CEO INSIGHT

‘ฟู้ดแพชชั่น’องค์กรแห่งความสุขที่จับต้องได้

นับตั้งแต่การก่อตั้งบริษัท เดอะบาร์บีคิวพลาซ่า จำกัด ในปี 2530 ผู้ให้บริการธุรกิจอาหารภายใต้แบรนด์ บาร์บีคิวพลาซ่า และ จุ่มแซ่บฮัท  มาในปี 2559 หรือเกือบ 30 ปีของการดำเนินธุรกิจ  เดอะบาร์บีคิวพลาซ่า ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งสำคัญ เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด (Food Passion)

ฟู้ดแพชชั่น Food Passion

ภายใต้ปรัชญาการดำเนินธุรกิจที่แตกต่าง จากความรักในอาหารและความเชื่อในเรื่องของการดูแลให้ “ทุกคน” มีความสุข ทั้ง พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า และสังคม โดยใช้ “อาหาร” เป็นสื่อกลาง  หัวใจสำคัญ คือ หลอมรวมองค์กรเป็นหนึ่งเดียว เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำของธุรกิจอาหารอย่างยั่งยืนในอนาคต!!

ฟู้ดแพชชั่น
ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด

ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด  กล่าวว่าบริษัทเริ่มต้นจาก Family Business ในปี 2530  ยึดหลักการทำธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์กับลูกค้า พาร์ทเนอร์ และสังคม  ซึ่งเป็นแนวทางทั่วไปที่ทุกธุรกิจต้องปฏิบัติตาม  จากนั้นช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา เริ่มมองวิธีการที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต ปี 2559 จึงเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น “ฟู้ดแพชชั่น”

นโยบายในการบริหารงาน ภายใต้แนวคิด “องค์กรแห่งความสุข” โดยมี “มื้ออาหาร” เป็นสื่อกลาง มุ่งสร้างเสริมให้พนักงานเป็นคนเก่ง เป็นคนดี และเป็นคนที่มีความสุข จากแนวคิดที่ว่าเมื่อพนักงาน มีความสุขก็จะส่งต่อความสุขนั้นไปสู่ลูกค้าและสังคมต่อไป อันจะก่อให้เกิดวงจรแห่งความสุขที่ยั่งยืน

ด้วยแนวคิด Business for People คือ บริหารธุรกิจด้วยแนวคิดองค์กรแห่งความสุข ที่ให้ความสำคัญกับ “คน” เริ่มต้นที่พนักงาน สู่ลูกค้า และสังคม เพื่อสร้างสรรค์วงจรแห่งความสุขที่ยั่งยืน หลักการดังกล่าวส่งผลให้ ฟู้ดแพชชั่น  ได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทยประจำปี 2560 (Best Employer Thailand ) สาขา Best Employer-Thailand เป็นปีแรก จากการสำรวจโดย เอออน ฮิววิท ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ฟู้ดแพชชั่น บาร์บีคิวพลาซ่า

“มื้ออาหารสื่อกลาง”ส่งต่อความสุข

ชาตยา เล่าว่าแนวคิดการเปลี่ยนแปลงสู่ “องค์กรแห่งความสุข” ในปี 2559  เริ่มต้นจากวันหนึ่ง เธอเดินร้านหนังสือ  และเจอหนังสือเล่มหนึ่งที่ ชื่อ Start With Why ของ Simon Sinek  ที่บอกเล่าถึงการดำเนินธุรกิจจาก “ความเชื่อ” ว่าเหตุของการดำรงอยู่ของธุรกิจคืออะไร  โดยอ่านครั้งเดียวจบ จากนั้นจึงหารือกับคนทำงานในบริษัทและกำหนดทิศทางการทำงานใหม่ว่า  “ต่อไปนี้  เดอะบาร์บีคิวพลาซ่า จะไม่ใช่องค์กรที่ขายอาหารอีกต่อไป” ขณะนั้นผู้ร่วมงานก็ออกอาการ งงๆ  เช่นกัน เพราะทำธุรกิจอาหารมา 30 ปี

ทิศทางใหม่ที่ว่า คือ การเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลทุกคนให้มีความสุข โดยมี  “มื้ออาหารเป็นสื่อกลาง”  เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแนวคิดขององค์กรก่อน ด้วยการกำหนดความมุ่งหมายให้กับตัวเองก่อน  เพื่อให้ทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมาอยากไปทำงาน โดยมีแรงขับเคลื่อนให้ตัวเอง องค์กร และพนักงานบริษัท

“พนักงานการตลาด ไม่ต้องตื่นขึ้นมาตอนเช้า เพื่อทำแคมเปญการตลาด ขายสินค้า สร้างกำไร เป็นสิ่งแรก  หรือพนักงานขนส่ง ไม่ต้องตื่นมาตอนเช้าเพื่อขับรถขนส่งสินค้า  พนักงานล้างกระทะ ไม่ใช่เพียงทำหน้าที่ล้างกระทะ แต่ทุกคนทำหน้าที่ ส่งมอบความสุขที่ดีที่สุดให้กับผู้คน โดยมีมื้ออาหารเป็นสื่อกลาง”

ฟู้ดแพชชั่น บาร์บีคิวพลาซ่า
รูปจากเว็บไซต์ www.foodpassion.co.th

 เริ่มต้นด้วย“ความสุขพนักงาน”

ดังนั้นจึงเปลี่ยนวิชั่น องค์กรใหม่ ด้วยการดูแลความสุขของของลูกค้า จากนั้นจึงกำหนดโมเดลเรื่องความสุขว่าจะเริ่มจากจุดใด มองว่าความสุขของ ฟู้ดแพชชั่น ต้องเริ่มจากพนักงานก่อน … ชาตยา ย้ำว่าที่พูดแบบนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นเพราะเป็นคำตอบนางงามหรือโลกสวย!! เพราะการอยู่ในโลกธุรกิจก็ต้องทำธุรกิจ เพื่อผลประกอบการและความยั่งยืน แต่การที่ต้องเริ่มจากความสุขของพนักงานก่อน เพื่อให้ผลประกอบการดีและเติบโตอย่างยั่งยืน

เพราะเชื่อว่าหากดูแลพนักงานได้ดีพอและมีความสุข ก็จะเป็นบุคคลที่สามารถดูแลลูกค้าให้มีความสุขได้ ให้ลูกค้าประทับใจและมาใช้บริการได้บ่อย ๆ  ชวนเพื่อน ญาติ คนสนิท มาร้านบ่อย ๆ ธุรกิจก็จะแข็งแรง เมื่อธุรกิจแข็งแรง องค์กรก็จะกลับไปดูแลพนักงานให้มีความสุขได้

“แม้เป็นความคิดที่ฟังดูแล้วเป็นนามธรรม พนักงานฟังแล้วอาจจะงง ๆ แต่ความสุขที่เราทำต้องเป็นความสุขที่จับต้องได้ เพราะหากเป็นความสุขที่พูดเฉย ๆ ลอย ๆ ก็จะเป็นเพียงแค่คำ ๆ หนึ่งเท่านั้น”

ดังนั้นจะต้องแปลความสุขให้ออกมาเป็นการกระทำ เป็นสิ่งที่พยายามทำต่อเนื่องสม่ำเสมอ และเริ่มทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น มีโมเดลที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วง 3 ปีนี้

ฟู้ดแพชชั่น บาร์บีคิวพลาซ่า
รูปจากเว็บไซต์ www.foodpassion.co.th

โมเดลความสุขที่จับต้องได้

ชาตยา บอกว่า “ความสุขที่จับต้องได้” พัฒนาออกมาในรูป สวัสดิการพนักงาน ด้วยโมเดล Happy 4+4  คือ กินดี พักสบาย กายแข็งแรง แบ่งปันความรู้ เมื่อพนักงานมีความสุข มีพลัง มีความคิดสร้างสรรค์ จะมีจิตวิญญาณในการสร้างความสุขให้แก่ลูกค้ามากกว่าที่คิด เมื่อองค์กรสามารถดูแลกายและใจของพนักงาน รวมไปถึงครอบครัวของพนักงานให้มีความสุขได้แล้ว พนักงานก็จะสามารถดูแลลูกค้าได้อย่างเต็มที่

หากมองในฐานะที่เป็นแบรนด์ “บาร์บีคิวพลาซ่า” ต้องการเป็นแบรนด์ที่คนรัก สร้างแรงบันดาลใจ ด้วยวิชั่นนี้  การทำกิจกรรมการตลาด และกิจกรรมสำหรับพนักงาน  จะถูกเลือกและตัดสินใจอยู่บนแก่นของความคิดดังกล่าว

แม้กระทั่งกิจกรรมที่ดูเล็กอย่างมาก แต่เป็นความสุขที่จับต้องได้ คือ “กินดี”  พนักงานต้องกินอิ่ม เพราะฟู้ดแพชชั่น เป็นธุรกิจอาหาร หากพนักงานกินไม่อิ่ม คงไม่มีแรงทำงาน ดูแลลูกค้า จึงทำโครงการกินดี ด้วยการเลี้ยงอาหารพนักงานที่สาขา ด้วยโครงการกินข้าวหม้อเดียวกัน โดยให้พนักงานทั้ง 2 แบรนด์ที่มีสาขาอยู่ในทำเลใกล้กันมีโอกาสกินข้าวหม้อเดียวกัน เพื่อให้พนักงานมีความผูกพันกันเป็นแบรนด์พี่แบรนด์น้อง

“พักสบาย”  ปัจจุบันแม้ยังไม่มีความสามารถดูแลเรื่องที่พักให้กับพนักงานได้ แต่ได้ทำ “บ้านที่สอง” คือที่ทำงาน เพื่อให้พนักงานมีความสุข  เพราะพนักงานบริการต้องใช้เวลาเดินเสิร์ฟวันละ 10 ชั่วโมง ระยะทางเป็น 10 กิโลเมตร จึงได้จัดสรรพื้นที่ขายของที่แม้มีราคาค่าเช่าสูง มาทำเป็นห้องพักพนักงาน แต่พบว่าผลประกอบการดีขึ้น แม้มีพื้นที่ขายลดลง

มาจาก “พนักงานที่มีพลัง” นอกจากนี้ยังมีลูกเล่น ด้วยการใช้ “แก๊งส่งสุข” ซึ่งจะเป็นทีมงานที่จะไปเยี่ยมเพื่อทำเซอร์ไพรส์ ให้พนักงานสาขาต่าง ๆ  ที่จะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข  เพราะเมื่อแก๊งส่งสุข ไปเยี่ยมสาขาไหน สาขานั้นพนักงานจะได้พักทำงาน 1 ชั่วโมง โดยแก๊งส่งสุข จะทำหน้าที่ทำงานแทนทั้งหมด

นอกจากนี้ยังมีพนักงานพิการ ทำหน้าที่หน่วยส่งความสุข ด้วยการนวดผ่อนคลายให้กับพนักงานสาขาและที่โรงงาน ที่ถือเป็นลูกเล่นดูแลพนักงานให้มีร่างกายแข็งแรง

“เงินดี” เป็นโครงการสร้างวินัยทางการเงินให้กับพนักงาน ส่วน “ครอบครัวดี” เป็นการดูแลครอบครัวพนักงาน ทั้งพ่อแม่และลูกของพนักงาน โดยสนับสนุนด้านการเรียนรู้ เช่น การออกแคมป์พัฒนาการศึกษาของลูกๆ พนักงาน  พร้อมจัดกิจกรรมให้ฝึกงานที่ บาร์บีคิวพลาซ่า เพื่อให้เห็นคุณค่าการทำงานของพ่อแม่และโอกาสพบกับพ่อแม่สำหรับลูกๆ ที่อยู่ต่างจังหวัด

“การดูแลพนักงาน ไม่ใช่โครงการที่ใช้เงินจำนวนมาก  โครงการต่าง ๆ ทำเพื่อให้เกิดความผูกพันกับพนักงาน ที่มีต่อพนักงานด้วยกัน และมีต่อองค์กร ลูกค้า และสังคม”

ฟู้ดแพชชั่น บาร์บีคิวพลาซ่า
ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด

การวิจัยระบุว่า พนักงานที่มีความผูกพันกับองค์กร  จะเกิด 3 อย่าง คือ 1. พนักงานจะพูดดีถึงองค์กร มีการชักชวนเพื่อนหรือคนใกล้ชิดมาทำงาน และช่วยปกป้ององค์กร  2. พนักงานจะอยู่กับองค์กรนานขึ้น ช่วยลดต้นทุนที่เกิดจากการลาออกของพนักงาน และ 3.พนักงานทำงานอย่างทุ่มเท  ทั้ง 3 สิ่งเป็นเรื่องที่องค์กรไม่สามารถบังคับให้พนักงานทำได้ แต่ต้องขับเคลื่อนผ่านกิจกรรมที่องค์กรออกแบบมา

“สิ่งที่เราทำถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว เริ่มตั้งต้นจากการสร้างความสุขให้พนักงาน ที่จะนำไปสู่ผลประกอบการทางธุรกิจ เพราะเชื่อว่าหากสร้างความสุขให้พนักงานได้มากพอ ธุรกิจก็จะดีตามไปด้วย สะท้อนจากผลลัพธ์ทางธุรกิจ ที่ผลกำไรโต 128%”

Avatar photo