Finance

จับตา!! บจ.ใหญ่ขายหุ้นบริษัทลูกหนุนกำไรครึ่งปีแรก

112

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง  โดยดัชนีเคยปรับตัวขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 1,838.96 จุดในไตรมาสแรก และปรับตัวลดลงลึกสุดที่ 1,595.58 จุดในไตรมาสสองที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามภาพรวมของดัชนีหุ้นไทยครึ่งปีแรกปรับลดลง 9.02% และดัชนีหุ้นกลุ่มแต่ละอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ปรับลดลง มีเพียงหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมโรงพยาบาล และกองรีทที่ดัชนีกลุ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น

จากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า ในครึ่งแรกของปี 2561 พบว่า มีบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ จำนวน 7 บริษัท ได้มีการรายงานขายหุ้นบริษัทในลูกที่มีฐานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่ง และมีขนาดมูลค่ารายการสูงสุดที่ 1 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียนที่ทำรายการแจ้งกับตลาดหลักทรัพย์ พบว่า วัตถุประสงค์ในการทำรายการขายครั้งนี้ มีทั้งเหตุผลของการเพิ่มสภาพคล่องหุ้นและเพื่อนำเงินไปต่อยอดธุรกิจเดิมโดยการลงทุนในบริษัทอื่นๆเพิ่มเติม

สำหรับบริษัทที่ทำรายการประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT รายงานการจำหน่ายหุ้น บริษัทบริการเชื้อเพลิงการบิน จำกัด (มหาชน) หรือBAFS จำนวน 45 ล้านหุ้นคิดเป็น 7.06%ในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 34.21 บาท มูลค่ารวมของการทำรายการอยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท   โดยเป็นการเสนอขายให้กับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)หรือ PTTOR ซึ่งเป็นการได้มาในครั้งนี้ ทำให้ ถือครองรวม 7.06%

บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) หรือ MBK ระบุว่าคณะกรรมการบริษัท อนุมัติให้ บริษัท เอ็ม บี เค โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (MBK-HR) ซึ่งมีฐานะเป็นบริษัทย่อยโดยตรงที่ MBK ถือหุ้นในสัดส่วนอยู่ที่ 99.99% ขายหุ้นทั้งหมดของบริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ROH ซึ่งถือ MBK-HR ถือหุ้นอยู่ 29.86% ให้บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี จำกัด (มหาชน) หรือ GRAND มูลค่าขายรวมสุทธิ 1.14 พันล้านบาท  ทำให้บริษัทฯ มีสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจหลัก

นอกจากนี้ที่ผ่านมา บริษัทเอ็ม บี เค ได้รายงานขายหุ้น บริษัทดุสิต ธานี  จำกัด(มหาชน) หรือ DTC จำนวน 96.1 ล้านหุ้นคิดเป็น 11% ราคาเฉลี่ยของการทำรายการอยู่ที่ 12 บาท มูลค่ารวม 1.15 พันล้านบาท

ขณะที่บริษัทซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน)หรือ CPALL รายงานการทำรายการขายหุ้นของบริษัท สยามแม็คโคร จํากัด (มหาชน) หรือ MAKRO ซึ่งเป็นการทำรายการบนกระดานรายใหญ่ (Big Lot Board) จํานวน 230.24 ล้านหุ้นคิดเป็น คิดเป็น 4.80% โดยขายในราคาหุ้นละ 44 บาท ซึ่งเป็นราคาเสนอขายที่ได้จากการสํารวจความต้องการซื้อของนักลงทุนสถาบัน (Book Building) มูลค่ารวม 1.01 หมื่นล้านบาท

สำหรับวัตถุประสงค์หลักของการทำรายการครั้งนี้ เพื่อเพิมสภาพคล่องของการซื้อขายหุ้นMakroในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนีภายหลังจากการทํารายการ CPALLจะลดสัดส่วนการถือหุ้นใน Makro ลงจาก 97.88% เหลือ93.08%

บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS รายงานการจำหน่ายหุ้นบริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ VGI จำนวน 464.65 ล้านหุ้น ในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 8.47 บาท มูลค่ารายการรวม 3.9 พันล้านบาท

บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ CGH รายงานขายหุ้นบริษัทบริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ RML จำนวน 625 ล้านหุ้นผ่านกระดานซื้อขายรายใหญ่ (บิ๊กล็อต) โดยมีการทำรายการ 2 ครั้ง ในเดือนม.ค.2561 ทำรายการจำนวน 250 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1.10 บาท มูลค่ารวม 275 ล้านบาท และในเดือนเม.ย. 2561 ทำรายการจำนวน 375 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 1.20 บาทมูลค่ารวม 450 ล้านบาท

บริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA ขายหุ้นบริษัทไทคอนอินดัสเทรียล  จำกัด(มหาชน) หรือ TICON จำนวน 478 ล้านหุ้นคิดเป็น 26% ในราคาหุ้นละ 17.40 บาท มูลค่ารวม 8.3พันล้านบาท

บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) หรือ EGCO ได้ขายหุ้นบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด(มหาชน) หรือEASTW จำนวน 18.72% มูลค่า 5.2 พันล้านบาท

สมบัติ ศานติจารี ประธานกรรมการ เป็นประธานกรรมการ EGCO เคยกล่าวในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทว่า แนวโน้มกำไรสุทธิปีนี้มีโอกาสเติบโตจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 11,818 ล้านบาท หลังบันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้นภายในครึ่งปีแรก โดยบริษัทย่อย ได้ขายหุ้น 49% ในบริษัท Masinloc Power Partners Co.,Ltd ให้แก่ SMC Global Power Holdings Corp. ในราคา 850 ล้านดอลลาร์ และขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมด 18.72% ใน EASTW ให้แก่บริษัท มะนิลา วอเตอร์ จำกัด ประเทศฟิลิปปินส์ เสร็จสมบูรณ์แล้ว เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2561 ซึ่งเป็นผลให้เอ็กโก กรุ๊ป รับรู้รายได้ทันที จำนวน 5,226 ล้านบาท

ด้าน กิจพล ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า การที่บริษัทจดทะเบียนทำรายการขายหุ้นออกมานั้น เท่าที่ประเมินแต่ละบริษัท น่าจะเป็นการขายหุ้นเพื่อนำเงินมาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กิจการในอนาคต และถือว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่สุดในการขายหุ้นครั้งนี้

แต่สิ่งที่น่าสังเกตุคือมีความเป็นไปได้สูง อาจเกิดจากกรณีที่บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ต้องเร่งขายหุ้นที่ถือลงทุนออกมาก่อนที่จะมีการประกาศใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ หรือIFRS9 ซึ่งหากเริ่มใช้จริง ในส่วนของกำไรจากการขายเงินลงทุนจะไม่ได้รับรู้ในงบกำไรขาดทุน แต่จะไม่รับรู้ในส่วนของผู้ถือหุ้นแทน ซึ่งจะไม่มีผลต่อภาพรวมของงบกำไรและขาดทุนของบริษัทนั้น ดังนั้น การขายหุ้นในช่วงครึ่งปีแรกถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในตอนนี้

“สำหรับผู้ลงทุนที่ถือครองหุ้นที่มีการขายหุ้นบริษัทลูกนั้น สิ่งควรติดตามคือ การสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต หรือการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เมื่อขายเงินลงทุนไปแล้วได้นำเงินไปต่อยอดธุรกิจที่จะสร้างแวลูให้กับบริษัทได้หรือไม่”

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight