Waste Management

‘อ.ธรณ์’ ชี้ไทยถึงบันไดขั้น 2 ลดขยะพลาสติก หนุนเดินหน้าออกพ.ร.บ.ปีนี้

วันนี้ (3 ม.ค.) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลไทย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat” ว่า  ไทยอยู่บันไดขั้นที่ 2 ลดขยะพลาสติก ชี้มีหลายอย่างทำควบคู่ไปได้ แนะยกระดับอุตสาหกรรมพลาสติกไปสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เพื่อให้การลดขยะ ไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหรรมนี้

80803213 3246672342014613 1081632967412940800 n
ภาพ : เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

ปีใหม่แล้ว การจัดการปัญหาขยะพลาสติกใช้แล้วทิ้ง/ขยะทะเล เริ่มเข้มข้นขึ้น เลยอยากสรุปให้เพื่อนธรณ์ฟัง

เริ่มจากผลกระทบของขยะทะเลในปี 62 ที่ผ่านมาไม่ได้ลดลง สัตว์ทะเลหายากหลายร้อยตัวบาดเจ็บ/ตาย ทั้งติดขยะทะเลภายนอก/กินขยะ  หาดที่เต็มไปด้วยขยะพลาสติกพบอยู่ทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่หาดห่างไกลไม่มีชุมชนใหญ่ใกล้เคียง

เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครผู้ไปช่วยเก็บขยะต่างรายงานว่า ขยะทะเลมีอยู่มหาศาล ถุงพลาสติกซ้อนกันเป็นชั้นๆ ใต้ผืนทราย ถึงขึ้นต้องใช้จอบขุด ยังรวมถึงขยะทะเลที่สะสมอยู่ตามพื้นทะเล ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และแตกตัวเป็นไมโครพลาสติก เริ่มเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร

นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่เราต้องเร่งมือจัดการขยะพลาสติกเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหนักหน่วงจนส่งผลต่อทะเล สัตว์น้ำเศรษฐกิจ หาดท่องเที่ยว ตลอดจนภาพลักษณ์ในสายตาชาวโลก ที่อาจกลับมาเป็นการกีดกันทางการค้า/การขึ้นภาษี/แบนสินค้าของไทย ฯลฯ

แผนเราเป็นบันได 3 ขั้น รณรงค์ – ข้อตกลง – กฎระเบียบเราอยู่ในขั้นรณรงค์มาร่วม 20 ปี และยังต้องทำต่อไป แต่ตอนนี้เรากำลังขึ้นบันไดขั้นสอง โดยกระทรวงทรัพยากรทำข้อตกลงกับห้างร้านกว่า 90 แห่งที่จะไม่แจกถุงพลาสติกหูหิ้วอย่างบาง

ข้อตกลงสามารถยกเลิกได้ กระทรวงฯ จึงกำลังพยายามไปขั้นสาม โดยออกพรบ.จัดการปัญหาขยะพลาสติก ให้ได้ในปีนี้ เพื่อยกระดับการจัดการของไทยให้ทันโลก เพราะปัจจุบัน 127 ประเทศมีกฎหมาย/ระเบียบในการจัดการแล้ว (ผมโพสต์เรื่องนี้ไปหลายครั้งแล้วครับ หากสนใจย้อนไปอ่านได้)

แนวทางที่เราใช้เป็นไปตามสากล หลัก 3R = Reduce Reuse Recycle

Reduce คือลด เช่น ข้อตกลงไม่แจกถุง ช่วยลดถุงหูหิ้วได้ 13,000 ล้านใบต่อปี

Reuse คือใช้ซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นถุงอะไรหากใช้ซ้ำได้บ่อยครั้ง เท่ากับลดถุงใช้แล้วทิ้งลงได้  ยังหมายถึงการถือแก้ว/กระติก ฯลฯ ที่สามารถใช้ซ้ำได้

Recycle คือต้องพยายามแยกขยะและนำพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ เข้าระบบมากที่สุด เพื่อให้เกิด circular economy

ตัวนี้สำคัญ เพราะเราอยากลดขยะแต่ยังไม่อยากให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลาสติก  การปรับเปลี่ยนจากโรงงานดั้งเดิมมาเป็นโรงงานรีไซเคิลก็คือยังคงงานในอุตสาหกรรมอยู่ได้ ซึ่งตอนนี้เท่าที่ทราบก็มีโรงงานรีไซเคิลใหม่ๆ กำลังสร้างอยู่อย่างน้อย 2 แห่ง มูลค่าหลายพันล้าน

แต่เราจำเป็นต้องดูแลขยะพลาสติกนำเข้าให้ดี อย่าให้เมืองไทยกลายเป็นถังขยะโลก โดยอ้างว่าวัตถุดิบไม่พอ เพราะจริงๆ แล้ว ขยะพลาสติกในไทยที่สามารถรีไซเคิลได้ ยังมีอีกเยอะมาก แต่ระบบแยก/เก็บ/จัดการยังอาจไม่ดีพอนัก ซึ่งต้องจัดการต่อไป โดยเปลี่ยนผ่านจากขยะนำเข้ามาเป็นขยะรีไซเคิลในประเทศ ยังหมายถึงการยกระดับอุตสาหกรรมพลาสติกของเราไปสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ที่หลายบริษัทก็กำลังทำอยู่ (อ่านในรายงานประจำปีของบริษัทในปิโตรเคมีได้ครับ)

ยังรวมถึงอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ทดแทน ที่จะก้าวเร็วขึ้น เมื่อมีความต้องการมากขึ้น ทั้งแบบ sme เช่น วัสดุจากการเกษตร/ผักตบ ฯลฯ เรื่อยไปถึงไบโอพลาสติกในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งจะสร้างงาน/รายได้มาทดแทนพลาสติกแบบเดิม

ผมเขียนยาวหน่อยเพื่อให้เห็นว่า ปัญหาเหล่านี้ต้องมองภาพรวม และขับเคลื่อนไปพร้อมกัน บันไดสามขั้น-3R-Circular Economy

ยังมีอีกหลายอย่างที่ทำควบคู่กันไปได้ เช่น โรงไฟฟ้า โรงกำจัดขยะ ฯลฯ  แต่ไม่มีอะไรที่ทำอย่างเดียวตอบโจทย์ได้หมด ทุกอย่างล้วนแต่ต้องใช้การผสมผสานหลายวิธี หลายแนวทาง

เรื่องขยะนี่ใหญ่และสับสนพอสมควร เขียนทีไรยาวทุกที แต่เอาเป็นว่านาทีนี้ เรามาช่วยกันทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคใหม่ ยุคที่เราเข้าใจและยินดีลดความสะดวกสบายลงบ้าง เพื่อให้เมืองไทยสวยไปอีกนานๆ ครับ

Avatar photo