COLUMNISTS

ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (อีกที)

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด
14

ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ปี 2561 นี้ โดย International Institute for Management Development หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า IMD นั้น ประเทศไทยเราปีนี้อยู่ที่อันดับที่ 30 ลดลง 3 อันดับจากปีก่อนนี้ที่เราอยู่อันดับที่ 27

ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เป็นประเด็นเดิมๆ ที่เราได้รับทราบอยู่ทุกปีคือ เนื่องจากเป็นการจัดอันดับโดยนำประเทศต่างๆ มาเปรียบเทียบกัน ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วเราดีขึ้นได้มากหรือน้อยกว่าเขาจะเป็นตัวตัดสินกันตอนสุดท้ายว่าอันดับเราจะดีขึ้นหรือไม่? ปีนี้ที่เราอยู่อันดับที่ 30 ก็เช่นเดียวกัน

คะแนนเฉลี่ยรวมของทั่วโลกลดลงเล็กน้อยจาก 77.033 ในปี 2560 เป็น 76.61 ในปี 2561 นี้ ลดลง 0.423 ขณะที่คะแนนรวมของเราปีนี้อยู่ที่ 79.450 เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ 80.095 ลดลงไป 0.645

แต่เมื่อดูข้อมูลประกอบ 5 ปีด้วยกันคือตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2561 นี้ เรามีทิศทางหรือแนวโน้มที่ดีขึ้นซึ่งเป็นไปในทิศทางหรือแนวโน้มของคะแนนเฉลี่ยรวมของทั่วโลก โดยเรามีคะแนนรวมดีกว่าค่าเฉลี่ยรวมโลกทุกปี แต่เมื่อลองเจาะดูเป็นด้านๆ จากทั้งหมด 4 ด้านที่เขาจัดอันดับกันแล้ว ขอเจาะดูด้านที่เราควรปรับปรุงอย่างยิ่งก่อนซึ่งดูจากอันดับที่ต่ำมาก จาก 63 ประเทศทั้งหมดเราอยู่ใน Quartile สุดท้าย คือ อันดับตั้งแต่ที่ 48 ในด้านนั้นเป็นต้นไป ซึ่งก็จะพบว่าด้านที่เราควรปรับปรุงอย่างยิ่งได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่อยู่ในอันดับที่ 48 โดยมีปัจจัยสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม (อันดับที่ 58) และปัจจัยการศึกษา (อันดับที่ 56) ที่ต่ำมาก

สำหรับปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่หลายคนอาจเป็นห่วงนั้น ปีนี้เราอยู่อันดับที่ 42 ดีขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่อันดับ 48 จะเห็นได้ว่าถึงแม้จะไม่เข้าข่าย Quartile สุดท้าย แต่เราก็เรียกได้ว่ายังอยู่ในโซนอันตรายเพราะเพิ่งหลุดมาจากอันดับที่ 48! เราถีบตัวได้ดีและหวังว่าจะรักษาพัฒนาการนี้ไว้ได้ สำหรับด้านที่เราทำได้ดีมากยังเป็นด้านสภาวะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) เช่นเดิมโดยมีปัจจัยการค้าระหว่างประเทศ (อันดับที่ 6) และการจ้างงาน (อันดับที่ 4) ที่อยู่ในอันดับที่ดีมาก แต่ทั้งคู่ก็เป็นอันดับที่ต่ำลงจากเดิม (ปีก่อนอยู่ในอันดับที่ 3 ทั้งคู่)

จากที่สรุป ดึงประเด็นย่อๆ มานี้เราเห็นอะไรบ้าง และเราควรเตรียมตัวหรือทำอะไร อย่างไรดี? จะเห็นได้ว่าในด้านที่ต่ำมาก คือปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่อยู่ในอันดับที่ 48 โดยมีปัจจัยสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม (อันดับที่ 58) และปัจจัยการศึกษา (อันดับที่ 56) หรือแม้แต่ปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่เราอยู่อันดับที่ 42 นั้น อาจบอกได้ว่าโดยภาพของมันแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐ แต่เรามีบทบาทได้ในกรณีของที่เรียกเต็มๆ ว่าการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการของรัฐ หรือ Public Private Partnership (PPP) นั่นเอง

เราคงไม่สามารถให้รัฐลงทุนลงแรงทุกอย่างด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ได้อีกต่อไป ผลกระทบมันถึงตัวเรา ธุรกิจเราแน่ แต่ขณะเดียวกันมันสมองของนักธุรกิจก็จะมองเห็นว่านี่คือโอกาสทางธุรกิจชัดๆ ผลตอบแทน สิทธิประโยชน์ การส่งผลบวกย้อนกลับมาที่ภาพรวมและธุรกิจโดยรวม (รวมถึงตัวเรา) ทำให้โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ผุดขึ้นมาหรือถูกผลักดันจนเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจยิ่ง ในทุกขนาดทุก Scale ไม่จำกัดเฉพาะโครงการขนาดยักษ์เท่านั้น และถ้าคิดและมองให้ขาดจะเห็นว่าธุรกิจเกี่ยวเนื่องก็จะได้รับผลพลอยได้/ผลกระทบ ไปด้วย สิ่งเหล่านี้คงจะทำให้เราต้องถามตัวเองว่าในสรรพสิ่ง ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เรามองเห็นอะไร? แล้วเราตัดสินใจอย่างไร?