World News

ทำไม Nike รุ่น ‘Vaporfly’ เสี่ยงโดนแบน!!

การถกเถียงถึงเรื่องที่รองเท้าสำหรับวิ่ง “Vaporfly” รุ่นล่าสุดของไนกี้ ที่อาจจะโดนคำสั่งห้ามนักวิ่ง สวมเข้าร่วมการแข่งขันรายการต่างๆ นั้น อาจช่วยหนุนยอดขายรองเท้ารุ่นนี้ให้พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักวิ่งสมัครเล่น ที่หวังว่าจะก้าวเท้าไปได้ไกลขึ้นในการวิ่งของตัวเอง

NIK1

นายแมตต์ พาวเวลล์ ที่ปรึกษาอาวุโสอุตสาหกรรมกีฬา จากเอ็นพีดี กรุ๊ป กล่าวว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องดีสำหรับยอดขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีนี้ ที่ไนกี้ไม่ได้ผลิตรองเท้าออกมามากนัก ทำให้ถ้าโดนแบนจริง ก็จะไม่ส่งผลกระทบด้านการเงินต่อบริษัท ทั้งนักวิ่งสมัครเล่นก็ยังสามารถใช้รองเท้ารุ่นนี้ต่อไปได้

ปัจจุบัน โลกแห่งกีฬาวิ่ง กำลังรอดูว่า “สหพันธ์กรีฑาโลก” ที่ดำเนินการตรวจสอบรองเท้ารุ่นนี้มานานหลายเดือน จะทำอย่างไรกับรองเท้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงนี้ ที่ “เอลิอุด คิปโชเก้” และ “บริจิด คอสเก” 2 นักวิ่งชาวเคนยา ใช้สวมลงแข่งขันรายการวิ่งมาราธอน และทำสถิติได้อย่างดีเยี่ยมเมื่อปีที่แล้ว

ทางเลือกที่สหพันธ์กรีฑาโลกมีอยู่ รวมถึง การออกคำสั่งห้ามขายรองเท้ารุ่นนี้ทั้งหมด หรือออกมาตรการอย่างจำกัด เกี่ยวกับเทคโนโลยีแผ่นรองพื้นคาร์บอนไฟเบอร์บางๆ ที่ไนกี้นำเข้ามาใช้ในการพัฒนารองเท้ารุ่นที่กำลังเป็นปัญหาอยู่

รองเท้ารุ่น Vaporfly รุ่นนี้ ทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างดุเดือดในหมู่นักกีฬา และนักวิจารณ์ ถึงเรื่องที่ว่า ควรอนุญาตให้ใช้รองเท้ารุ่นนี้ในการแข่งขันหรือไม่ โดยมีประเด็นหลักอยู่ที่ว่า Vaporfly ทำให้นักวิ่งเกิดความได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรม

GettyImages 1144782498

“คิปโชเก้” นักวิ่งขาวเคนยา ผู้สวมรองเท้าไนกี้รุ่น Vaporfly ลงวิ่งมาราธอนที่กรุงเวียนนา ออสเตรีย และกลายเป็นนักวิ่งคนแรกของโลกที่ทำเวลาวิ่งฟูลมาราธอนได้ไม่ถึง 2 ชั่วโมง ให้สัมภาษณ์ว่า การใส่รองเท้ารุ่นนี้เป็นเรื่องยุติธรรม และกล่าวว่าวงการกีฬาควรยอมรับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าแบบนี้

ขณะที่ไนกี้ ผู้ผลิตชุดกีฬารายใหญ่สุดของโลก ชี้แจงไว้บนหน้าเว็บไซต์ของบริษัทว่า Vaporfly ที่จำหน่ายในราคาคู่ละประมาณ 250 ดอลลาร์ มีอาวุธลับติดตั้งไว้ในภายใน ทั้งก่อนหน้านี้ เคยออกมายืนยันว่า การพัฒนารองเท้าพื้นคาร์บอนของพวกเขา ล้วนอยู่ภายใต้การดูแลควบคุมของสหพันธ์กรีฑาโลกทั้งนั้น และรองเท้าที่ออกมานี้ ก็อยู่ภายใต้กฎกติกาที่อนุญาตให้ทำได้

ผลการศึกษาอิสระที่ออกมาก่อนหน้านี้ สรุปได้ว่า Vaporfly ที่มีการแทรกแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์แบบโค้ง ไว้ระหว่างชั้นโฟมกันกระแทก มีน้ำหนักเบานั้น ช่วยลดการเผาผลาญพลังงานของนักวิ่งได้ราว 4% แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้นักวิ่งวิ่งได้เร็วขึ้น 4% แต่อย่างใด

SW 032618 Shoe Medium1
ที่มา : scienceworld.scholastic.com

อย่างไรก็ดี การนำเทคโนโลยีคาร์บอนไฟเบอร์เข้ามาใช้กับรองเท้าวิ่งไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะ “รีบอค” ผู้ผลิตชุดกีฬาชั้นนำอีกรายหนึ่งของโลก นำวัสดุนี้มาใช้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 90 แต่กระแสนี้ก็ซาไปพักใหญ่ จนกระทั่งไนกี้นำกลับมาพัฒนาอีกครั้ง และในปัจจุบัน ก็ไม่ได้มีแต่ไนกี้เท่านั้น ที่นำคาร์บอนไฟเบอร์เข้ามาใช้กับรองเท้า โดยมีความแตกต่างกันตรงที่รูปแบบการใช้เท่านั้น

“การแบนรองเท้า ที่ช่วยให้การวิ่งดีขึ้นนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของไนกี้แต่อย่างใด ทั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยังจะช่วยเพิ่มยอดขายของ Vaporfly ให้มากขึ้นด้วย” แครอล สไปซ์เคอร์แมน จากบริษัทที่ปรึกษา สไปซ์เคอร์แมน รีเทล กล่าว

ทั้งนี้ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับไนกี้เท่าใดนัก โดยในช่วงทศวรรษ 80 ไนกี้ ที่ตั้งเป้าทำยอดขายชุดกีฬาในปีนี้ให้ได้ถึง 50,000 ล้านดอลลาร์นั้น เคยเจอกับการถกเถียงอย่างหนักกรณี “ไมเคิล จอร์แดน” นักบาสเก็ตบอลชื่อดังของสหรัฐ สวมรองเท้าสีแดง-ดำ ซึ่งละเมิดกฎของเอ็นบีเอ ที่ให้นักบาสเก็ตบอลสวมรองเท้ากีฬา ทีมีสีขาวเป็นหลักเท่านั้น

ไนกี้แก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการใช้แถบสีดำเซ็นเซอร์โฆษณารองเท้ารุ่นนี้ที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์ และได้เปิดตัวรองเท้าแบรนด์ “แอร์ จอร์แดน 1” ขึ้นใหม่ ในแบบเดียวกับโฆษณาที่บริษัทดำเนินการเซ็นเซอร์ดังกล่าว หนุนให้แบรนด์รองเท้าในเครือแบรนด์นี้ กลายเป็นธุรกิจมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ของบริษัท

Avatar photo