Digital Economy

Google for Thailand เปิด 4 แกนหลักธุรกิจตอบโจทย์ผู้ใช้งานไทย

Gstation
เปิดตัว Google Station

Google ประกาศวิสัยทัศน์หลัก 4 ข้อผ่านงาน “Google for Thailand” จับมือ CAT เปิดตัว “Google Station” ให้บริการฟรีไวไฟตามจุดต่าง ๆ ทั่วประเทศเป็นประเทศที่ 4 ของโลกรองจากอินเดีย อินโดนีเซีย และเม็กซิโก, จับมือทรูดิจิทัลพาร์คเปิดตัว “Google Academy Bangkok”เพื่อเพิ่มทักษะดิจิทัล, รองรับกลุ่มครีเอเตอร์ด้วย “YouTube Space” และเพิ่มบริการให้เอสเอ็มอีด้วย Google My Business

เป็นงานใหญ่ประจำปีของกูเกิล ประเทศไทยจริง ๆ สำหรับ “Google for Thailand” ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของกูเกิล ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคม หรือดีอี และพาร์ทเนอร์ของกูเกิลอีกเป็นจำนวนมาก โดยหัวใจสำคัญที่กูเกิลต้องการนำเสนอในงานดังกล่าวประกอบด้วย 4 เสาหลักดังนี้

1. Access
2. Education & Skilling
3. Localized Product & Local Content
4. SME & Startup

เปิดตัว “Google Station”

google station
นางอันจาลี โจชิ ผู้บริหารด้าน Product Management ของกูเกิล

เมื่อปี 2559 กูเกิลมีการเปิดตัวบริการฟรีไวไฟในอินเดียซึ่งเรียกเสียงฮือฮาได้ทั่วโลก และต่อมาได้มีการขยายบริการฟรีไวไฟนี้ไปในอีกหลายประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย เม็กซิโก แต่ตามโจทย์ข้อ Access ทำให้กูเกิล ประเทศไทย จับมือกับ CAT Telecom และยูนิลีเวอร์ เปิดตัวบริการ Google Station ขึ้นในประเทศไทยเป็นประเทศที่ 4 ของโลก โดยมีพื้นที่ให้บริการหลากหลาย เช่น หัวลำโพง กรุงเทพมหานคร, จังหวัดพิจิตร, จังหวัดเลย เป็นต้น

โดยนาง อันจาลี โจชิ รองประธานฝ่ายบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ของกูเกิล มองว่า ผู้ที่จะกลายเป็นผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตพันล้านคนต่อไปนั้นไม่ใช่คนจากประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา หรือสหภาพยุโรป แต่เป็นประชากรจากอินเดีย ไทย อินโดนีเซีย ฯลฯ นี้เอง แต่ปัญหาที่พบก็คือ ประชากรเหล่านี้ไม่สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตคุณภาพสูงได้ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กูเกิลมีการพัฒนาระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โก (Go Eiditon) และสร้างแอพพลิเคชันเพื่อรองรับสมาร์ทโฟนที่รันแอนดรอยด์ โก โดยเฉพาะขึ้นมา เช่น ยูทูบโก

ส่วนบริการ Google Station นี้ถือเป็นความร่วมมือครั้งใหญ่ของกูเกิล แปซิฟิก กับผู้ประกอบการไทยอย่าง CAT Telecom ที่กูเกิลระบุว่าไม่มีการเก็บข้อมูลเป็นกรณีพิเศษ

เปิด “Google Academy Bangkok”

google Academy
นายเบน คิง ผู้อำนวยการกูเกิล ประจำประเทศไทย

ในข้อต่อมา กูเกิลมีการส่งเสริมการศึกษาด้วยการเปิดตัว Google Academy Bangkok โดยจะตั้งอยู่ในทรูดิจิทัล พาร์ค รองรับการจัดคอร์สต่าง ๆ ร่วมกับพาร์ทเนอร์ ซึ่งในจุดนี้ นายเบน คิง ผู้อำนวยการกูเกิล ประเทศไทย เผยว่า ที่ผ่านมา กูเกิลมีการเปิดตัวโครงการเพื่อเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลมากมาย เช่น THAIDIGIZEN และมองว่า การมีคนที่สามารถใช้งานดิจิทัลได้เข้าไปในธุรกิจแม้จะไม่กี่คนนั้น ก็จะทำให้ธุรกิจก็จะพลิกไปได้อย่างมาก และเมื่อธุรกิจเติบโตบนโลกดิจิทัลได้ เขาก็จะไปได้อีกไกล ดังนั้นหน้าที่ของกูเกิลคือการทำให้ทักษะดิจิทัลขยายออกไปให้มากที่สุด

สนับสนุนนักพัฒนาคอนเทนต์ไทยด้วย “YouTube Space”

youtube space
คุณมุกพิม อนันตชัย ผู้บริหารของ YouTube Partnership

เป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกเช่นกัน สำหรับการเปิดตัว YouTube Space ซึ่งเป็นสถานที่ที่ยูทูบเตรียมไว้ให้กับครีเอเตอร์ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนไอเดีย รวมถึงมีสตูดิโอการถ่ายทำ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น กล้อง 360 องศาให้บริการฟรร นอกจากนั้นยังมีผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้ด้วย

โดยนางสาวมุกพิม อนันตชัย หัวหน้าฝ่าย YouTube Partnership ของกูเกิล ประเทศไทยเผยว่า ประเทศไทยได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ยอดเยี่ยม เห็นได้จาก

  • ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีการบริโภคคอนเทนต์บนยูทูบติด 1 ใน 10 ของโลก แม้จะมีประชากรอินเทอร์เน็ตเพียง 40 กว่าล้านคนก็ตาม
  • การอัปโหลดคอนเทนต์ยูทูบในปีที่ผ่านมาว่ามีมากกว่า 2 พันล้านชิ้น
  • ประเทศไทยเป็นประเทศที่มี Gold Channels มากเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

การเปิดตัว YouTube Space จึงเป็นการบอกว่า กูเกิล ประเทศไทยให้ความสำคัญกับครีเอเตอร์ไทยในการสร้างคอนเทนต์ที่ดี โดยมุกพิมยังได้เผยว่า การมี YouTube Space จะตอบโจทย์การพัฒนาคอนเทนต์สามข้อที่ต้องมี นั่นคือ ต้องมีคุณภาพที่ดี, ต้องมีการ collaboration และต้องสร้างแรงบันดาลใจได้ โดย YouTube Space จะเปิดตัวในเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่ยังไม่ระบุว่าเป็นที่ใด และใน YouTube Space ยังมีกิจกรรมพิเศษสองโครงการ ได้แก่ YouTube NextUp สำหรับรองรับครีเอเตอร์ระดับกลาง มีโปรแกรมสอนการสร้างคอนเทนต์ตั้งแต่ก่อนจนถึงหลังการผลิต และซัพพอร์ตอย่างใกล้ชิดจากทีมยูทูบ และ YouTube Creators for Change สำหรับสร้างคอนเทนต์พิเศษเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของผู้คน เช่น ลดความเกลียดชังบนโลกออนไลน์ ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีการจับมือกับ AIS พัฒนาแพกเกจพิเศษสำหรับ YouTube Go ออกมาตอบสนองความต้องการของตลาดไทยด้วย

เพิ่ม “Motorcycle Mode” ใน Google Maps

google maps
ปรับแต่งแอพพลิเคชัน Google Maps ให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย

สำหรับเสาหลักข้อสามเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเดินทาง หรือก็คือ Google Maps ที่กูเกิลบอกว่าประเทศไทยมีปัญหาจราจรมากเป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคนไทยจำนวนมากใช้เวลาอยู่บนท้องถนน ทางกูเกิลจึงมีการปรับ Google Maps ให้เข้ากับบริบทของไทย ด้วยการเปิดตัว Motorcycle Mode และมีการหาทางลัดต่าง ๆ ให้ได้ รวมถึงรองรับคำสั่งเสียงภาษาไทยด้วย และๆเพื่อให้โหมดดังกล่าวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กูเกิลมีการเพิ่มฐานข้อมูลถนน – ทางลัดเข้าไปเป็นหลักหมื่นข้อมูล โดยรองรับถนนเส้นเล็ก ๆ ที่คัดเลือกขึ้นมาสำหรับรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะ

จับมือ SCB เพิ่มฟีเจอร์เพื่อเอสเอ็มอีบน Google My Business

google my business
ไมเคิล จิตติวาณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด กูเกิล ประเทศไทย ขณะกล่าวบนเวทีเกี่ยวกับบริการของ Google My Business

เสาหลักสุดท้ายที่กูเกิล ประเทศไทยประกาศในงาน Google for Thailand คือเรื่องของการสร้างธุรกิจ ที่เน้นไปที่กลุ่มเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยนายไมเคิล จิตติวาณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดประจำกูเกิล ประเทศไทยเผยว่า ที่ผ่านมา กูเกิลมี 3 โปรแกรมเพื่อสตาร์ทอัพไทย ได้แก่ Google for Entrepreneurs, Google Developers Launchpad และ Indie Games Accellerator สำหรับนักพัฒนาเกมโดยเฉพาะ

สำหรับเอสเอ็มอี กูเกิล ประเทศไทยมีการลงไปช่วยเอสเอ็มอีเช่นกัน เนื่องจากข้อมูลจาก AMI Research ระบุว่า ปัจจุบัน 13% ของเอสเอ็มอีไทยเท่านั้นที่มีเว็บไซต์ แสดงว่ายังมีเอสเอ็มอีจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงดิจิทัล แต่สำหรับคนที่ไม่มีเว็บไซต์ กูเกิลมีบริการชื่อ Google My Business และในบริการนั้นพบว่า คนไทยเสิร์ชหาคำว่า “ร้าน” และ “ใกล้ฉัน” เพิ่มขึ้น 2 และ 3 เท่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น จึงมองว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ที่มี Google My Business ให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ ในการเพิ่มการใช้งาน Google My Business กูเกิลยังได้จับมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ในการช่วยเอสเอ็มอีไทยเข้าถึงบริการนี้ด้วย

ด้าน ฯพณฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เผยในงาน Google for Thailand ว่า รัฐบาลทุกประเทศรวมถึงไทยมีความมุ่งหวังในการพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน แต่ถ้าใช้วิธีการเดิม ๆ การพัฒนาประเทศก็จะทำได้จำกัด ทั้งนี้การมาถึงของเทคโนโลยีดิจิทัลคือโอกาสของคนทุกคน แต่นอกจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี เพื่อให้เราสามารถใช้เครื่องมือนั้นได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด

“ต้องคิดถึงคนทุกกลุ่ม อย่าปล่อยให้ใครถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง สิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐบาลมองก็คือจะทำอย่างไรให้การพัฒนานี้เป็นไปอย่างต่อเนื่องในอีก 20 ปีข้างหน้า จะทำอย่างไรให้ประชาชนในประเทศไทยมีชีวิตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในนามของประเทศไทย ผมพร้อมจะร่วมมือกับทุกประเทศ”

อย่างไรก็ดี ในช่วงให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์ ได้มีการถามนาย เบน คิง เกี่ยวกับนโยบายเรื่องการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% กับผู้ประกอบการออนไลน์ของกรมสรรพากร ว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร โดยนายเบน คิงปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าว

Avatar photo