Properties

‘สหรัฐ-อิหร่าน’ ปัจจัยลบหนัก อสังหาฯปล่อยขายที่เลี่ยงภาษี ‘ลลิล’ลุยเปิด 9-11 โครงการ

หลังจากปิดยอดขายปี 2562 ได้ที่กว่า 5,500 ล้านบาท มียอดรับรู้รายได้ 4,640 ล้านบาท เติบโตขึ้น 13.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในปี 2563 นี้ แม้จะมีปัจจัยลบหลายประการ โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกประเทศ แต่ ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ยังประกาศลุยเปิดโครงการใหม่เพิ่มอีก 9 – 11 โครงการ

นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มากว่า 30 ปี เปิดเผยว่า ในปีนี้สิ่งที่ต้องจับตามองคือ ภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน ที่ต้องจับตามองอย่างเข้นข้น เพราะหากเกิดความรุนแรงมากขึ้น ต้องส่งผลกระทบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย

แลนซิโอ

อย่างไรก็ตาม สำหรับ ลลิลฯ จากการเติบโตได้ในภาวะอสังหาริมทรัพย์ขาลง ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ และในปี 2563 นี้ ลลิลฯ ยังคงวางเป้าหมายรายได้อยู่ที่ ยอดขาย 6,200 ล้านบาท เติบโต 13% เท่ากับปีที่ผ่านมา พร้อมวางเป้าหมายมียอดรับรู้รายได้ 5,250 ล้านบาท โดยจะเปิดโครงการใหม่อย่างน้อย 9-10 โครงการ เน้นในกรุงเทพและปริมณฑล ควบคู่กับการมองหาโอกาสใน 10 จังหวัดยุทธศาสตร์หลักที่บริษัทได้เริ่มศึกษาตลาดอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ นายไชยยันต์มองว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยของไทยในปี 2562 ที่ผ่านมา ชะลอตัวลง โดยเฉพาะในกลุ่มแนวสูง หรือคอนโดมิเนียม และจะยังคงลดความร้อนแรงต่อเนื่องในปีนี้ ซึ่งเป็นผลทั้งจากเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง ภาวะหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูง ตลอดจนมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกมาเพื่อลดการเก็งกำไรในตลาดอสังหาฯ

“เรามองเห็นความเสี่ยงจุดนี้มาล่วงหน้า จึงได้หยุดการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมมาแล้วกว่า 2 ปี เน้นพัฒนาแต่โครงการแนวราบที่เป็นเรียล ดีมานด์ ทำให้บริษัทยังคงสามารถเติบโตได้ แม้ในภาวะตลาดอสังหาฯ โดยรวมที่ซบเซา”นายไชยยันต์กล่าว

นอกจากนี้ การประกาศใช้ภาษีที่ดิน คาดว่าจะทำให้เกิดการปล่อยขายที่ดินของผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ซื้อเพื่อเตรียมพัฒนาโครงการ แต่ยังไม่สามารถขึ้นโครงการได้เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงกลุ่มซื้อเพื่อเก็งกำไร รวมถึงจะเห็นการเปิดตัวโครงการลดลง และเป็นไปตามสภาพความเป็นจริงในตลาดมากขึ้น จาก 1-3 ปี ก่อนหน้านี้ ที่ผู้ประกอบการหลายราย ต่างทุ่มลงทุนอย่างหนักจนเกิดโอเวอร์ซัพพลายในตลาด ทำให้ปีนี้การลงทุนจะลดความร้อนแรงลง

Lalin 5

สำหรับในปี 2563 นี้ คาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับในปี 2562 หรือดีขึ้นเล็กน้อย หรือขยายตัวได้ที่ราว 3% บวกลบ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เม็ดเงินการลงทุนของภาครัฐ ที่จะเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้นในปี 2563 นี้ หลังจากที่มีการล่าช้าไปในปี 2562 ตลอดจนมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ของภาครัฐที่ออกมา และนโยบายสนับสนุนให้คนไทยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ผ่านการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยแบงก์รัฐ

ทั้งหมดนี้ คาดว่าจะช่วยให้ตลาดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาส 1 ปี 2563 ขยายตัวได้ดีขึ้นจากปี 2562 ขณะที่ผู้ประกอบการจะพยายามกระตุ้นกำลังซื้อผ่านกิจกรรมทางการตลาดอย่างเข้มข้น โดยคาดการณ์ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์แนวราบในปี 2563 จะเติบโตได้ที่ 2 – 4%

ด้านนายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปี 2563 นี้ว่า จะให้ความสำคัญกับตลาดที่อยู่อาศัยในกลุ่มแนวราบ ที่เป็นเรียลดีมานด์ ตลอดจนเปิดโครงการใหม่เพื่อทดแทนโครงการเดิมของบริษัทฯ ที่ทยอยปิดโครงการ โดยมีแผนเปิดโครงการใหม่ทั้งสิ้น 9 – 11 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 5,000 – 5,500 ล้านบาท เน้นแบรนด์ แลนซิโอ และ ไลโอ เป็นแบรนด์เรือธง

ในปีนี้ ลลิลฯ จะดำเนินธุรกิจเชิงรุก แสดงศักยภาพขององค์กรต้นแบบผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์อย่างยั่งยืน มากกว่า 30 ปี รวมถึงการสร้างศักยภาพองค์กรให้เติบโตในตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างมั่นคง โดยเมื่อกล่าวถึงที่อยู่อาศัยแนวราบราคาตั้งแต่ 2 -6 ล้านบาท แบรนด์ลลิล จะต้องเป็น Top of Mind ใน 3 ลำดับแรกของผู้บริโภค”นายชูรัชฏ์ กล่าว

Lalin 6

ด้านกลยุทธ์การทำตลาดในปีนี้ จะนำกลยุทธ์ ไลฟ์สไตล์ มาร์เก็ตติ้ง มาสื่อสารกับลูกค้าทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างแม่นยำ อีกทั้งเป็นการสร้างแบรนด์ ลอยัลตี้ กับลูกค้าเป้าหมาย  โดยในปีนี้จะเน้นต่อยอดการใช้สื่อดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง รวมทั้งนำบิ๊กดาต้ามาใช้ เพื่อวิเคราะห์และหา คอนซูเมอร์ อินไซต์ ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า หรือ ซีอาร์เอ็ม โดยตั้งงบด้านการตลาดในปีนี้ไว้ที่ประมาณ 3 – 4%

นอกจากนี้ ยังวางงบซื้อที่ดินไว้ที่ประมาณ 1,000 – 1,200 ล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และกำไรสะสมของบริษัทฯ ในส่วนของ Working Cap ในการดำเนินธุรกิจ นอกจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานแล้ว ส่วนหนึ่งจะมาจากการออกหุ้นกู้ และแหล่งเงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงิน ซึ่งจะพิจารณาออกในจำนวนและช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้สอดรับกับการขยายธุรกิจ และการเติบโตในระยะยาวของบริษัท

ทั้งนี้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ของบริษัทฯ ในปัจจุบันอยู่ในระดับเพียงประมาณ 0.8 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ราว 1.4 เท่าอยู่มาก ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนความเสี่ยงทางด้านการเงินที่ต่ำ และยังคงมีศักยภาพในการขยายธุรกิจได้อีกมากโดยไม่ติดปัญหาเรื่องของแหล่งเงินทุน

Avatar photo