Politics

ปชป.แพแตก! สะท้อนภาวะผู้นำหรือเกมการเมือง??

“พรรคแตก เล่นพรรคเล่นพวก เอาแต่พวกตัวเอง เข้าไม่ถึง ไม่ให้ความสำคัญ บริหารไม่เป็น ถูกลดบทบาท” เหล่านี้คือ สิ่งที่ได้ยินจากคนในพรรคประชาธิปัตย์พูดถึงมากที่สุดเวลานี้ ยิ่งเห็น กรณ์ จาติกวณิช ประกาศอำลาทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ไปท่ามกลางงานเลี้ยงของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม วางแผนไว้ล่วงหน้าแค่ไหน หรือแค่ปาหี่ให้คนดูก็เถอะ

แต่ปรากฎการณ์ของ กรณ์ จาติกวณิช กำลังจะกลายเป็นฮีโร่ ของคนในพรรคประชาธิปัตย์กลุ่มที่ไม่ปลื้มหัวหน้าพรรคอย่าง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ที่ใครต่อใครมีอาการแบบไม่แฮปปี้ ไม่ว่าจะเป็นส.ส.ภาคไหนก็ตาม หรือแม้แต่ส.ส.ภาคใต้ด้วยกันเอง ยังเรียงหน้าลุกขึ้นมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว สาวไส้ปัญหาการบริหารจัดการภายในพรรคทันที

อภิสิทธิ์11

ไม่ว่าจะเป็น เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวพูดถึงการลาออกของ กรณ์ โดยตอนหนึ่งระบุว่า “ปกติที่ผ่านมาเปรียบเหมือนประเพณีปฎิบัติของการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าผู้สมัครคนใดได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค คนแพ้ก็จะได้รับการสนับสนุนให้เป็นรองหัวหน้าพรรค เช่นเมื่อครั้ง บัญญัติ บรรทัดฐาน ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค  อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้พ่ายแพ้ก็ได้เป็นรองหัวหน้าพรรค

ตอน อภิสิทธิ์ ได้รับไพรมารีโหวตให้เป็นหัวหน้าพรรค อลงกรณ์ พลบุตร ผู้พ่ายแพ้ก็ได้รับการสนับสนุนให้เป็นรองหัวหน้าพรรคเช่นกัน แต่ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งล่าสุดสมัยของ จุรินทร์ ผู้พ่ายแพ้ไม่มีใครได้เป็นรองหัวหน้าพรรคแม้แต่คนเดียว

กรณ์33

เช่นเดียวกับ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ที่โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ขอยกบางส่วนที่สาทิตย์เขียนถึงกรณ์ โดยระบุว่า จริงๆ เคยคุยกับกรณ์หลายครั้งก่อนหน้านี้ เรื่องการเมืองในพรรค รู้ว่าในใจของกรณ์ รู้ว่าเขาถูกลดบทบาท และไม่ได้รับโอกาสจากพรรค แต่ กรณ์ เป็นสุภาพบุรุษมากพอที่จะไม่ยกเรื่องนี้มาเป็นประเด็น

ในการคุยกัน เขามองว่า การเมืองเปลี่ยน พรรคการเมืองต้องเปลี่ยนทั้งวิธีคิด และการทำงาน เขาพยายามเสนอแนวคิดหลายอย่างในที่ประชุมพรรค แต่ไม่ได้รับความใส่ใจจากผู้รับผิดชอบ ซ้ำยังมีเสียงเหน็บแนมจากบางส่วนที่อยู้ใกล้ชิดผู้มีอำนาจ แต่ดูเหมือนกรณ์จะขำๆมากกว่า

สาทิตย์ บอกว่ากรณ์มีข้อกังวล และแนวคิดที่ก้าวหน้าหลายเรื่อง ที่อยากทำแต่ไม่มีโอกาส และอาจคิดว่า ถึงเวลาที่ต้องลงมือสร้างเอง

สาทิตย์ ยังสะท้อนด้วยว่า “ความจริงมีคนที่ลาออกจากพรรคเงียบๆ แต่ไม่เป็นข่าวอีกหลายคน ผมว่ามันสะท้อนปัญหาการบริหารภายในพรรคแน่นอน แต่หากคนมีอำนาจยังคิดกันแค่ว่ามันเป็นเรื่องปกติ ต้องรับรู้ด้วยครับว่า สมาชิก และคนที่สนับสนุนพรรคหลายคน รู้สึกท้อถอย และสั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อการลาออกของคนระดับแกนนำพรรค”

82721666 557103195018844 6379663959561076736 n 1

นี่คือเสียงสะท้อนจากคนภายในพรรคประชาธิปัตย์ จะอยู่มุ้งไหนกลุ่มไหน ดูเหมือนมีเสียงสะท้อนที่คล้ายๆ กัน ยังมีอีกหลายคนที่พูดคุยด้วยแล้วมีความรู้สึกเหมือนๆ กัน

การลาออกของ กรณ์ ส่วนหนึ่งมาจากการถูกเพิกเฉยของผู้มีอำนาจ และผู้ใหญ่ในพรรค ที่ทำให้ กรณ์ ไม่มีตำแหน่งใดๆ ในพรรค หรือแทบจะไม่ได้ให้ความสำคัญ จนบางครั้งถูกมองเหมือนอากาศไปแล้ว อาจจะด้วยคนละสาย คนละขั้วก็เป็นได้

แต่ที่มีการพูดกันมากในพรรคประชาธิปัตย์ยุคนี้ จนทำให้หลายคนในพรรครู้สึกไม่ดีต่อพรรคประชาธิปัตย์ รู้สึกเหมือน แพแตก แตกแยก มีหลายขั้ว หลายมุ้ง หลายกลุ่ม แบบไม่รู้ตัว สิ่งเหล่านี้มีการพูดกันถึงภาวะผู้นำของพรรคในยุคนี้ด้วยว่า ต่างจากยุคก่อนๆ โดยสิ้นเชิง

สิ่งที่ทำให้เห็นชัดเจนก็เกิดจากเสียงสะท้อนของส.ส.ด้วยกันเอง บ้างก็บอกว่าถ้าไม่ใช่กลุ่มที่สนิทชิดเชื้อกับหัวหน้าพรรค พวกเขาในฐานะส.ส.ในพื้นที่ จะเข้าไม่ถึงเลย มีเรื่องอะไรจะแจ้งข่าว จะขอความช่วยเหลือก็เข้าไม่ถึง จะมีเพียงกลุ่มใกล้ชิดเท่านั้นที่จะเข้าถึงหัวหน้าได้ เรียกว่า “เข้าถึงยาก” ทำให้ส.ส.บางกลุ่มรู้สึกว้าเหว่

สภาพแบบนี้จึงทำให้เกิดความเหินห่าง สะท้อนให้เห็นชัดเจนเมื่อมีการประชุมส.ส.ของพรรค ปกติ ส.ส.ในพื้นที่แต่ละจังหวัดจะตื่นเต้นต่อการเข้ามาประชุมร่วม แต่ยุคหลังส.ส.ที่เข้าร่วมประชุมมีสภาพเหมือนถูกบังคับ บางส่วนก็เข้าร่วมเสียไม่ได้ เข้ามาประชุมช้าบ้าง ไม่มาบ้าง เหมือนไม่ให้ความสำคัญ ต่างจากเมื่อก่อนการประชุมส.ส.ถือว่าสำคัญมากที่ทุกคนให้ความร่วมมือ

เสียงที่สะท้อนออกมาอีกอย่างก็คือ หัวหน้าพรรคก่อนหน้านี้เขาจะดีลได้ทุกกลุ่ม จะขั้วที่ชอบหรือไม่ชอบก็ดีลได้หมด แต่ยุคนี้ดูเหมือนเลือกที่จะดีลกับกลุ่มที่เป็นของตัวเองเสียมากกว่า ขั้วไหนไม่ชอบก็ดูจะห่างเหินไป ทั้งหมดนี้คือ เสียงสะท้อนคนในพรรคประชาธิปัตย์ถึงภาวะผู้นำที่เป็นอยู่

สำหรับ กรณ์ อาจจะมองได้หลายแง่มุม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะถูกพรรคลดบทบาท จนไร้ความหมาย แต่อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขากำลังมองหาอนาคตทางการเมืองที่กำลังเปลี่ยนไปกับรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน จึงไม่แปลกใจกับเกมออกไปแสวงตั้งพรรคใหม่ เพื่อเป็นบททดสอบ ก่อนที่จะถูกพรรคพลังประชารัฐดึงเข้าร่วมรัฐบาลจะเป็นตำแหน่งใดต้องติดตาม

จุรินทร์66

หากแต่จะลาออกเพื่อรอเสียบตำแหน่งในรัฐบาลเลยดูมันง่ายเกินไป ฉะนั้นหากตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาแล้วเสียบร่วมรัฐบาลดูเข้าท่ากว่า แต่เกมที่ กรณ์ วางหมากไว้เชื่อว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์เองก็เข้าใจดี ก็เพราะว่า ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ นั่นเอง

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ จะยังคงอยู่ให้เป็นสถาบันการเมืองได้อย่างไรต่อไป เป็นเรื่องที่น่าคิด แต่งานนี้สุดท้ายแล้วอดีตหัวหน้า ชวน หลีกภัย น่าจะเข้ามาเป็นคนวางหมากในที่สุดเพื่อให้พรรคนี้ดำรงอยู่ได้ต่อไป

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight