Business

ธปท.รายงานภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนพ.ย.ทรุดถ้วนหน้า

นายสันติ รังสิยาภรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานภาคใต้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนพฤศจิกายน 2562 โดยระบุว่าหดตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อน การอุปโภค บริโภคภาคเอกชนชะลอลง จากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งจากรายได้นอกภาคเกษตรที่ลดลง รวมถึงการชะลอซื้อรถยนต์เพื่อรอการเปิดตัวรถรุ่นใหม่

สันติ รังสิยาภรณ์รัตน์
สันติ รังสิยาภรณ์รัตน์ (ภาพ : กิมหยง.คอม)

อย่างไรก็ดี ผลของมาตรการภาครัฐและรายได้เกษตรกรที่กลับมาขยายตัวจากด้านราคา สนับสนุนให้การใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันขยายตัวได้เล็กน้อย ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวใกล้เคียงเดือนก่อน

นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวต่อเนื่อง ด้านผลผลิตเกษตรหดตัวมากขึ้นจากปาล์มน้ำมันที่ลดลงตามฤดูกาล ประกอบกับผลของฐานสูงจากการเหลื่อมฤดูกาลในปีก่อน สำหรับอุปสงค์ต่างประเทศลดลงตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่อยู่ในภาวะชะลอตัว ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการส่งออกยังคงลดลง รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาหดตัวจากนักท่องเที่ยวมาเลเซียเป็นสำคัญ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลง ตามราคาพลังงานที่หดตัวน้อยลงเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราการว่างงานหลังขจัดปัจจัยฤดูกาลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน

64124
ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ 

  • การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน

ขยายตัวชะลอลง โดยหมวดค่าใช้จ่ายภาคบริการของนักท่องเที่ยวชาวไทยและหมวดยานยนต์ขยายตัวชะลอลง ส่วนหนึ่งจากรายได้นอกภาคเกษตรที่ลดลง รวมถึงการชะลอซื้อรถยนต์เพื่อรอการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ การใช้จ่ายสินค้าไม่คงทนปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันที่กลับมาขยายตัวได้เล็กน้อยเป็นสำคัญ โดยยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่กลับมาขยายตัวจากผลด้านราคา

  • การลงทุนภาคเอกชน

หดตัวใกล้เคียงเดือนก่อน โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนยังคงหดตัวต่อเนื่อง ตามการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ลดลงของผู้ประกอบการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ น้ำมันปาล์ม รวมทั้งอุตสาหกรรมยางพาราแปรรูป เช่นเดียวกับมูลค่าการจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศที่ยังคงหดตัว สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังไม่ดีนัก อย่างไรก็ดี พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างและการจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลยังขยายตัวได้

  • การใช้จ่ายภาครัฐ

หดตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ที่ยังไม่ประกาศใช้ โดยรายจ่ายประจำหดตัวมากขึ้น ตามการเบิกจ่ายที่ลดลงในหมวดงบรายจ่ายอื่นและหมวดค่าใช้สอย อย่างไรก็ดีรายจ่ายลงทุนหดตัวน้อยลง

rubber

  • ผลผลิตภาคเกษตร

หดตัวมากขึ้นตามผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ลดลงมากตามฤดูกาลปกติ ประกอบกับผลของฐานสูงจากการเหลื่อมฤดูกาลในปีก่อน ขณะเดียวกันผลผลิตกุ้งกลับมาหดตัวเนื่องจากได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน ทำให้มีฝนตกชุกตลอดเดือน ส่งผลให้อัตราการรอดต่ำลง ด้านราคาสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวและปรับตัวดีขึ้นในทุกพืชหลักโดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน จากทั้งผลผลิตที่ลดลง และความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการภาครัฐ โดยเฉพาะการประกาศใช้ไบโอดีเซล B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐาน สะท้อนจากการแข่งขันการรับซื้อวัตถุดิบที่รุนแรงในหลายพื้นที่ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรกลับมาขยายตัว

  • มูลค่าการส่งออกสินค้า

ยังคงลดลงตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่อยู่ในภาวะชะลอตัว ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะการผลิตยางพาราแปรรูปเพื่อส่งออกไปตลาดจีนและญี่ปุ่น นอกจากนี้ การผลิตน้ำมันปาล์มดิบหดตัวสูงตามผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ลดลงมาก การผลิตถุงมือยาง
ยังขยายตัวได้จากความต้องการที่มีต่อเนื่อง

  • จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ

กลับมาหดตัวจากนักท่องเที่ยวมาเลเซียเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวจากผลของฐานสูงจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น หลังการเลือกตั้งของมาเลเซียในปีก่อน ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวยุโรปหดตัวจากนักท่องเที่ยวเยอรมันและสวีเดนเป็นสำคัญ ด้านนักท่องเที่ยวจีนขยายตัวชะลอลง โดยเป็นผลจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว  อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวอินเดียและรัสเซียขยายตัวต่อเนื่อง ได้รับผลดีจากการเปิดเส้นทางบินเพิ่มขึ้น

tourism

  • เสถียรภาพเศรษฐกิจ

อัตราเงินเฟ้อทั่วอยู่ที่ -0.43% ติดลบน้อยลงจากเดือนก่อน ตามราคาพลังงานที่หดตัวน้อยลงเป็นสำคัญ สำหรับอัตราการว่างงานหลังขจัดปัจจัยฤดูกาลอยู่ที่ 2.3%เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน

  • ภาคการเงิน

ณ สิ้นเดือนตุลาคม ปี 2562 เงินฝากคงค้างของสถาบันการเงินทรงตัวจากเดือนก่อนโดยเงินฝากของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ขยายตัวดีขึ้น ขณะที่เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ชะลอลงด้านสินเชื่อคงค้างขยายตัวเร่งขึ้น จากเงินให้กู้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) เป็นสำคัญ

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight