Telecommunications

‘ดีแทค’ชี้เงื่อนไขคลื่น 900 MHz ไม่ชัดเจน ยากตัดสินใจประมูล

ดีแทคเผยความกังวลในเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz โดยพบว่าเงื่อนไขที่ กสทช. ระบุในประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 890-895/935 – 940 MHz นั้น ไม่เคยพบจากการประมูลในประเทศใด ๆ ที่ “เทเลนอร์”เคยประกอบธุรกิจมาก่อน

ดีแทค คลื่น 900

โดยเงื่อนไขที่เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ดีแทค แสดงความกังวลใจในการเข้าประมูลในครั้งนี้อยู่ที่ข้อ 16 -18 ที่ระบุให้ผู้ชนะการประมูลต้องติดตั้งระบบป้องกันคลื่นสัญญาณรบกวน (Filter) ทั้งหมด แม้ว่า กสทช. จะลดราคาขั้นต่ำของการประมูลให้จำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในการติดตั้งตัวกรองสัญญาณ แต่ก็เชื่อว่าจะไม่ครอบคลุมงบประมาณในการดำเนินการสร้างระบบป้องกันคลื่นสัญญาณรบกวน (Filter) ทั้งหมด

(ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 890-935/-940 MHz )

โดยในจุดนี้ นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ เผยว่า นอกจากสถานีฐานของเอไอเอสและทรูแล้ว ยังมีสถานีฐานของผู้ให้บริการรถไฟฟ้าที่ดีแทคไม่ทราบเลยว่ามีระบบการจัดการอย่างไร และมีจำนวนเท่าไร นอกจากนั้น เมื่อถามความชัดเจนในจุดนี้กับทาง กสทช. ทาง กสทช. เองก็ไม่ทราบและไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนให้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ชนะการประมูลครั้งนี้จึงมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดค่าใช้จ่ายเกินจริง

ดีแทค คลื่น 900

ความเสี่ยงอีกข้อที่จะเกิดขึ้นกับผู้ชนะการประมูลก็คือ หากติดตั้งฟิลเตอร์แล้ว ปัญหาการกวนสัญญาณรถไฟฟ้ายังไม่หาย เงื่อนไขการประมูลระบุว่าจะมีการสว็อปสัญญาณไปคลื่นอื่น ซึ่งในจุดนี้ การสั่งซื้อตัวฟิลเตอร์นั้นจะต้องระบุช่วงคลื่นมาเลย หากมีการสว็อปสัญญาณจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายของผู้ชนะการประมูลอย่างแน่นอน ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้ชนะการประมูลแต่อย่างใด

โดย นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์เผยด้วยว่า การซื้อคลื่นมาแล้วและโดนจับย้ายนั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก

นอกจากนี้ ผู้ชนะการประมูล ยังต้องขอความร่วมมือกับเอไอเอส – ทรู – รถไฟฟ้า เพื่อเข้าไปติดตั้งฟิลเตอร์ ซึ่งกระบวนการนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

โดยดีแทคมองว่า นอกจากเงื่อนไขที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงแล้ว ดีแทคยังมีความกังวลอีกข้อนั่นคือ การใช้งานคลื่น 850 MHz ที่จะหมดสัมปทานลง เพื่อเปลี่ยนเป็น 900 MHz ในจุดนี้ดีแทคจึงอยากได้ความชัดเจนจาก กสทช. ในการใช้งานคลื่น 850 MHz เพื่อให้บริการลูกค้าระหว่างการดำเนินการปรับเปลี่ยนดังกล่าวเป็นเวลา 24 เดือนด้วย

Avatar photo