Business

รัฐ-เอกชนเร่งปั้นอาชีวะพันธุ์ใหม่ป้อนS-Curve

image3
บรรยากาศงานสัมนา “อาชีวะ 4.0 ศักยภาพแห่งอนาคต”

พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวในงานเสวนา “อาชีวะ 4.0 ศักยภาพแห่งอนาคต” ซึ่งจัดโดยโครงการ Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ว่า บุคลากรสายอาชีวะในประเทศปัจจุบันมีประมาณ 6-8 ล้านคนเท่านั้นหรือมีแค่ 15% ของแรงงานในประเทศที่มีอยู่ราว ๆ 35-40 ล้านคน ขณะที่การผลิตบุคลากรสายอาชีวะก็ยังได้ทำเพียง 2 แสนกว่าคนต่อปีซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะรองรับการพัฒนาประเทศ ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และกำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายหรือ S-Curve เป็นตัวชูโรงในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว

ดังนั้น ประเทศไทยยังต้องการบุคลากรที่มีทักษะทั้งด้านปริมาณและคุณภาพอีกจำนวนมาก แต่การผลิตที่ยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนมาทำงานร่วมกัน ในการสร้างอาชีวะพันธุ์ใหม่ที่ตรงกับความต้องการของตลาด คือเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านเครื่องกล สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้ เป็นต้น รวมทั้งมีความรู้ความสามารถเข้าไปเติมเต็มส่วนที่ตลาดต้องการ เพื่อนำไปสู่การผลิตที่มีคุณภาพได้

“รัฐบาลได้วางเป้าหมายที่จะเร่งผลิตบุคลากรสายอาชีวะให้ได้อย่างน้อย 2 ล้านคนภายในระยะเวลา 5 ปี ผ่านการเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ จากภาคเอกชนเข้ามาช่วยเติมเต็ม ขณะเดียวกันได้เร่งสร้างความเข้าใจและแรงจูงใจเพื่อเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพให้มากขึ้น” พลอากาศเอก ประจิน กล่าว

ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาการพัฒนาแรงงานอาชีวะนั้น มีความคืบหน้าด้วยดี โดยในปี 2561 มีสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพทั่วประเทศเพิ่มเป็น 39.70% และสายสามัญ 60.30% ซึ่ง สอศ.มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนให้เป็น 50 : 50 ระหว่างผู้เรียนสายอาชีพ และสายสามัญ ตามนโยบายของรัฐบาล ขณะที่การพัฒนาในเชิงคุณภาพ ได้ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม ร่วมกันพัฒนาทักษะนักเรียนอาชีวะอย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาค

เชฟรอนชู 2S ผลิตช่างเทคนิครุ่นใหม่

ด้านนายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า การเร่งพัฒนาช่างเทคนิค ให้มีทักษะฝีมือเพื่อเท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ ถือเป็นโจทย์สำคัญของโครงการ Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต และจากการทำวิจัยเชิงลึกร่วมกับหลายหน่วยงาน เรื่อง “ปัญหา – ความท้าทายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย 4.0” พบว่าหัวใจสำคัญในการผลิตช่างเทคนิคที่มีศักยภาพคือ การเพิ่มและเติม 2 S คือ STEM และ SKILLs ซึ่งหมายถึงการเพิ่มองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรมและคณิตสาสตร์ และเติมทักษะวิชาชีพให้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่แก่ครูอาชีวะ เพื่อไปถ่ายทอดและผลิตช่างเทคนิครุ่นใหม่ ที่จำเป็นต้องมีตรรกะการคิด คำนวณ วิเคราะห์และสื่อสารได้หลายภาษา รวมถึงมีภาวะผู้นำ และทักษะในการเข้าสังคม ควบคู่ทักษะการควบคุมเครื่องจักรกลสมัยใหม่

“ทักษะที่เราต้องการคือบุคลากรที่มีจิตสำนึกในด้านความปลอดภัย ซึ่งอุตสาหกรรมพลังงานและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง มองหาตรงจุดนี้กันมาก นอกเหนือไปจากความรู้พื้นฐานด้านเทคนิค ที่สำคัญบุคลากรรุ่นใหม่ต้องมีใจที่เปิดกว้างในการพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยี มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว จึงต้องเปิดกว้างเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รวมทั้งเรียนรู้ด้านการจัดการต้นทุน การจัดทำโปรแกรม เป็นต้น ที่สำคัญทักษะด้านภาษาถือเป็นเรื่องสำคัญอีกด้วย”นายอาทิตย์ กล่าว

ขณะที่ ดร.ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการสถาบันคีนันแห่งเอเชีย กล่าวว่า กระบวนการพัฒนาช่างเทคนิค จะทำควบคู่ไปกับการจัดตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อเพิ่มทักษะอาชีพ (TVET Hub) ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรพื้นฐาน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และปรับรูปแบบการสอนครูอาชีวะ โดยมีเป้าหมายคือผลิตช่างเทคนิคที่มีทักษะตรงกับความต้องการในกลุ่มอตสาหกรรม S Curve ที่จะพุ่งเป้าไป 4 อุตสาหกรรมหลักคือ ยานยนต์และชิ้นส่วน, พลังงาน, แปรรูปอาหาร และไมโครอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ หลักสูตรการพัฒนาช่างเทคนิคที่ออกแบบมานั้น ที่ผ่านมาสามารถผลิตบุคลากรช่างเทคนิคได้ 1.4 แสนคน ขณะเดียวกันยังร่วมกับเอกชนในการพัฒนาแรงงาน ให้เป็นแรงงานมีทักษะเพิ่มขึ้นอีกจำนวนกว่า 8 หมื่นราย

Avatar photo