Economics

พลังงานเตรียมรับมือเพิ่มพลังงานทดแทน 30% ใน 12 ปี

1531916041766

การพัฒนาที่ยังยืน(Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นเป้าหมายการพัฒนา ที่นานาชาติรวมทั้งประเทศไทยได้ให้คำมั่นในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อเดือนกันยายน 2558  เพื่อสานต่อจากเป้าหมายการพัฒนาแห่ง สหวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) ที่ได้สิ้นสุดลงเมื่อ 2557

โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาของโลกในระยะ 15 ปีข้างหน้า (2558 -2573) ขึ้นใหม่โดยมีแนวคิดสร้างความสมดุลของการพัฒนาให้ครอบคลุมมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วยเป้าหมาย (Goals) 17 ข้อ 169 เป้าประสงค์ และมากกว่า 240 ตัวชี้วัดที่วัดผลการดำเนินงาน

และในข้อ 7 ระบุชัดเจนว่า Affordable and Cleanergy หรือการเรียกร้องให้มีพลังงานราคาถูก และสะอาด ภายในปี 2573 ทั่วโลกจึงมีเป้าหมายที่จะทำให้เกิดการลงทุนพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ชีวมวล รวมถึงไทยในฐานะที่ประกาศร่วมในข้อผูกพันนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเดินหน้าตาม

พลังงานเดินหน้าผลิตพลังงานทดแทน 30%

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะฝ่ายปฏิบัติการจึงเร่งวางแผน โดยมีแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) รองรับกรอบเบื้องต้นให้ไทยเดินหน้าไปสู่การใช้พลังงานทดแทนจาก 14.5% ในปัจจุบัน เป็น 30 % ในปี 2573 หรือใน 12 ปีข้างหน้า

หากทำได้ตามแผน กำลังผลิตติดตั้งของพลังงานทดแทนต้องเพิ่มจาก 20,000 เมกะวัตต์เป็นกว่า 40,000 เมกะวัตต์ส่วนจะเป็นพลังงานทดแทนประเภทใดนั้นขึ้นกับการเคาะแผน PDP และ AEDP ที่กระทรวงพลังงานกำลังปรับทบทวนเพื่อให้สอดประสานกับเป้าหมาย SDGs

การพึ่งพาพลังงานทดแทนในสัดส่วนที่มากขึ้นอย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายแม้แต่หัวเรือใหญ่อย่างกระทรวงพลังงานเองยังระบุว่า  “เราใจร้อนไม่ได้ เพราะอนาคตพลังงานทดแทนจะเป็นระบบใหญ่มาก หากไม่พร้อมจะโกลาหล และไปกระทบกับความมั่นคงของระบบในภาพรวม” นายศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ย้ำ

1531916023305

ดึงประชาชนเข้ามามีส่วนผลิต

กลไกสำคัญที่จะมารองรับการขับเคลื่อนงานใหญ่อย่างนี้ หนีไม่พ้นการมีส่วนร่วมของ “ประชาชน” เพราะต้องเป็นระบบกระจายการผลิต ผลิตเองใช้เองส่วนเกินขายระหว่างผู้ใช้ด้วยกัน หรือขายเข้าระบบ ความชัดเจนนี้กระทรวงพลังงานจะประกาศในปลายปีนี้นำร่องจากการรับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์จากประชาชน

การเดินหน้าของไทยอย่างนี้ทำให้ ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) แสดงความเป็นห่วง ดร.ฟาร์ตี ไบโรล์ ผู้อำนวยการ IEA ระบุในการเดินทางมาหารือและบรรยายสถานการณ์พลังงานโลกให้กับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า พลังงานทดแทนมีประโยชน์มาก แต่ความท้าทาย คือต้นทุน และความไม่แน่นอนของการผลิต เพราะขึ้นกับภาวะทางธรรมชาติ เช่น ขึ้นกับปริมาณแสงอาทิตย์ หากไม่มีแสงมากพอก็ผลิตไฟฟ้าไม่ได้ เป็นต้น รูปแบบที่ดีที่สุดต้องผสมผสานเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบ

Grid คือหัวใจความสำเร็จ

ในส่วนของต้นทุน ดร.ฟาร์ตี ระบุว่าเริ่มคลี่คลายแล้ว เพราะต้นทุนพลังงานทดแทนต่ำลง  โดยเฉพาะแสงอาทิตย์โดยใช้เวลาเพียง 3 ปีต้นทุนลดลงถึง 50% และ 3 ปีข้างหน้าจะลดลงอีก สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า คือการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อระหว่างการผลิตพลังงานทดแทนกับระบบไฟฟ้าทำอย่างไรให้เป็นเนื้อเดียวกัน

นายศิริ เห็นด้วยว่าหัวใจอยู่ที่ Grid หรือเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันเพื่อจ่ายไฟฟ้าจากผู้ผลิตต่างๆไปยังผู้บริโภคที่ต้องไหลลื่นไม่สะดุด เขา ระบุว่า เรื่องนี้จึงต้องผ่านการศึกษาอย่างรอบคอบ ซึ่งตอนนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างการศึกษา โดยนำประสบการณ์ของต่างประเทศมาพิจารณา และปรับให้เข้ากับบริบทของไทย เพราะแต่ละประเทศมีบริบทแตกต่างกันไป ซึ่งกฟผ.ร่วมมือกับ IEA เรื่องแนวทางการเชื่อมโยงพลังงานทดแทนกับเครือข่ายสายส่งไฟฟ้า เพื่อหาทางอุดช่องว่างจากความไม่แน่นอนของกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับ IEA ในเรื่องการนำ Big Data มาใช้ในศูนย์ข้อมูลพลังงาน  รวมถึงการศึกษากระบวนการพัฒนาไปสู่การผลิตไฟฟ้าของครัวเรือนที่มีประสิทธิภาพ เช่น ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จากหลังคาบ้านเรือนต่างๆ ทั้งเพื่อใช้เองและขายเข้าระบบ ทั้งนี้เพื่อให้กฟผ.เดินไปสู่เส้นทางของการผลิตไฟฟ้าในอนาคตที่มีพลังงานทดแทนในสัดส่วนถึง 30% โดยมีประชาชนมีบทบาทเป็นผู้ผลิตเองด้วย จากอดีตที่เป็นผู้ใช้เพียงอย่างเดียว

กฟผ.เตรียมพร้อมรับมือ

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์. รองผู้ว่าการนโยบายและแผน กฟผ. เล่ารายละเอียดว่า 1 ปีที่ผ่านมากระทรวงพลังงานศึกษาร่วมกับกฟผ.เรื่องการเชื่อมโยงโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนกับเครือขายระบบไฟฟ้าหลักแล้วภายใต้ปัจจัยมีไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเข้าระบบมากขึ้น ซึ่งจะมีการเปิดเผยต่อสาธารณะต่อไป ขณะเดียวกันจะใช้เวลาศึกษาอีก 1 ปีเพื่อลงลึกในเชิงปฏิบัติการมากขึ้น โดยมีรายละเอียดของประเภทพลังงานทดแทนที่จะเข้าระบบเป็นตัวตั้งในการศึกษา ทั้งนี้เพื่อให้เราพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้จริง

ต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดว่าเป้าหมายการผลิตพลังงานทดแทน 30% ของไทยจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร และประชาชนตัวเล็กๆจะมีบทบาทเป็นผู้ผลิตเข้าระบบอย่างจริงจังได้หรือไม่

 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight