Economics

มาแล้ว! เหล่า ‘บาริสต้า’ สูงวัย พร้อมเสิร์ฟ ในร้านกาแฟ ‘คาเฟ่ อเมซอน’

มาแล้ว!  “บาริสต้า”สูงวัยกลุ่มแรก ในร้านกาแฟ “คาเฟ่ อเมซอน” ฟอร์ แช้นส์ นำร่องสาขาแรก ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ หวังสร้างคุณค่าผู้สูงอายุ พร้อมขยายโครงการต่อเนื่อง ” โออาร์”  เตรียมเปิด 5 สาขาปีนี้ จ้างกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเพิ่มเติม ลดความเหลื่อมล้ำแก้ปัญหาสังคม  

55506

วันนี้ (15 ม.ค.) บริษัทปตท.น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ เปิดร้านกาแฟ “คาเฟ่ อเมซอน” ฟอร์ แช้นส์ (Café Amazon for Chance) สาขาที่ 7 ด้านหน้า กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นำร่องจ้างงานผู้สูงอายุ โดยมีนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพม.เป็นประธานเปิด โดยมีนายสุชาติ ระมาศ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ การตลาดขายปลีก โออาร์ และคณะผู้บริหารกระทรวง พม. และโออาร์ ร่วมงาน

16242

นายสุชาติ ระมาศ กล่าวว่า จากการที่สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่ การเป็นสังคมผู้สูงอายุ มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วนมากกว่า 10% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ โออาร์จึงจ้างผู้สูงอายุ ทำงานในร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน นำร่องสาขาแรก ที่กระทรวงพม.และพร้อมขยายอย่างต่อเนื่อง โดยจ้างในอัตราสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

สำหรับบรรยากาศของร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน สาขาพม.ในวันเปิดสาขา มีผู้สูงอายุเป็นบาริสต้า ทำงานในร้าน 5 คน อายุตั้งแต่ 49-62 ปี ทั้ง 5 คนต่างกำลังเรียนรู้งานชงกาแฟ รวมถึงบริการอย่างสนุกสนาน และพบว่าเป็นร้านที่มีผู้เข้ามาอุดหนุนจำนวนไม่น้อย

ลุงธานินทร์ จิตระพันธุ์ วัย 60 ปี กำลังฝึกทำงานในร้านอย่างขยันขันแข็ง บอกว่า  ตนยังแข็งแรงดี  และไม่อยากอยู่บ้านเฉยๆ และอยากหารายได้ด้วย เพราะงานสอนพิเศษที่เคยทำ ก็ไม่ค่อยมีเด็กมาเรียนแล้ว จึงมาลงทะเบียนสมัครทำงานกับพม.เมื่อเดือนก่อน ภายใน 1 เดือน ก็ได้รับการติดต่อ และมาทำงานทันที

แม้บ้านจะอยู่ไกลถึงรามคำแหง แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคเลย เพราะสามารถนั่งเรือโดยสารจากบ้านมาร้านได้สะดวก และอนาคต อาจขอย้ายสาขาไปทำงานใกล้บ้าน ลุงย้ำว่า “รู้สึกสนุกกับการทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน “

ทั้งนี้ ร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน เพื่อผู้สูงวัย ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Café Amazon for Chance ของโออาร์ โดยที่ผ่านมาได้จ้างผู้พิการทางการได้ยินทำงานใน 6 สาขา ผ่านความร่วมมือกับ บริษัทสานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มปตท.ทำการฝึกอบรม และพัฒนาทักษะการทำงาน ให้เป็นบาริสต้าตามมาตรฐานของร้านคาเฟ่ อเมซอน

สำหรับในปี 2563 ของ Café Amazon for Chance นายสุชาติ ระบุว่า จะเปิดรวม 5 สาขา ประกอบด้วย สาขาพม.ที่จ้างผู้สูงอายุทำงาน ที่เปิดในวันนี้ ,สาขาสัตหีบ จ้างทหารผ่านศึกที่สูญเสียอวัยวะทำงาน  ,สาขาสำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) จ้างผู้พิการทางการได้ยิน ,สาขาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ้างผู้พิการทางการเรียนรู้ (ออทิสติก) และสาขาคลอง 5 มีนบุรี จ้างผู้ที่อยู่ในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งชายและหญิง ดังนั้น ณ สิ้นปี 2563 Café Amazon for Chance มีทั้งสิ้น 11 สาขา ขณะนี้ดำเนินการนำร่องในสาขาที่บริหารโดยโออาร์ และกำลังจะเดินสายไปนำเสนอแนวคิดกับแฟรนไชส์ที่มีสัดส่วน 80% ของร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน ทั้งหมด เพื่อจ้างงานผู้ด้อยโอกาสในสัดส่วนที่มากขึ้น จากอัตราการจ้างงานทั้งหมด 16,000 คน หรือจ้างงานสาขาละ 4-6 คน

21174
สุชาติ ระมาศ

นายสุชาติ กล่าวถึงการขยายสาขาของร้าน กาแฟ คาเฟ่ อเมซอน ในภาพรวมว่า สิ้นปี 2562 มีสาขารวม 3,150 สาขา ในไทย 2,900 สาขา อีก 10 ประเทศ ประมาณ 250 สาขา กำลังเปิดที่เวียดนามในเร็วๆนี้เป็นประเทศที่ 11 โดยปีนี้ทั้งปีจะเปิดสาขาใหม่ใกล้เคียงกับปี 2562 หรือ ประมาณ 400 สาขา โดยเราไม่มีข้อจำกัดในเรื่องขนาดพื้นที่ เพราะสามารถออกแบบให้สอดคล้องกับพื้นที่ได้

สำหรับตลาดกาแฟของไทยในปีนี้ เขา ยอมรับว่ามีผู้เข้ามาในธุรกิจมากขึ้น ทั้งของคนไทยและของต่างประเทศ แต่ขณะเดียวกันการบริโภคกาแฟของไทยก็ยังมีโอกาสขยายตัว โดยปัจจุบันมีอัตราการบริโภค 300 แก้วต่อคนต่อปี หรือ 1.2-1.3 กก.ต่อคนต่อปี ขณะที่ตลาดใหญ่อย่างญี่ปุ่น บริโภคกาแฟ 400 แก้วต่อคนต่อปี หรือ 3 กก.ต่อคนต่อปี โดยปัจจัยที่เราจะรักษาส่วนแบ่งการตลาดของเราต่อไปได้ ต้องเน้นมาตรฐานของกาแฟ และการบริการเป็นหลัก

ทั้งนี้ร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน จะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของธุรกิจค้าปลีก ที่จะเข้ามาเสริมธุรกิจน้ำมันในปั๊ม ซึ่งในอนาคตอาจจะอยู่ยากมากขึ้น เพราะมีรถยนต์ใช้ไฟฟ้ามาแทนที่ โดยโออาร์ก็พยายามช่วยให้ดีลเลอร์เจ้าของปั๊มปรับตัว เช่น การเปิดให้ดึงร้านอาหารดังๆของท้องถิ่นเข้ามาเสริมทัพ รวมถึงขยาย “ไทยเด็ด” หรือ โครงการเชื่อมโยง นำสินค้าท้องถิ่นทั้งโอทอป และสินค้าของผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้มาตรฐานมาขายในปั๊มมากขึ้น ณ สิ้นปี 2562 มี 177 แห่งในปั๊มแล้ว

“ตอนนี้ปตท.มีกว่า 100 แบรนด์ที่ทำตลาดค้าปลีกด้วยกัน ทั้งในปั๊ม และร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน นอกจากจะช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจค้าปลีกให้เจ้าของปั๊มแล้ว ยังสนับสนุนสินค้าท้องถิ่น รวมไปสินค้าของเอสเอ็มอี ให้มีช่องทางการตลาดมากขึ้น “

21200
ทางด้านนายจุติ ไกรฤกษ์ กล่าวถึงความร่วมมือกับโออาร์ ว่า รัฐบาลได้มุ่งเน้นการปรับปรุงระบบสวัสดิการ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ พม.ซึ่งมีภารกิจพัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพ มีกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายอยู่ในความรับผิดชอบ ได้แก่ เด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ คนไร้ที่พึ่ง และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ที่ผ่านมาทางกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในรูปแบบการดำเนินกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) โดยสนับสนุนผู้ด้อยโอกาสเข้าสู่ตลาดแรงงาน พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพแรงงานและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน

และความร่วมมือกับโออาร์ ก็เป็นส่วนหนึ่ง วัตถุประสงค์ เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายในความดูแลของพม. ให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพ ฝึกทักษะอาชีพ ส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุในการจ้างงานผู้สูงอายุเป็นบาริสต้ากาแฟ และภายในร้านยังนำสินค้าและผลิตภัณฑ์ของคนไร้ที่พึ่ง สมาชิกนิคมสร้างตนเอง ราษฎรบนพื้นที่สูง มาจัดจำหน่าย เพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว

“ความร่วมมือกับโออาร์ เป็นต้นแบบความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จ และผลักดันการมีส่วนร่วม ให้ภาคธุรกิจเอกชน เข้ามาเป็นหุ้นส่วนทางสังคม ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมร่วมกัน นำไปสู่การสร้างชุมชนเข้มแข็ง ทำให้สังคมมีความสุขและยั่งยืน “

 

Avatar photo