Opinions

‘งบประมาณปี 2563’ ตอบโจทย์หรือไม่

Avatar photo
794

คนไทยไม่น้อยกำลังติดตามการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 โดยสภาผู้แทนราษฎร ในวาระ 2 และ 3 หรือพิจารณารายมาตรา ก่อนส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณาและออกเป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนนี้

81942941 10156768779581935 8444830436164632576 n

ในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่ร่าง พ.ร.บ งบประมาณเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในวาระแรก ผมได้อภิปรายให้ข้อมูลและตั้งข้อสังเกตในหลายประเด็น และขอให้มีการปรับปรุงงบประมาณในชั้นกรรมาธิการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อให้นโยบายและการจัดสรรงบประมาณนั้นตอบโจทย์ปัญหาของประเทศและประชาชนอย่างแท้จริง

วันนี้ เมื่อผมได้ดูร่าง พ.ร.บ. งบประมาณที่ปรับปรุงโดยกรรมาธิการแล้ว ก็ต้องบอกว่า ยังไม่คลายความกังวลแม้แต่น้อย บางเรื่องปัญหาหนักกว่าเดิมแต่งบประมาณเท่าเดิมหรือน้อยลง บางเรื่องที่เป็นการสร้างความเก่งของเอกชนรายเล็กรายน้อยให้แข่งขันได้ ซึ่งผมเสนอให้เพิ่มงบประมาณให้มากขึ้น แต่กลับถูกตัดทอนลดลงไปอีก

เนื่องจากครั้งก่อนที่ผมได้อภิปรายในเรื่องนี้ มีผู้สนใจติดตามและให้ข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์เป็นจำนวนมาก จึงเป็นหน้าที่ที่ผมจะสรุปให้ฟังว่าขณะนี้ยังมีข้อกังวลเรื่องใดบ้างดังนี้

1. รายได้จากการเก็บภาษีจะไม่เข้าเป้า

สมมุติฐานที่ใช้ในตอนจัดทำงบฯ คลาดเคลื่อนจากสถานการณ์ปัจจุบันมาก ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 2.7% (‘62) และ 2.9% (‘63) อัตราแลกเปลี่ยนที่เกือบ 33 บาทต่อดอลลาร์  ตัวเลขการค้าการลงทุนที่ถดถอย

วันนี้เศรษฐกิจไทยปี ‘62 และ ‘63 เติบโตให้ได้ถึง 2.5% ก็ไม่ง่ายแล้ว ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนก็แข็งค่าขึ้นแตะ 29 บาทกว่าแล้ว

2. ปัญหาสงครามการค้า ความไม่สงบในตะวันออกกลางจะยืดเยื้อกระทบเชื่อมั่น

ปัญหาจากภายนอกเหล่านี้ที่เราควบคุมไม่ได้เลย ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วยแล้ว ที่เห็นชัดวันนี้ก็คือเศรษฐกิจโลกเติบโตลดลง 1% แล้วจากเดิม 3.5% เหลือ 2.5% ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ตลาดทุนทั่วโลกติดลบรุนแรง ตลาดหลักของไทยถดถอย

3. ปัญหาเร่งด่วนของชาวบ้านยังไม่แก้ไขเป็นระบบ

  • รายได้ชาวบ้านไม่มั่นคง/ถดถอย
  • ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูง เพราะน้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า ขนส่ง ราคาสูงเกินควร (เรื่องนี้แก้ไขไม่ยาก ไม่ต้องใช้งบประมาณ แต่วันนี้ยังไม่เห็น.!!)
  • หนี้ครัวเรือนพุ่ง ทั้งในและนอกระบบ เครื่องมือที่ใช้ในปัจจุบันให้ผลน้อย ยังไม่ตอบโจทย์
  • การว่างงานที่เพิ่มขึ้นในบางอุตสาหกรรมจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการปรับตัวของภาคการผลิต
  • ปัญหาส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝากสูงมาก
  • ปัญหา 16 จังหวัดรายได้ครัวเรือนลดลงรุนแรง

เรื่องเหล่านี้ ผมได้อภิปรายในรายละเอียด รวมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขแล้วในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 แต่ก็ต้องบอกว่ายังไม่เห็นนโยบายและงบประมาณที่ชัดเจนเลย ถ้าจะไม่ทำตามที่ผมเสนอก็ไม่ว่า แต่ควรต้องชัดว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ให้พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างไร

4. ภาคการส่งออกต้องเร่งแก้ไข

รายได้จากการส่งออกเป็นรายได้หลักของประเทศ วันนี้ถดถอยรุนแรงจากปัญหาภายนอก และอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าเร็วกว่า และมากกว่าประเทศคู่ค้าคู่แข่ง

ผมเสนอให้เร่งเปิดตลาดใหม่ เร่งเจรจาความตกลงการค้าเพิ่ม ทั้งสหภาพยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกาและลาตินอเมริกา แต่ไม่รู้ว่าทำไมงบประมาณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับถูกปรับลดลง!

5. สร้างความเก่ง ต้องเร่งงานวิจัย

งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความสามารถในการแข่งขัน การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การสร้างความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ ที่ควรจัดสรรเพิ่มเติมให้อย่างมากเพราะที่จัดไว้เดิมน้อยอยู่แล้ว กลับถูกปรับลดลงทุกรายการ จะให้ไม่กังวลได้อย่างไรครับ

นี่แหละครับ! ผมเลยสรุปมาให้ทราบเฉพาะเรื่องที่สำคัญๆ ถ้างบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ผ่านไปตามที่เห็น รัฐบาลก็มีทางเลือกไม่มากในการบริหารจัดการ คงต้องเกลี่ยจากงบกลางฯ ในเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุมากกว่าการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์และมีข้อจำกัดอยู่มาก

ผมพูดเสมอครับว่า “ ตั้งโจทย์ผิด ก็ได้คำตอบผิด” “งบประมาณต้องสอดคล้องกับนโยบาย นโยบายต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งภายในภายนอก” ไม่เช่นนั้นก็หลอกตัวเอง..!

ต้องขออภัยนะครับ ต้องพูดตรงๆ ติเพื่อก่อ  ต่างคนต่างทำหน้าที่ครับ

ในที่สุดคงต้องตัดสินเองนะครับ ว่า พ.ร.บ.งบฯ ฉบับนี้ ตอบโจทย์หรือไม่อย่างไร แต่ ส.ส. ต้องเป็นปากเสียงให้ประชาชน และผลประโยชน์ประเทศและประชาชนต้องสำคัญที่สุดสำหรับนักการเมืองครับ

kiat

เกียรติ สิทธีอมร
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์