Marketing Trends

‘ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ’ เผย 12 เทรนด์ ‘อีคอมเมิร์ซ’ ที่ต้องเตรียมรับมือ

ได้ชื่อว่าเป็น พ่อมดวงการไอที และกูรูวงการอีคอมเมิร์ซ สำหรับ “ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง ตลาดดอทคอม ซึ่งล่าสุด ภาวุธได้มอง 12 เทรนด์ อีคอมเมิร์ซไทยในปี 2563 ผ่านเว็บไซต์ Tarad.com และเฟซบุ๊ก “Pawoot (Pom) Pongvitayapanu” ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

“ภาพรวมอีคอมเมิร์ซไทยในปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นปีที่หลายธุรกิจแข่งขันกันอย่างดุเดือดและร้อนแรง แต่เริ่มที่จะมองเห็นโมเมนตัมของการทำธุรกิจออนไลน์ในประเทศไทยได้ชัดเจนมากขึ้นและลากยาวไปถึงปี 2563” ภาวุธระบุ

safe image 1

ในปี 2563 เทรนด์ของอีคอมเมิร์ซไทยจะเป็นอย่างไร ผมอยากเตรียมพร้อมให้กับคนที่ทำธุรกิจและคนที่ต้องการที่จะปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลรู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2563 จะมีอยู่ประมาณ 12 เทรนด์ใหญ่ คือ

1.JSL Marketplace เริ่มทำรายได้ให้เห็นแล้ว

ปี 2563 จะเป็นปีที่ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ ทั้ง J : เจดี เซ็นทรัล, S : ช้อปปี้ และ L : ลาซาด้า เริ่มทำกำไรมากขึ้น จริง ๆ เราเริ่มเห็นกันตั้งแต่ปีที่ผ่านมาแล้วว่า ช้อปปี้ เริ่มเก็บค่าคอมมิชชั่น ค่าบริการต่าง ๆ แล้ว ในขณะที่ ลาซาด้าเองเก็บค่าคอมมิชชั่นมาพักใหญ่ ทุกคนกำลังเริ่มปรับตลาด และมีคนเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น

เมื่อคนเริ่มติดแล้ว ปี 2563 จะเป็นปีที่ผู้ให้บริการเหล่านี้จะทำรายได้ โดยจะมาจากการเก็บค่าคอมมิชชั่น ค่าโฆษณา ฯลฯ จะเริ่มเห็นว่ามีการเก็บค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของ JSL มากขึ้น

อีวอลเล็ต

 

2. สงครามอี-วอลเล็ต แข่งกันดึงเงินลงกระเป๋า

จากปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าธุรกิจ อี-วอลเล็ต เริ่มตั้งไข่ ฉะนั้น ในปี 2563 อี-วอลเล็ต จะเติบโตมาก โดยจากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าในไตรมาสแรกของปี 2562 อี-มันนี่ มีปริมาณการใช้งานทั้งสิ้น 473.27 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 6.7 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2561 มีปริมาณการใช้ 1,510.84 ล้านรายการ มูลค่า 2.09 แสนล้านบาท เติบโตจากปี 2560 ที่มีการใช้งานเพียง 1,272.22 ล้านรายการ มูลค่า 1.26 แสนล้านบาท เรียกได้ว่าสงคราม อี-วอลเล็ต ในเมืองไทยมาถึงแล้ว

ผมแบ่งรูปแบบ อี-วอลเล็ต หรือกระเป๋าเงินดิจิทัลออกเป็น 4 รูปแบบคือ

visa 3082813 1280

  • Pure Wallet – คือเกิดมาเพื่อเป็นวอลเล็ตโดยเฉพาะ เช่น True Money, Rabbit Line Pay (mPay), xCash, Dolfin, Blue Pay, AirPay ปีนี้กลุ่ม Pure Wallet น่าจะมีการฟาดฟันกันหนักมากขึ้น
  • E-Commerce Wallet – เป็นวอลเล็ตของผู้ที่ให้บริการออนไลน์อยู่แล้วและขยับมาทำวอลเล็ตเพิ่มขึ้นด้วย เช่น ลาซาด้า วอลเล็ต, อาลิเพย์ของช้อปปี้, แกร็บเพย์ เป็นต้น ซึ่งบรรดาอีคอมเมิร์ซวอลเล็ตจะแข่งกันหนักมากขึ้น เพราะทุกคนจะพยายามจะดึงเงินเข้ามาอยู่ในวอลเล็ตของตนเอง
  • Bank Wallet หรือ Mobile Banking – เป็นกลุ่มที่น่าสนใจมากและมีความได้เปรียบ เพราะหลายคนจะใช้บัญชีธนาคารสำหรับรับเงินเดือน ฉะนั้นเงินจะถูกกองไว้อยู่แล้วในบัญชี และคนอาจจะไม่โอนออกไปที่วอลเล็ตอื่นเท่าใด กลุ่มนี้เหมือนเป็นกระเป๋าหลักและยังมีดอกเบี้ยให้อีก จึงมีความได้เปรียบกว่ากลุ่มอื่น อีกทั้งธนาคารเองยังมีการพัฒนาแอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่อง
  • Mobile Device Wallet – เช่น Samsung ก็มี Samsung Pay หรือนาฬิกา Fitbit และ Garmin เองก็มี Fitbit Pay และ Garmin Wallet รวมไปถึง Apple Pay ที่มีข่าวว่าจะเข้ามาเปิดบริการในประเทศไทย สงคราม Wallet จึงน่าจะดุเดือดอย่างแน่นอน

3. สงครามของบริษัทขนส่งสินค้า (E-Logistic)

ในปี 2562 ก็เริ่มเห็นกันได้ชัดแล้ว ตอนนี้บริษัทขนส่งที่โฟกัสไปที่ออนไลน์นั้นมีมากเป็นสิบบริษัท หลายบริษัทเพิ่งเปิด หลายบริษัทมาจากจีน ผมลองเก็บข้อมูลผลประกอบการของบริษัทขนส่งโลจิสติกส์  ในประเทศไทยมาเปรียบเทียบกัน พบว่าไปรษณีย์ไทยยังครองแชมป์ทำรายได้สูงสุด กำไรมากสุด ทุนจดทะเบียนมากสุด และเปิดให้บริการนานสุด ส่วนบริษัทที่ขาดทุนมากที่สุดก็คือ  J&T Express ที่เพิ่งเปิดให้บริการล่าสุดปีกว่า ๆ โดยการเปรียบเทียบบริษัทขนส่งผมสรุปไว้ที่นี่ครับ

โลจิสติกส์

สำหรับปี 2563 บอกได้เลยว่าจะมีบริษัทขนส่งผุดขึ้นมาอีกมาก ยังไม่รวม แกร็บ เอ็กซ์เพรส หรือ เก็ท เอ็กซ์เพรส ซึ่งเริ่มกระโดดเข้ามาทำบ้างแล้ว ต่อไปการส่งของจะง่ายมากขึ้น เมื่อปีที่แล้วเราอาจพูดถึง การส่งของภายในวันเดียว (Same day Delivery) แต่เดี๋ยวนี้การส่งของภายในวันเดียวเป็นเรื่องปกติ ต่อไปจะเป็นการส่งภายใน 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น

4. ธุรกิจที่ให้บริการเก็บ-แพ็ก-ส่งสินค้า (Fulfillment) มาแรง

คนจะไม่ค่อยแพ็กหรือเก็บสินค้าเองแล้ว จะมีบริการพวก fulfillment เริ่มให้บริการเยอะขึ้น คนจะเริ่มใช้บริการเอาท์ซอร์ส คือ จ้างแวร์เฮ้าส์ จ้างคนแพ็กของหรือส่งของ ปีนี้จะชัดมากขึ้นอีก สำหรับ e-Commerce Fulfillment ในเมืองไทยอาจมีอยู่ไม่เยอะมากนัก เช่น Trustbox Fulfillment, Siam Outlet, MyCloud Fulfillment นอกจากนี้บริษัทขนส่งหลายเจ้าก็เริ่มมาทำ รวมถึงลาซาด้า หีอ ช้อปปี้ ก็เริ่มมี fulfillment เป็นของตัวเอง

5.Brand จะกระโดดเข้าสู่ออนไลน์อย่างต่อเนื่อง

แบรนด์

การมาของมอลล์ต่าง ๆ เช่น ช้อปปี้ มอลล์, ลาซมอลล์ และ เจดีเซ็นทรัล ที่เน้นสินค้าแบรนด์ ดังนั้น แบรนด์จะกระโดดเข้ามาขายออนไลน์มากขึ้น ๆ ส่งผลกระทบต่อบรรดายี่ปั๊ว ซาปั๊ว หรือบรรดาตัวแทนสินค้า เพราะผู้ผลิตสินค้าหรือโรงงานเริ่มขายตรงกับผู้บริโภคเอง

6. การค้าข้ามประเทศ (Cross Border) เติบโตแบบก้าวกระโดด

การขายข้ามประเทศจะแบ่งเป็น 2 แบบคือ Inbound Cross Border สินค้าที่มาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าจากจีนที่อยู่ใน 3 มาร์เก็ตเพลสดังของไทยจะมีประมาณ 135 ล้านชิ้นหรือราว 77% สินค้าที่เป็นของผู้ค้าไทยประมาณ 39 ล้านชิ้นหรือราว 23% เทรนด์ตอนนี้จะเริ่มชัดแล้วว่าสินค้าจีนเริ่มบุกเข้ามามากขึ้น และเริ่มส่งเร็วมากขึ้นด้วยการเปิดอีอีซี

อีกเรื่องที่รัฐบาลต้องเน้นก็คือ Outbound Cross Border การนำสินค้าออกทางออนไลน์ ตอนนี้มีหลายมาร์เก็ตเพลสอย่าง อเมซอน, อีเบย์, ราคูเท็น และ อาลีบาบา เป็นช่องทางที่สามารถเอาสินค้าไทยออกไปขายต่างประเทศได้

ค้าข้ามประเทศ1

อย่างที่ทราบกันดีว่าตัวสินค้าไทยนั้นคุณภาพดีอยู่มาก แต่กลไกหรือวิธีการในการส่งออกเรายังไม่มีตัวช่วยมากเท่าไหร่ ผมจึงมองเห็นว่าเทรนด์ในปีนี้ คนที่จะนำสินค้าไทยออกไปขายต่างประเทศก็จะเริ่มมีจำนวนมากขึ้น ที่สำคัญรัฐอาจต้องเข้ามาร่วมมือกับกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้และเป็นผู้ประกอบการไทยด้วยโอกาสจึงจะมีเพิ่มมากกว่า

7. Social Commerce ยังโตทะลุ

เม็ดเงินมหาศาลจากสื่อโฆษณาออนไลน์จะเทลงมาในโซเชียลมีเดียมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ปีที่ผ่านมามียิงการโฆษณาบนเฟซบุ๊กเดือนละเป็นล้านบาท ยิงไปแล้วยอดขายพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้โซเชียลคอมเมิร์ซโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้ต่อเนื่องไปถึงเทรนด์ต่อไป

8. ปีของ Live & Conversational Commerce

การค้าแบบไลฟ์และแชทจะมาจริง ๆ แล้ว ปีที่ผานมาจะเห็นว่า ลาซาด้า มีไลฟ์สดขายของ, ช้อปปี้ ก็มีไลฟ์ขายของ ทุกคนมองการทำไลฟ์เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการขายของออนไลน์ไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ปีนี้เราจะเจอแพลตฟอร์มเพื่อการไลฟ์ขายของที่สามารถเก็บเงินได้เลย และมีการทำระบบการจัดการขายของบนไลฟ์อย่างเดียว

9. ข้อมูล อี-คอมเมิร์ซ นำไปสู่ธุรกิจอื่น

ITProPortal2

ต่อไปคนที่ทำอีคอมเมิร์ซหรือคนที่มีข้อมูลทั้งหมดจะนำไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ ปีที่ผ่านมาเราจะเห็นข่าวว่า ลาซาด้า จับมือกับ ธนาคารกสิกรไทย เพื่อปล่อยกู้ หรือ ไทยพาณิชย์ จับมือกับ เก็ท ปล่อยกู้เช่นกัน ฯลฯ คนมี ดาต้ามากขึ้น ก็นำไปสู่การปล่อยกู้ได้มากขึ้น ทั้งปล่อยเองและปล่อยผ่านแบงค์ จะเห็นว่า data จะถูกนำมาใช้มากขึ้นในปีนี้

10.ยุครุ่งโรจน์ของอีคอมเมิร์ซเฉพาะทาง หรือ Vertical E-Commerce

เพราะเราคงไปสู้มาร์เก็ตเพลสใหญ่ ๆ ที่เป็น Horizontal E-Commerce ไม่ได้ ฉะนั้น อีคอมเมิร์ซอย่าง Konvy มาร์เก็ตเพลสขายเครื่องสำอาง, Pomelo มาร์เก็ตเพลสที่ขายสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแฟชั่น BUILK.com มีมาร์เก็ตเพลสที่ชื่อว่า Yello ขายอุปกรณ์ก่อสร้าง NocNoc ขายเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ อีคอมเมิร์ซเฉพาะทางจะเริ่มโตมากขึ้น

11.Omni Channel มาแล้วของจริง

ออนไลน์กับออฟไลน์ทุกช่องทางจะประสานเข้าด้วยกันอย่างเห็นได้ชัด

12. ปีที่กฎหมายด้านดิจิทัลมาครบชุด

กฏหมาย 6 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับ ดิจิทัล การค้าออนไลน์ ได้แก่

กม.

  • พ.ร.บ. ภาษีอีเพย์เมนต์ เริ่มมีการตรวจสอบข้อมูล การโอนเงินต่าง ๆ รวมถึงจำนวนครั้งที่โอนแล้ว
  • พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ต่อไปนี้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกอย่างจะมีกฎหมายรองรับ จริง ๆ มีมานานแล้วแต่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น
  • พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มีมานานแล้วและมีการปรับปรุงเช่นเดียวกัน
  • พ.ร.บ. คุุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาแล้วจริง ๆ
  • พ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่มอบอำนาจให้กับภาครัฐในการควบคุมความมั่นคงของประเทศ
  • พ.ร.บ. ภาษี E-Business จะเป็นการเก็บรายได้จากธุรกิจต่างชาติ

เมื่อกฎหมายทั้ง 6 ฉบับนี้ทำงานครบ จะสร้างความน่าเชื่อถือมากขึ้น บางอย่างก็เป็นข้อดี เช่น ภาษี E-Business ที่ต่อไปหากต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทยก็ต้องมีการเสียภาษี และจะทำให้เราได้เห็นตัวเลขสำคัญหลายอย่าง จึงอาจต้องมีการกลับมาคุยกันมากขึ้นในเรื่องของการปรับตัวเนื่องจากกฎหมายเหล่านี้

ทั้งหมดนี้ เป็นเทรนด์ร้อนอีคอมเมิร์ซ ที่จะเกิดขึ้นและเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ในปีนี้ ซึ่งย่อมมีผลต่อผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซต้องปรับตัวให้เท่าทัน

ขอบคุณข้อมูลจาก : Pawoot (Pom) Pongvitayapanu

Avatar photo