Wellness

ย้ำ ‘ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5’ ภัยเงียบ คนทำงานกลางแจ้ง แนะป้องกันสุดๆ

ห่วง! คนทำงานกลางแจ้ง ย้ำ “ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5” กระทบสุขภาพ ไอ จาม ระคายเคืองตา ผิวหนัง และรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด-ระบบทางเดินหายใจ-หอบหืด-ปอดอุดกั้นเรื้อรัง แนะหลีกเลี่ยง

“ฝุ่นมลพิษ PM 2.5”  ส่งผลต่อร่างกายมนุษย์ในหลายๆระบบ ทั้งระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจ และ ระบบผิวหนัง ทางแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายได้ออกมาเตือน และให้ความรู้ประชาชนในการหลีกเลี่ยง และป้องกันตนเอง ต่อผลเสียของการสัมผัส ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 เป็นมลพิษต่ออากาศ และร่างกาย

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ย้ำว่า ทุกคนควรป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ คือ หน้ากาก N95 ส่วนหน้ากากประเภทอื่นนั้น ช่วยป้องกันได้เพียงส่วนหนึ่ง และควรใส่ให้ถูกวิธี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน

812731 ปก
นพ.สมบูรณ์ ทศบวร

ทางด้าน นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวถึงอาชีพเสี่ยง ว่า อาชีพที่ทำงานกลางแจ้ง อาทิ ตำรวจจราจร พนักงานรปภ คนสวน พนักงานสนามกอล์ฟ เกษตรกร ประมง พนักงานแท่นขุดเจาะน้ำมัน นักกีฬา คนทำงานในที่โล่งกว้าง เช่น คนขนหินในหุบเขา และ กรรมกรก่อสร้าง ผู้ปฏิบัติอาชีพเหล่านี้ต้องทำงานกลางแจ้ง และต้องสัมผัสกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

สำหรับอันตราย หรือสิ่งคุกคามเฉพาะเรื่องการทำงานกลางแจ้งที่มีต่ออาชีพเหล่านี้ ก็คือมลพิษนั่นเอง โดยเฉพาะ ฝุ่น หรือ PM 2.5 และสารเคมีต่าง ๆ โดยเฉพาะ VOCs (volatile organic compounds) hexane, ozone ตะกั่ว nitrous oxide ที่เกิดจากการสันดาปไม่สมบูรณ์

โดยการทำงานกลางแจ้ง จะมีการสัมผัสสารพิษเหล่านี้ การใช้หน้ากาก มักจะไม่ได้ผล เนื่องจากสารพิษเหล่านี้มีขนาดเล็ก ทำให้การหายใจอึดอัดไปด้วย ยิ่งทำงานกลางแจ้ง ก็จะทำให้ใส่หน้ากากเหล่านี้ไม่ได้

silhouette 4644655 640

สำหรับผลของมลพิษ จะทำให้เกิดอาการทั้งแบบเฉียบพลัน คือ การระคายเคืองเยื่อเมือก เช่น แสบตา คันตา อาการทางผิวหนัง เช่น คัน มีผื่น แพ้เหงื่อ อาการของโรคทางเดินหายใจส่วนบน เช่น มีน้ำมูก คันคอ แสบคอ มีเสมหะ อาการเรื้อรัง ได้แก่ การเป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง อาทิ หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง ที่ร้ายแรงจริงๆ คือ มลพิษเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่ง ของโรคมะเร็งปอด

นอกจากนี้ PM 2.5 ยังทำให้หลอดเลือดตีบ ซึ่งในระยะยาว เป็นสาเหตุของโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองด้วย ในคนที่เป็นโรคทางเดินหายใจ หรือเป็นโรคของหลอดเลือดอยู่แล้ว การหายใจเอามลพิษเข้าไป จะทำให้เป็นมากขึ้น หรือแย่ลงได้

วิธีการป้องกัน คือทำให้ร่างกายแข็งแรง ป้องกันปอดเราโดยหายใจอากาศบริสุทธิ์ พยายามอยู่ในที่ซึ่งมี PM 2.5 น้อย หรือใช้เครื่องฟอกอากาศ พยายามหลีกเลี่ยง อย่าอยู่กลางแจ้งนาน ให้ทำงานสักระยะ แล้วหลบเข้าในอาคาร

สำหรับการใส่หน้ากากจะทำให้อึดอัด โดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อน ยิ่งทำให้ไม่สามารถใส่หน้ากากได้นาน โดยขณะนี้ หน้ากาก N95 เป็นหน้ากากที่ใช้ป้องกันได้ดีที่สุด แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถใส่ได้นาน เพราะจะอึดอัด อย่างไรก็ดีการใช้หน้ากากอื่น ชั่วคราวก็ทำได้ โดยสังเกตการณ์ระคายเคือง แสบคอ มีเสมหะ ถ้าเป็น ก็แสดงว่าหน้ากากไม่ได้ผล อาจจะต้องเปลี่ยนมาใช้หน้ากาก N95

ทั้งนี้ สามารถมาติดต่อได้ที่คลินิกมลพิษคลินิกเฉพาะทางแห่งแรกในประเทศไทย โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี หรือสอบถามได้ที่สายด่วน 0-2548-1000 กด 0 ได้ทุกวันในเวลาราชการ

Avatar photo