Auto

ส่องทางรอด ผู้ผลิต ‘ชิ้นส่วนรถยนต์ไทย’ ยุค ‘รถไฟฟ้า’ มาแรง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จัดทำวิจัยเรื่อง “ทางรอด… ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย จากเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าโลก” โดยระบุว่า การมาของรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากก่อให้เกิดผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน กล่าวคือ ความต้องการชิ้นส่วนรถยนต์บางประเภทจะลดลง โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์ ยังทำให้เกิด “ห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า” ขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ จะมีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้นจากการเติบโตของตลาดในระยะข้างหน้า แต่ก็มาพร้อมกับการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ระหว่างผู้ผลิตเดิมที่พยายามยกระดับตนเองสู่การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า และผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหม่ที่มาจากอุตสาหกรรมอื่น เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมพลังงาน

electric car

จากทิศทางการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าอาจก่อให้เกิดการสร้าง แพลตฟอร์มร่วมขึ้น ทั้งในค่ายรถและระหว่างค่ายรถมากขึ้น จากเดิมที่แต่ละค่ายรถจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองเพื่อสร้างความแตกต่างให้เหนือกว่าคู่แข่ง จะพัฒนาสู่การออกแบบโครงสร้างรถยนต์ที่สามารถใช้ร่วมกันระหว่างรุ่นรถ หรือแม้แต่ระหว่างค่ายรถ ส่งผลให้มีการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ร่วมกันมากขึ้นด้วย

ในทางเดียวกัน ก็อาจทำให้จำนวนผู้ผลิตชิ้นส่วนมีโอกาสลดลงหลังจากปี 2570 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ระดับ Tier-2 (ผู้จัดหาหรือผู้ผลิตชิ้นส่วนย่อย) ราว 600 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นกิจการของคนไทยกว่าครึ่งหนึ่ง โดยระดับของผลกระทบจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของแต่ละบริษัทด้วย

60 8

ทั้งนี้ ในระยะยาว หากไทยสามารถสร้างห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนเฉพาะของรถยนต์ไฟฟ้าได้ก่อนประเทศอื่นในภูมิภาคโดยเฉพาะอินโดนีเซีย และสามารถพัฒนาให้เกิดปปริมาณการผลิตที่มากขึ้น และถึงจุดคุ้มค่าต่อการลงทุน หรือ อีโคโนมี ออฟ สเกล (Economies of Scale) ได้โดยเร็ว จะทำให้ไทยมีโอกาสเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อส่งออกไปยังฐานการผลิตอื่นได้อีกด้วย

ในทางตรงกันข้าม หากการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของไทยช้ากว่าการเติบโตของตลาด จะทำให้รถยนต์ไฟฟ้า BEV หรือรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้กระแสไฟจากแบตเตอรี่จากจีนที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า สามารถเข้ามาแข่งขันในตลาด อาจทำให้เกิดผลเสียต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าของไทยได้

Avatar photo