COLUMNISTS

เรือล่มภูเก็ตกับคำพูดที่พึงระวังของผู้นำประเทศ

Avatar photo
65

South Thailand 252016

โศกนาฏกรรมที่คร่าชีวิตนักท่องเที่ยวชาวจีนไปกว่า 40 ชีวิต จากเหตุเรือล่มที่ภูเก็ต นอกจากจะนำความโศกเศร้าไปยังญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตแล้ว ยังเป็นเหตุการณ์ที่บ่งชี้หลายอย่างเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวของไทย เหมือนที่ได้เขียนถึงไปในบางแง่มุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

โดยได้ติงไว้เล็กๆ เกี่ยวกับการนำประเด็น ทัวร์ศูนย์เหรียญ มาชูจนกลายเป็นเรื่องหลัก บานปลายจนถึงขั้นคนระดับรองนายกรัฐมนตรี อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นำมาตอบคำถามนักข่าวด้วยคำพูดที่บาดใจ จนเกิดกระแสความไม่พอใจในหมู่ชาวจีน ด้วยข้อความดังนี้

“ก็เขาไม่เชื่อกรมอุตุนิยมวิทยา จึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น เรามีกฎหมายอยู่แล้ว ส่วนการเรียกความเชื่อมั่นนั้น คนจีนเขาเป็นคนนำนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา เป็นเรื่องของนักท่องเที่ยวของเขา เรื่องของเขา เขาทำเรือของเขาเอง เขาฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรา จะให้ไปเรียกความเชื่อมั่นอย่างไร”

ประวิตร วงษ์สุวรรณ21
พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ผลจากคำพูดที่การออกมาขอโทษภายหลังสามารถทำให้โกลบอลไทม์ หนังสือพิมพ์ทางการของจีน ถึงกับเขียนในบทบรรณาธิการว่าถ้อยคำดังกล่าว “คิดน้อยเกินไปและไม่เหมาะสม” พร้อมกับชี้ประเด็นสำคัญตรงกับที่เคยนำเสนอผ่านบทความไปเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ไม่สำคัญว่าเจ้าของเรือจะเป็นใคร เพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในประเทศไทย ภายใต้กฎหมายของไทย เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องดูแลและรับผิดชอบ

หากปล่อยให้มีเรือผิดกฎหมาย หรือมีการกระทำผิดกฎหมาย ไม่ใช่แค่เจ้าของเรือที่ผิด แต่ถือเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ด้วย เช่นเดียวกัน หรือหากมีช่องโหว่ทางกฎหมายใดก็ต้องรีบแก้ไขอุดช่องโหว่นั้นเสีย

คำพูดที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าทางการไทยปัดความรับผิดชอบ โยนบาปทุกอย่างไปที่ทัวร์ศูนย์เหรียญ จึงกลายเป็นเชื้อเพลิงโยนลงไปใส่ไฟโทสะของชาวจีนจำนวนไม่น้อย ที่แสลงใจกับวาทกรรมของคนที่เป็นถึงรองนายกรัฐมนตรี

แม้เจ้าตัวจะออกมาขอโทษในภายหลัง แต่ก็ไม่อาจลบล้างความขุ่นข้องหมองใจที่เกิดจากคำพูดที่หลุดไปแล้วไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ เหมือนที่ผู้หลักผู้ใหญ่เตือนหนักหนาว่า ให้ระมัดระวังคำพูด เพราะเมื่อพูดไปแล้วคำพูดจะเป็นนายเรา

น่าเสียดายตรงที่ ไม่ระมัดระวังคำพูด ถ้าเป็นเรื่องปลาหมอตายเพราะปาก คือพูดไม่ระวังแล้วทำให้ตัวเองเดือดร้อน ก็คงไม่ตรงนักที่จะเทียบ เพราะสิ่งที่จะตายไม่หรือความเสียหายไม่ได้เกิดผลเดือนร้อนอย่างสาหัสต่อคนที่พูด แต่เพราะคนพูดเป็นเสาหลักของรัฐบาล คำพูดที่ออกไปสู่สาธารณะจึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่กระทบมาถึงส่วนรวมและประเทศไทยด้วย

ดังนั้นคำพูดที่ขาดความยั้งคิดนอกจากกระทบความรู้สึกชาวจีนจนต้องเอ่ยปากขอโทษแล้ว ยังสมควรต้อง “ขอโทษ” คนไทยทุกคน ที่เป็นถึงระดับผู้บริหารประเทศแล้วพลั้งปากทำให้ประเทศชาติได้รับผลกระทบไปด้วย

ความเสียหายที่มีการประมาณการกว่าอาจถึงสี่หมื่นล้านกลายเป็นราคาของคำพูดนี้ที่ชาวอันดามันต้องแบกไว้ด้วยน้ำตา

ถามว่าถ้าผู้บริหารประเทศมีทัศนคติในเชิงลบกับการนักธุรกิจชาติใดชาติหนึ่ง จากการดำเนินธุรกิจของบางบริษัท จนเอ่ยปากเหมารวมไม่แยกแยะ จะมีนักธุรกิจที่ไหนเขาอยากมาลงทุนในเมืองไทย

“ทัวร์ศูนย์เหรียญ” มีการกระทำผิดใดก็ดำเนินคดีไปตาแต่ละกรณี ควรมีการปราบปรามอยากต่อเนื่อง หากแต่คนเป็นรัฐบาลจะจำมากล่าวอ้างเพื่อปัดความรับผิดชอบไม่ได้

สิ่งที่เกิดขึ้นมีประเด็นที่น่าสนใจคือ ในการกล่าวคำขอโทษของพล.อ.ประวิตรที่ว่า “ไม่มีอะไรหรอก เป็นคนละเรื่องกัน การทำผิดก็เรื่องหนึ่ง การช่วยเหลือก็เรื่องหนึ่ง ถ้าผมพูดอะไรไม่พอใจก็ขอโทษ ซึ่งผมได้รับรายงานมาอย่างนั้นจริง ๆ ขออย่านำมาปนกัน” นั้น อยากให้ขีดเส้นตายตรงคำว่า “ผมได้รับรายงานมาอย่างนั้นจริง ๆ”

มีธรรมมะของท่านพุทธทาสภิกขุหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการระมัดระวังคำพูด มาทิ้งท้ายเตือนสติดังนี้ “คนฉลาด ไม่ใช่แค่ฉลาดพูดเท่านั้น ต้องรู้จักนิ่งอย่างมีสติ ให้เป็นด้วย ต้องรู้ในสิ่งที่ไม่ควรพูด ให้มากยิ่งกว่าสิ่งที่ควรพูด เพราะถ้าพูดโดยไม่คิด มันจะกลายเป็นยาพิษกลับมาหาท่านอย่างสุดที่จะป้องกัน”

วันนี้ปัญหาวิกฤติการท่องเที่ยวที่เกิดจากเหตุการณ์นี้ ถูกประเมินว่าจะเรื้อรังยาวนาน ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาในธุรกิจท่องเที่ยว และการบังคับใช้กฎหมายให้ทันสภาพเมืองท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ

แต่อีกส่วนล้วนถูกพูดย้ำในกลุ่มคนภูเก็ตและอันดามันว่า ที่วันนี้และพรุ่งนี้เลวร้ายมากมายกว่าเหตุการณ์ที่ควรจะเป็น เป็นเพราะ “ไม่กี่ประโยคนั้นแท้ๆ” เหมือนที่นักข่าวไทยเชื้อสายจีนของสำนักข่าวจีนในประเทศไทยพูดว่า “หยุดโรยเกลือบนบาดแผลของคนจีน” 

ความเสียหายที่ถูกประมาณการณ์ว่าอาจจะถึง 4 หมื่นล้านบาท จึงไม่ต้องถามหาความรับผิดชอบทางกฎหมายจากใคร เพราะคนที่ต้องชดใช้วิบากในครั้งนี้คือชาวอันดามัน โดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ที่พึ่งพาเศรษฐกิจหลักจากการท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวเกือบครึ่งที่มาคือชาวจีน ที่เจือจุนเป็นเสาหลักของรายได้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในระดับกลางคือโรงแรมสามสี่ดาว พนักงานในธุรกิจท่องเที่ยวจำนวนมากเกินกว่าครึ่งของคนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง พ่อค้าแม่ขายริมถนน คนขับเรือ ชาวประมง และกว่าล้านชีวิต ที่หมุนเวียนอยู่ในวงจรชีวิตของอันดามันนี้

จงหยุดย้ำคิดกล่าวหาเพื่อขอความรับผิดชอบจากใคร จงหายใจน้อยน้อยให้แผ่วบางที่สุด กลืนเลือดเอาไว้ ก้มตัวต่ำให้พายุร้ายผ่านไปอย่างอดทน