Economics

สั่ง ทย. หาข้อสรุป ‘โครงการสนามบินนครปฐม-พัทลุง’ จะเดินหน้าต่อหรือพอแค่นี้?

“ถาวร” สั่ง “ทย.” หาข้อสรุป “สนามบินนครปฐม-พัทลุง” จะสร้างหรือไม่สร้าง ก็ต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ พร้อมมอบนโยบายสนามบินภูธรรีดรายได้เชิงพาณิชย์เพิ่ม

2MOT 2562 12 17 สัมมนาฯโครงการท่าอากาศยานนครปฐม 19
                                                                           แฟ้มภาพ

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) วันนี้ (13 ม.ค.) เปิดเผยว่า ในส่วนของการพัฒนาท่าอากาศยานใหม่ๆ  ได้มอบนโยบายให้ ทย. เร่งหาข้อสรุปในโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนครปฐมและท่าอากาศยานพัทลุงว่า ทย. ต้องการจะเดินหน้าผลักดันโครงการต่อหรือไม่ ถ้าตัดสินใจอย่างไร ก็ต้องตอบคำถามสังคมให้ได้

ด้านท่าอากาศยานเบตงที่กำลังจะเปิดให้บริการนั้น ก็ยืนยันว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนมิถุนายนนี้อย่างแน่นอน แต่ล่าสุดยังไม่ได้สรุปสายการบินใดที่จะเปิดให้บริการบ้าง เพราะสายการบินนกแอร์และสายการบินบางกอกแอร์เวย์สที่แสดงความสนใจ อยู่ระหว่างจัดทำแผนธุรกิจและจะให้คำตอบในเร็วๆ นี้

สำหรับกรณีที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. สนใจจะเข้ามาบริหารท่าอากาศยานในสังกัด ทย. จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานตาก ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานอุดรธานีนั้น นายถาวรกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการหารือและมอบนโยบายเรื่องดังกล่าว แต่หาก ทอท. สนใจเข้ามาบริหารจริง ก็ต้องทำตามขั้นตอนการประมูลแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) เหมือนเอกชนรายอื่นๆ

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ทอท. จะส่งเงินเข้ากองทุน ทย. เพื่อแลกกับการเข้ามาบริหารท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งนั้น นายถาวรกล่าวว่า ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก ทย. ไม่สามารถนำทรัพย์ของรัฐบาลไปให้เอกชนได้ แต่ ทอท. ต้องการสนับสนุนเงินเข้ากองทุน ทย. ก็ยินดี

fig 06 08 2019 06 49 11

นายถาวรกล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้ ทย. ศึกษาแนวทางการเพิ่มรายได้ให้ท่าอากาศยานในสังกัดทั้ง 29 แห่ง โดยมุ่งเน้นการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร (Terminal) และพื้นที่ว่างเปล่าภายในท่าอากาศยาน เพื่อเพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์ของ ทย. จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี

จากนโยบายดังกล่าว ทย. จึงจะศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รูปแบบการลงทุน และธุรกิจที่เหมาะสมกับสนามบินแต่ละแห่ง คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 6 เดือน โดยเบื้องต้นคาดว่าท่าอากาศยานที่มีความเป็นได้สูงในการพัฒนา คือ ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานอุบลราชธานี และท่าอากาศยานอุดรธานี ส่วนธุรกิจที่เป็นไปได้และต่อเนื่องกับธุรกิจการบิน คือ โรงแรม, โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ, หอประชุม เป็นต้น

นอกจากนี้ ได้สั่งให้ ทย. ไปประสานกับการท่องเที่ยว หน่วยงานท้องถิ่น สายการบิน และหน่วยงานที่เกี่ยวต้อง เพื่อสร้างกิจกรรมและดึงดูดให้ผู้โดยสารมาใช้งานสนามบินมากขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้ให้ท่าอากาศยาน 10 กว่าแห่งที่มีผลประกอบการติดลบ รวมถึงต้องลดต้นทุนและส่งเสริมให้สนามบินเป็นศูนย์กระจายสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรตามฤดูกาล

Avatar photo