World News

เตือนตึงเครียด ‘อิหร่าน-สหรัฐ’ สกัดศก.โลกฟื้นตัว ‘น้ำมัน’ มีสิทธิพุ่งถึง 150 ดอลล์

นักวิเคราะห์พากันออกมาแสดงความเห็นว่า ความตึงเครียดในระดับสูง หลังสหรัฐปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ สังหาร “คาเซ็ม โซเลมานี” ผู้บัญชาการทหารระดับสูงของอิหร่าน อาจสร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างหนักให้กับเศรษฐกิจโลก

GettyImages 1189678216

นายเจสัน ทูวีย์ นักเศรษฐศาสตร์ตลาดเกิดใหม่อาวุโส จากแคปิตัล อิโคโนมิคส์ ระบุว่า การสังหหารพล.อ.คาเซ็ม โซเลมานี ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของจักรวรรดิอิหร่านนั้น จะทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้

“เราเคยประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะตกต่ำถึงขีดสุดตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 และหลังจากนั้นก็จะฟื้นตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐ กับอิหร่าน จะสกัดการฟื้นตัวให้หยุดชะงักลง”

เขาบอกด้วยว่า ในขณะนี้เห็นได้ชัดเจนว่า ความกังวลหลักของเศรษฐกิจโลกต่อเรื่องที่เกิดขึ้น คือ เหตุการณ์ต่างๆ จะบานปลายไปจนอยู่เหนือการควบคุม และสหรัฐจะตัดสินใจปฏิบัติการทางทหารอย่างเต็มรูปแบบต่ออิหร่าน ซึ่งหากเศรษฐกิจอิหร่านล่มสลายลง อาจทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของโลกหายไปมากถึง 0.3% หรือเท่ากับความเสียหายจากการทำสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่เคยมีการประเมินไว้ก่อนหน้านี้

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงกว่านั้น คือ การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบ

นายเอียน เชปเพิร์ดสัน หัวหน้านักเศรษฐศาตร์จากแพนธีออน แมคโครอิโคโนมิคส์ เขียนไว้ในรายงานสำหรับลูกค้าว่า ในการประเมินเบื้องต้นนั้น เชื่อว่าความตึงเครียดที่เกิดขึ้น ไม่มีแนวโน้มที่จะบานปลายกลายเป็นการทำสงครามอย่างเต็มรูปแบบระหว่างสหรัฐ กับอิหร่าน แต่มีความเป็นไปได้ที่โครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมน้ำมัน จะตกเป็นเป้าในการดำเนินมาตรการตอบโต้กันไปมา ที่จะมีความรุนแรงขึ้น

วิธีที่เป็นไปได้อย่างหนึ่ง ที่อิหร่านอาจจะหยิบยกขึ้นมาตอบโต้กับสหรัฐ คือ พยายามปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญ สำหรับการจัดส่งน้ำมัน มากกว่า 1 ใน 5 ของปริมาณการบริโภคทั่วโลก และเป็นภูมิภาคที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (อีไอเอ) เรียกขานว่า “เป็นจุดอันตรายที่มีความสำคัญมากที่สุดในโลก” ซึ่งก่อนหน้านี้ อิหร่านก็เคยขู่ที่จะก่อกวนการเดินเรือในบริเวณนี้มาแล้ว ในความพยายามที่จะตอบโต้ที่สหรัฐประกาศมาตรการคว่ำบาตรประเทศ

ถ้าหากเกิดกรณีข้างต้นขึ้นจริง นายทูวีย์ จากแคปิตัล อิโคโนมิคส์ คาดว่า ราคาน้ำมันเบรนท์ ทะเลเหนือ อาจพุ่งขึ้นไปเคลื่อนไหวที่ระดับ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หนุนให้ระดับเงินเฟ้อของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ทะยานขึ้นมาอยู่ที่ราว 3.5-4.0%

ส่วนนายเชปเพิร์ดสัน ชี้ว่า ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทำให้เกิด “ภาษีผู้บริโภคน้ำมัน และความโชคดีของผู้ผลิต”

“การบริโภคน้ำมันโลกอยู่ที่ราว 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดังนั้น 5 ดอลลาร์ที่อยู่ในราคาน้ำมัน ก็จะเท่ากับภาษีรายปีราว 183,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 0.1% ของจีดีพีโลก”

อย่างไรก็ตาม นายเชปเพิร์ดสัน มองว่า มีโอกาสน้อยมาก ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะตัดสินใจตอบสนองต่ออัตราเงินเฟ้อที่ทะยานขึ้น ด้วยการขึ้นดอกเบี้ย เพราะเฟดเข้าใจถึงสถานการณ์เช่นนี้เป็นอย่างดี

Avatar photo