COLUMNISTS

ปฏิรูปการศึกษารับ ‘ประเทศไทย 4.0’

Avatar photo
233

เป้าหมายการพัฒนาประเทศไทยเข้ายุค 4.0 อุตสาหกรรมเทคโนโลยี ที่ประสานพลังการขับเคลื่อนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ยังคงเป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ซึ่งไทยมีความพร้อมหลายอย่าง ทั้งในแง่ของการเป็นแหล่งผลิตในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออก การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ และอีกหลายอุตสาหกรรมที่รัฐบาล ตั้งเป้าให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้ง 10 S-curve

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ(First S-curve) ที่ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ( Next-Generation Automotive)  อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism) อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology) อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร (Food for the Future)

รวมทั้ง 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ซึ่งประกอบด้วย หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม(Robotics) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์(Aviation and Logistics) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) อุตสาหกรรมดิจิทัล(Digital) และ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)

ทั้ง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้ ล้วนต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเป็นเครื่องมือ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อน ซึ่งปัญหาที่พบในปัจจุบัน คือการพัฒนาคนที่จะป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ ยังมีปัญหาขาดแคลนบุคลากรระดับช่างฝีมือ ผู้ที่เรียนรู้โดยตรงเพื่อมาทำงานกับเทคโนโลยีใหม่ ทั้งหุ่นยนต์และระบบดิจิทัลอื่น

การศึกษาบ้านเราเน้นเรียนจบปริญญาตรี ในสาขาที่หลากหลายบางสาขาไม่มีงานรองรับมากพอ ทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน เกิดปัญญาการเรียนการสอนไม่เอื้อต่อการสร้างคนให้ภาคอุตสาหกรรม และขาดแคลนแรงงานระดับช่างฝีมือ หรือช่างเทคนิค ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาตลอดหลายปี

แนวโน้มก็ยังไม่เห็นการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา เพื่อรองรับความต้องการของตลาดดังกล่าว ยังคงมีปัญหาว่างงาน และภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ยังคงขาดแคลนบุคลากรระดับกลางอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องนี้ ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ก็มองเห็นปัญหาและพยายามปรับแก้ไข ด้วยการหารือร่วมกับสถาบันการศึกษา ในการพิจารณาปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ที่จะสร้างบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งก็เป็นแนวโน้มการแก้ปัญหาที่ดี

แต่ทั้งนี้คงต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ในการจะสร้างคนให้พร้อมสำหรับการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ในเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ต้องมีรายละเอียดและความร่วมมือที่มากกว่าปัจจุบัน เพราะการพัฒนาแรงงาน เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ให้ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมีศักยภาพ

การปรับปรุงแก้ไขใดๆ ล้วนต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การปฏิรูปการศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพแรงงานให้ตรงกับความต้องการตลาด ก็ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาคการศึกษา และฝ่ายผู้จ้างแรงงาน ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนา จึงจะสำเร็จได้ตามเป้าหมาย

วันนี้อุตสาหกรรมไทยวางเป้าหมายใน 10 อุตสาหกรรมหลัก ซึ่งล้วนต้องการแรงงานที่มีความรู้ความสามารถออกมารองรับ การพัฒนาจึงจะเดินหน้าได้รวดเร็วตามเป้าหมาย ซึ่งการพัฒนาไม่สามารถ ทำโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ต้องเดินไปด้วยกัน ทั้งแรงงานและภาคอุตสาหกรรม