World News

เลี่ยงเจอขึ้นภาษี!! สหรัฐสั่งสินค้าจีนเพิ่ม ดันยอดนำเข้าพุ่งเกินคาด

ยอดนำเข้าสินค้าจีนผ่านทางท่าเรือสหรัฐ ในเดือนมิถุนายน เพิ่มสูงขึ้นเกินความคาดหมาย บ่งชี้ว่า ผู้ค้าปลีกท้องถิ่นจำนวนหนึ่งมีคำสั่งซื้อเพิ่ม เพื่อป้องกันตัวเองจากการทำสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น และกลายเป็นภัยคุกคาม ที่ทำให้ต้นทุนสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มสูงขึ้น

000 17H62Z

นายเบน แฮคเกตต์ ผู้ก่อตั้งแฮคเกตต์ แอสโซซิเอทส์ บริษัทที่ปรึกษาด้านน่านน้ำระหว่างประเทศ ระบุว่า บรรดาผู้ค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐ อย่าง วอลมาร์ท อิงค์ และอเมซอน ดอท คอม ต้องเจอกับความไม่แน่นอนในการทำธุรกิจ จากคำขู่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะเก็บภาษีทุ่มตลาดต่อสินค้าจีนเพิ่มขึ้น และการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ก็มีแนวโน้มว่าต้องการซื้อสินค้าสำรองไว้ก่อนจากการคาดการณ์ถึงการเก็บภาษีเพิ่มดังกล่าว

“นี่เป็นคำสั่งซื้อที่ผิดปกติค่อนข้างมาก” นายแฮคเกตต์ กล่าว  สอดคล้องกับที่ทางการจีนออกมาระบุว่า ยอดส่งออกในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นเกินคาด  ซึ่งก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่จีนระบุด้วยว่า ผู้ส่งออกแดนมังกรพากันส่งสินค้าไปยังสหรัฐล่วงหน้า เพื่อเลี่ยงการโดนเก็บภาษีในอัตราที่แพงขึ้น

ตามปกติแล้ว ช่วงเวลาการนำเข้าสินค้าผ่านทางท่าเรือสหรัฐจะสูงสุดในช่วงที่โรงเรียนในสหรัฐเปิดเทอม ระหว่างเดือน มิถุนายน-กันยายน และช่วงเทศกาลวันหยุดในฤดูหนาว โดยสินค้าที่นำเข้าในช่วงเวลาดังกล่าวจะเน้นไปในด้านเสื้อผ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และของเล่นที่ผลิตในจีน

ขณะที่ นายจีน เซโรกา ผู้อำนวยการบริหารท่าเรือลอสแองเจลิส ซึ่งเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าที่คับคั่งสุดของสหรัฐ และเป็นท่าเรือหลักในการทำการค้าทางทะเลกับจีน เปิดเผยว่า ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปริมาณตู้สินค้าจากจีน ที่เข้ามายังท่าเรือสหรัฐทั้งหมดเพิ่มขึ้น 6.3% จากปีที่แล้ว หลังจากที่ร่วงลงไป 6.9% ในเดือนพฤษภาคม และ 3.9% ในเดือนเมษายน

ยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีกของสหรัฐ อย่างวอลมาร์ท และอเมซอน ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นในเรื่องนี้

คาดเห็นผลกระทบช่วงเทศกาลสิ้นปี

ที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ให้คำมั่นถึงการปรับเปลี่ยนข้อตกลงการค้าโลกของสหรัฐเสียใหม่ รวมถึง การขู่ที่จะจัดเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดต่อสินค้าจีนมูลค่ามากกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่บรรดาผู้ค้าปลีก ที่สั่งซื้อสินค้าข้าวของเครื่องใช้ทั่วไปล่วงหน้านานสุด 1 ปี สามารถชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาได้ ด้วยการเพิ่มราคาจำหน่าย หรือหาซัพพลายเออร์รายใหม่ในประเทศต่างๆ ที่ไม่ได้ตกเป็นเป้าโดนเก็บภาษีทุ่มตลาด

madeinchina

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา สหรัฐประกาศเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 25% ต่อสินค้าจีนมูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์ รวมถึง แฟลชไดรฟ์ รีโมทคอนโทรล และอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ จากรายชื่อสินค้าทั้งหมดมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ ที่เคยเสนอเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งจีนก็ได้ตอบโต้กลับอย่างรวดเร็ว ด้วยการประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ ในมูลค่าที่เท่าๆ กัน รวมถึง ถั่วเหลือง สุรา ฝ้าย และรถยนต์

อย่างไรก็ดี เรื่องดังกล่าวไม่มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบในทันทีต่อเหล่าผู้ค้าปลีกแต่อย่างใด

รัฐบาลสหรัฐ ยังทำให้การทำสงครามการค้าตึงเครียดมากขึ้น ด้วยแผนการขึ้นภาษีนำเข้า 10% ต่อสินค้าจีนมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ รวมถึง เฟอร์นิเจอร์ กระเป๋าถือ อาหารสัตว์เลี้ยง ตู้เย็น สิ่งทอ และชิ้นส่วนรถยนต์

แผนการในรอบนี้ อาจมองเห็นกระทบต่อธุรกิจเอกชนได้ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ก่อนถึงวันหยุดคริสต์มาส ที่มีความสำคัญอย่างมาก และวันหยุดในช่วงฤดูหนาว ซึ่งสินค้าที่มีคำสั่งซื้อสำหรับฤดูกาลดังกล่าว จะเดินทางมาถึงท่าเรือต่างๆ ในสหรัฐ ก่อนหน้าที่มาตรการภาษีฉบับใหม่จะมีผลบังคับมาใช้

เร่งนำเข้ารถยนต์ก่อนขึ้นภาษี

บรรดาค่ายรถยนต์ก็มีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม ในความพยายามที่จะนำรถยนต์เข้ามาในสหรัฐ ก่อนหน้าที่สหรัฐใช้อัตราภาษีฉบับใหม่ ซึ่งข้อมูลจากท่าเรือ เจ้าหน้าที่การท่าเรือ และบริษัทโลจิสติกส์ แสดงให้เห็นว่า ในเดือนดังกล่าว ท่าเรือบัลติมอร์ และแจ็คสันวิลล์ ในรัฐฟลอริดา และท่าเรือบรุนสวิค ในรัฐจอร์เจีย ซึ่งเป็นท่าเรือชั้นนำ 3 อันดับแรกของสหรัฐสำหรับการนำเข้ารถยนต์ ต้องรองรับการนำเข้ารถยี่ห้อต่างๆ มากกว่าปีที่แล้วราว 23,000 คัน

car

นายไมเคิล ไบเน็ตติ นักวิเคราะห์จากเครดิต สวิส กล่าวว่า หากมีการนำข้อเสนอที่จะขึ้นภาษีนำเข้าครั้งล่าสุดไปบังคับใช้จริง จะทำให้บรรดาผู้ค้าปลีกอย่าง เรสโตเรียน ฮาร์ดแวร์ อิงค์ วิลเลียมส์ โซโนมา ไมเคิล คอร์สและทาเพสตรี ถูกจับตามอง

ผู้ขายเฟอร์นิเจอร์ที่พักอาศัย อย่าง เรสโตเรียน ฮาร์ดแวร์ ระบุว่า ในปีงบการเงิน 2560 ราว 40% ของสินค้าบริษัทมาจากจีน โดยบริษัทคาดว่าจะลดสัดส่วนดังกล่าวให้เหลือราว 35% ในปีงบการเงินนี้ และเหลือเพียง 25% ในปีงบการเงิน 2562

ส่วนในระยะยาวนั้น นายไบเน็ตติมองว่า การนำเข้าน่าจะมาจากเวียดนาม แทนที่จะมาจากจีน โดยจะเป็นการนำเข้าจากเวียดนาม ในจำนวนที่เท่ากับที่เคยนำเข้าจากจีน

 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight