Wellness

‘ตึกเป็นพิษ’ ภัยคนเมือง 2020

คนเมือง 2020 เสี่ยงป่วยด้วย “กลุ่มโรคตึกเป็นพิษ” จากเชื้อรา-สารเคมีสีทาผนัง-ไรฝุ่น-อากาศไม่ถ่ายเท แนะ 4Es ปรับพฤติกรรมลดเสี่ยง 

condominium 1149195 640 1

ประเดิมโรคปี 2563 ด้วยชื่อแปลกๆแต่มีจริง เรียกว่า “โรคตึกเป็นพิษ” หรือ Sick building syndrome กลุ่มโรคที่แสดงอาการเมื่อต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากการใช้ชีวิตในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน หรือที่อยู่อาศัย สัมพันธ์กับมลภาวะทางอากาศ โดยคาดการณ์ ว่าในปี 2563 จะมีคนเมืองป่วยมากขึ้นจากโรคนี้

S 4096393

ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เป็นเลิศด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อธิบายว่า กลุ่มโรค Sick building syndrome เป็นกลุ่มโรค ที่วงการแพทย์ในปัจจุบัน ให้ความสำคัญ และเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด เนื่องจากพบว่าประชากร 1 ใน 3 ของผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีประวัติป่วยเป็นกลุ่มโรคนี้ และแนวโน้มมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ตามจำนวนประชากร ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

เนื่องจากเมืองมีประชากรหนาแน่น การจราจรติดขัด และอาคารบางแห่ง ยังเป็นโครงสร้างแบบเก่าที่มีความชื้น และใช้สีทาผนังหรือสิ่งพิมพ์ที่เป็นสารระเหยง่าย (volatile organic compounds)

สำหรับมลพิษภายในอาคารเกิดขึ้นได้ จากทั้งที่เล็ดลอดเข้ามา และเกิดจากภายในอาคารเอง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ ที่ระบบระบายอากาศไม่ถ่ายเท พรมทางเดินมีไรฝุ่น มีการตกแต่งใหม่ มีการใช้สีทาผนัง ซึ่งเต็มไปด้วยสารเคมีต่างๆ มีความชื้น รอยรั่วซึม ซึ่งทำให้เกิดเป็นเชื้อราตามฝาผนัง ทั้งหมดส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ อ่อนเพลียง่าย ปวดหัว ไอ จาม คลื่นไส้ หายใจไม่สะดวก

“ต้องสังเกตอาการตัวเองให้ดี เช่น ทำไมเดินเข้าอาคารนี้ แล้วรู้สึกไม่ค่อยดี อยู่นานๆ แล้วรู้สึกเวียนหัว เพลีย แสบคอ คันตา คันจมูก คันผิวหนัง อาการผิดปกติเช่นนี้เกิดจากการ ที่เราไปใช้ชีวิตอยู่ในอาคาร ที่มีมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรค ”

accommodation 2693042 640

สำหรับการแก้ปัญหานั้น ขอแนะนำว่า ให้เอาตัวเองออกมาข้างนอก จะทำให้รู้สึกดีขึ้น แต่สำหรับผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ โรคทางเดินหายใจ จะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้อื่น อาจมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น ผู้ป่วยโรคหอบ ก็จะเสี่ยงอาการกำเริบมากขึ้น แต่ถึงคนๆนั้น จะไม่ได้เป็นโรค หรือครอบครัวไม่ได้มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ แต่ถ้าใช้ชีวิตอยู่ในสถานที่ ที่มีความเสี่ยงทุกวัน ก็จะกลายเป็นผู้ป่วยได้ในที่สุด

นอกจากนี้ คนเมืองยังสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคประเภทออฟฟิศซินโดรม ซึ่งมาจากการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ ขาดการออกกำลังกาย เพราะพื้นที่ในแนวดิ่งไม่เอื้ออำนวย เช่นเดียวกับการเกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs (Non-Communicable diseases) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากวิธีการใช้ชีวิต ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การบริโภคอาหาร การขาดการออกกำลังกาย

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาในระยะยาว ทำได้โดยการปรับปรุงสถานที่ในเป็นมิตรกับสุขภาวะให้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม แม้ระบบอาคารจะถูกออกแบบใหม่ เพื่อให้อากาศถ่ายเท แต่ถ้าคอนโดมิเนียม อยู่ในสถานที่ตั้งที่มีดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็ต้องมีเครื่องฟอกอากาศช่วย และต้องถูกวาง ในห้องที่สมาชิกครอบครัวใช้เวลามากที่สุด โดยเปิดทิ้งไว้ล่วงหน้า 30 นาทีเป็นอย่างน้อย

ขณะเดียวกันการจัดห้องนอนก็ต้องโล่งที่สุด ไม่ควรมีพรม ซึ่งเสี่ยงต่อการเก็บไรฝุ่น ผ้าม่านต้องทำความสะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการมีตุ๊กตา และหมอนจำนวนมาก เพราะเสี่ยงต่อการเก็บกักเชื้อโรค และสารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่น

girl 4121276 640

ที่สำคัญคนเมืองยุคนี้ต้องปรับตัวพฤติกรรมตามหลัก 4Es ประกอบด้วย

  • Eating การกิน
  • Exercise การออกกำลังกาย
  • Environment ปรับสภาพแวดล้อมรอบตัว
  • Emotion ปรับอารมณ์

และต้องติดตามข่าวสารอยู่เสมอ หากไปยังสถานที่ใด ที่ค่าดัชนีเตือนว่าต้องระวัง ต้องพกพาหน้ากากอนามัยให้เป็นนิสัย และยิ่งเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในที่ที่มีฝุ่นมากต้องใส่หน้ากากแบบ N95 ซึ่งป้องกันฝุ่น PM 2.5 และเชื้อไวรัสได้ ส่วนในกรณีผู้มีประวัติป่วยเป็นภูมิแพ้ ต้องพกยาติดตัวไว้ตลอด เพราะไม่รู้ได้เลยว่า จะต้องไปเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงเมื่อใด

Avatar photo