่าวว่า การระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการขยายสาขาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงการปรับปรุงสาขาต่าง ๆ อาทิ

1. การขยายสาขาใหม่ของห้างสรรพสินค้าโรบินสัน และ โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์

2. การขยายสาขาของไทวัสดุ

3. การขยายสาขาของบิ๊กซี/GO! ในประเทศเวียดนาม

4. การปรับปรุงสาขาต่าง ๆ ของแต่ละกลุ่มธุรกิจ และการชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน

ในส่วนของผลการดำเนินงานในปี 2561 CRC มีรายได้รวม 206,575 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 8.3% (xu 2559 – พ.ศ. 2561) และมีกำไรสุทธิ 10,033 ล้านบาท ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 CRC มีรายได้รวม 159,506 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 6,298 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 4.1% จากรายได้รวมในช่วงระยะเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิ 5,860 ล้านบาท

Avatar photo