The Bangkok Insight

10 ข่าวพลังงานปี 2562 ต่อเนื่องปี 2563 ตามให้ติด!

10 ข่าวพลังงานปี 2562 ต่อเนื่องปี 2563 ก้าวสู่โลกยุคใหม่เต็มตัว 3 การไฟฟ้า-กระทรวงพลังงานนั่งไม่ติด ขยับองคาพยพก่อนถูก Disrupt พร้อมขับเคลื่อนกิจการพลังงานผ่าน “การเมืองนำนโยบาย” ตามให้ติด “สนธิรัตน์” ดึงทุกนโยบายพลังงานหนุนเศรษฐกิจฐานราก ค้ำรัฐบาล “ลุงตู่” โดยมี ปตท.ใต้ร่ม CEO คนที่ 10 เป็นกลไกนำนโยบายเข้าให้ถึงประชาชน ขณะที่ LNG ยังคงน่าจับตามองว่าจะราบรื่น ให้ไทยเป็น HUB LNG ของภูมิภาค หรือทำไปมีอุปสรรคไป

ที่ผ่านมาเราคงทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมถึงกิจการพลังงาน ที่กำลังเข้าสู่โหมดพลิกโฉม (Energy Disruption) ด้วยถูกบังคับจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างของภาคพลังงาน จึงมุ่งไปที่พลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพ และประหยัดพลังงาน รวมไปถึงการนำดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการวางแผนพลังงาน

อีกปรากฎการณ์มาตีคู่กันเมื่อ 5 เดือนก่อน ที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ทำให้ “การเมืองนำนโยบายพลังงาน” ผ่านคำซ้ำๆว่า “Energy for All” ของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนล่าสุด ที่นำทุกนโยบายพลังงานไปกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชน ด้านหนึ่งเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ด้านหนึ่งก็เพื่อเรียกคะแนนนิยม ค้ำรัฐบาล “ลุงตู่” ที่เสียงปริ่มน้ำ ดังนั้นทิศทางที่เราได้เห็นในปี 2562 หลายเรื่อง จะยังคงต่อเนื่องเชื่อมโยงไปถึงปี 2563 ด้วย ดังนี้

1149296 1

1.”โรงไฟฟ้าชุมชน”  เข้าให้ถึงประโยชน์คนทุกกลุ่ม

โครงการนี้ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะภายหลังประกาศนโยบาย “โรงไฟฟ้าชุมชน” ให้ประชาชนเข้ามาถือหุ้นในโรงไฟฟ้าร่วมกับภาคเอกชน โดยจะเปิดรับซื้อ 700 เมกะวัตต์ในเดือนมกราคม 2563 ตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ พบว่าช่วยสร้างและกระชับคอนเนคชั่นได้ไม่น้อย ตอนนี้ถนนทุกสายเรียกได้ว่ามาบรรจบ ที่กระทรวงพลังงานตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา และไปจนถึงปีหน้า

ตอนนี้ทั้งภาคเอกชน ชุมชน ภาคประชาชน การเมืองส่วนกลาง และท้องถิ่น ตบเท้าขอโควต้า แม้จะบอกว่า มีหลักเกณฑ์ชัดเจนแน่นอน และมีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ร่วมกับกรรมการถึง 16 คน แต่ก็บอกไม่ได้ชัดว่า “หลักเกณฑ์จะเป็นหลักเกณฑ์ดั่งนั้น” และทุกกลุ่มได้รับการปฏิบัติเสมอหน้า

อย่างไรก็ตามการเกิดขึ้นของโครงการนี้ ช่วยพลิกฟื้น “โรงไฟฟ้าชีวมวล” จากก่อนหน้านี้ภาครัฐไม่ค่อยอยากจะสนับสนุนมากนัก เพราะวัสดุที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงบ้างมีบ้างขาด แม้แต่โรงไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย ในเครือของโรงงานน้ำตาล ยังไม่มีวัตถุดิบเพียงพอ แต่หลายฝ่ายรวมถึงชุมชนเอง มั่นใจว่าโครงการนี้จะไปตลอดรอดฝั่ง ไม่เกิดปัญหาขาดแคลนเชื้อเพลิง

เพราะมีการวางหลักเกณฑ์ล็อกด้วยสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน ในรูปแบบเกษตรพันธะสัญญา (Contract farming) ที่จะมีการระบุข้อมูลปริมาณการรับซื้อ ระยะเวลาการรับซื้อ คุณสมบัติของเชื้อเพลิง และราคารับซื้อเชื้อเพลิงไว้ในสัญญา และที่สำคัญการที่โครงการนี้กำหนดให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีหุ้นส่วนในโรงไฟฟ้าด้วย 10-40% ยิ่งเป็นการการันตีว่าโรงไฟฟ้าจะมีเชื้อเพลิงใช้แน่นอน

อีกประการโครงการนี้ยิงนกอีกต่อ พลิกฟื้นการปลูกพืชพลังงานอย่างหญ้าเนเปียร์ให้คืนชีพ หลังกระทรวงพลังงานยกเลิกการสนับสนุนไปตั้งแต่ปี 2557 ทำให้หลายโรงไฟฟ้าที่ใช้เนเปียร์เป็นเชื้อเพลิง และประชาชนที่ถูกส่งเสริมให้ปลูกหญ้าชนิดนี้กลับมาฟุตเวิร์ก

IMG 20191223 151734 1

2.ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles : EV) ถึงเวลารุ่งหรือยัง? 

ก่อนหน้านี้ รถ EV จะบูมมากน้อยแค่ไหนในไทยยังไม่มีใครฟันธงตอบได้ชัด ยังเถียงกันว่า “ไก่เกิดก่อนไข่ หรือไข่เกิดก่อนไก่”  สถานีชาร์จ หรือคนใช้รถ EV ปัจจัยใด? จึงจะทำให้รถ EV บูมได้ แต่หลังจากทุกองคาพยพ เร่งโปรโมท EV เมื่อปี 2562 และจะต่อเนื่องถึงปี 2563 ก็เห็นเค้ารางจะบูมจริงในอีกไม่นาน โดยกระทรวงพลังงานประกาศตัว ขอเป็นเจ้าภาพ ดึงหน่วยงานต่างๆมาร่วมผลักดันรถ EV

เพราะถูกแรงขับจากการลดโลกร้อน และฝุ่น PM 2.5 ขณะที่ทั้ง 3 การไฟฟ้าออกตัวแรงมาก่อนแล้ว ขอจับจองพื้นที่ทำธุรกิจ เพื่อทดแทนการผลิตและขายไฟฟ้าในระบบที่หายไป รวมไปถึงกระตุ้นตลาดด้วยการนำร่องใช้งานภายในองค์กร ในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เข้ามาทำโครงการพัฒนาดัดแปลงรถเก่าเป็นรถ EV เพื่อให้คนมีสตางค์น้อยตัดสินใจใช้รถ EV ได้ง่ายขึ้น ส่วนการไฟฟ้านครหลวงก็ช่วยกระตุ้นให้เกิดสถานีชาร์จไฟฟ้า ขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มาเต็มตัว สร้างธุรกิจใหม่เป็นตัวแทนจำหน่ายรถ Fromm รถ EV ไซส์เล็ก และรับติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าด้วย

ขณะที่บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) ก็กำลังจับมือ กับ WM Motors ผู้ผลิต EV แบรนด์ Weltmeister ศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ต่อยอดธุรกิจด้านแบตเตอรี่ และผลิตภัณฑ์พลาสติกของกลุ่ม ปตท. ไม่นับรวมการออกรถ EV รุ่นใหม่ๆดีไซน์โดนใจนับสิบรุ่นสิบค่าย ทั้งค่ายญี่ปุ่น จีน และยุโรป ที่ออกมาอย่างต่อเนื่องในปี 2562 ลามไปปีหน้าด้วย

แต่ปีหน้าเห็นแน่ๆ คือ การขยายตลาดมอเตอร์ไซค์ EV เพราะนายสนธิรัตน์ จะลงมาโปรโมทเต็มที่ พร้อมกับเร่งกำหนดโครงสร้างค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีชาร์จไฟฟ้าจูงใจ เพื่อให้ผู้ประกอบการคิดค่าชาร์จกับผู้ใช้รถถูกลง รวมไปถึงเทรนด์การพัฒนาสถานีชาร์จแบบ ควิก ชาร์จ คู่การพัฒนาแบตเตอรี่ โดยมีหลายๆองค์กรพลังงาน เป็นหัวหอกทั้งการไฟฟ้า ปตท. และภาคเอกชน

งานนี้การผลักดันให้มีรถยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคันบนท้องถนนตามเป้าหมายภายในปี 2579 ไม่น่าไกลเกินเอื้อม และก้าวไปสู่ “ศูนย์กลางส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ก็น่าจะเกิดได้ตามมา และหากผลักดันกันอย่างนี้ อีกไม่นาน รถ EV ก็จะวิ่งได้ไกล ชาร์จได้เร็ว แถมราคาถูกลง มา disrupt ทั้งรถที่ใช้น้ำมัน และปั๊มน้ำมันแน่นอน

LINE P20191128 190924205

3.โซลาร์เซลล์ และระบบกักเก็บพลังงานกำลังมาคู่กัน

บูมต่อเนื่องสำหรับ พลังงานหมุนเวียนอย่าง “โซลาร์เซล” ขั้นว่าโรงงาน หรืออาคารไหนไม่ติดโซลาร์เซลล์เห็นจะเชย และกำลังลุกลามไปตามคอนโดมิเนียม มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และมาที่บ้านเรือนประชาชน เริ่มต้นอาจเติบโตที่ตลาดการติดตั้งบนหลังคาบ้านของกลุ่มคนรวย แต่ปัจจุบันก็ลงมาที่ชุมชนแล้ว

ตอนนี้กลายเป็นความ “เท่ห์” หลายบ้าน ขอมีเอี่ยวกลัวตกเทรนด์ หาซื้อติดเอง เช่น ติดโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟทาง ให้เปิดตลอดคืนแบบประหยัดๆ ตอนนี้ราคาถูกลงมาก หลักพันก็หาซื้อได้แล้ว แถมติดตั้งง่ายแค่นั่งช้อปออนไลน์ที่บ้าน มีให้เลือกหลายรูปแบบ ทั้งแบบซื้อแยกอุปกรณ์ หรือ มาพร้อมบริการยกเซ็ท ผู้รับติดตั้งก็แข่งกันให้โปรโมชั่น

แม้กระทรวงพลังงาน อาจจะไม่ส่งเสริมเต็มเหนี่ยว เพราะโรงไฟฟ้าหลัก ต้องเดินเครื่องน้อยลงไปทุกวัน มาจากการติดโซลาร์เซลล์นั่นเอง ทำให้ผู้ใช้ไฟหันมาผลิตเองใช้เอง เลิกง้อซื้อไฟจากระบบ ผลที่เกิดขึ้นกับประเทศ คือ สำรองไฟฟ้าของระบบเหลือถึง 30% ปรากฎการณ์นี้ แม้รัฐไม่ส่งเสริมโซลาร์เซลล์ ก็บังคับให้ต้องเห็นความสำคัญ

ไม่เท่านั้น ตอนนี้ทั้งรัฐ และเอกชน ยังอยู่ระหว่างซุ่มพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems)ด้วย ซึ่งเป็นหัวใจของพลังงานหมุนเวียนอย่างโซลาร์เซลล์ ใช้เก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ ที่ผลิตในตอนกลางวันไว้ที่แบตเตอรี่ และจ่ายไฟให้เราใช้งานในช่วงกลางคืน หากพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีประสิทธิภาพในราคาถูกได้เมื่อไหร่ เป็นอันฟันธงได้เลยว่า โซลาร์เซลล์จะ Disrupt โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยสมบูรณ์ในอีกไม่นาน

บวกกับความก้าวหน้าเทคโนโลยี โซลาร์เซลล์ ที่ถูกนำมาใช้งานอย่างหลากหลาย และราคาถูกลงก็แสนจะดึงดูด ล่าสุดล้ำไปถึงการนำมาผนวกเป็น EV ที่ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ด้วย ที่ Aptera Motors Corp สหรัฐ ผลิตออกมาขายแล้วในราคาที่คนจำนวนไม่น้อย จับต้องได้เสียด้วย 1 ล้านบาทเศษเท่านั้น

23122019 ๑๙๑๒๒๓ 0012 1

4.LNG เป็นเหตุ!!

LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว) เป็นเหตุแท้ๆ เพราะเล่นเอานายสนธิรัตน์ ต้องกุมขมับ ลงมารับม็อบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. หรือสร.กฟผ.เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562  ซึ่งเขาก็ไม่ได้ยินดีจะพบนัก เหตุเกิด แต่ก็ต้องมาสะสาง เพราะเขาไปเป็นหัวโต๊ะ ยกเลิกการประมูลซื้อ LNG สัญญาระยะ 8 ปีปริมาณ 1.5 ล้านตันของกฟผ. ขณะที่ได้ผู้ชนะประมูลอย่าง บริษัท PETRONAS LNG จากมาเลเซียแล้ว ทำให้ฝันของกฟผ.ที่จะเป็น shipper นำเข้า LNG เอง เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้า แทนซื้อจากปตท.เลือนราง และคลุมเครือ

โดยกระทรวงพลังงานได้ปรับให้กฟผ.นำเข้า LNG แบบ spot หรือนำเข้าสั้นๆเป็นครั้งคราวแทนใช้ได้ราว 1-2 เดือนก็หมด ประเดิมด้วยล็อตแรก นำเข้า 65,000 ตันเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2562 และจะมาอีกลำในเดือนเมษายน 2563

เหตุนี้จึงเกิดการประสานเสียงอย่างแข็งแรง ตั้งแต่ระดับผู้บริหารยันพนักงานระดับปฏิบัติการของกฟผ. เพื่อผลักดันให้กฟผ.เป็น shipper โดยสมบูรณ์  แถมนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่ากฟผ. ยังออกมาย้ำว่า อีกไม่นานกฟผ.ก็จะขอนำเข้าเพิ่มตามลำดับ นับล้านตันต่อปีเลยทีเดียว ทำให้กฟผ.กลายเป็น “ลูกที่ดื้อรั้น” ในสายตาของนายสนธิรัตน์ และทีมงานกระทรวงพลังงาน

333507

5.ประมูลแห่งประวัติศาสตร์บงกช-เอราวัณ

โครงการประมูลที่ยืดเยื้อมามากกว่า 4 ปี จนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2562 รัฐมนตรีพลังงานยุคดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ลงนามในสัญญากับผู้ชนะการประมูลแหล่งปิโตรเลียมตามระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต สำหรับแปลงในทะเลอ่าวไทย G1/61 หรือ แปลงเอราวัณ ซึ่งบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด ชนะประมูล ส่วนแปลง G2/61 หรือ แปลงบงกช ผู้ชนะประมูล คือ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด

น่าจะจบแบบ Happy Ending ทั้งสองแหล่งโดย ปตท.สผ. ชนะประมูลไปทั้งหมด กระทรวงพลังงานก็ภูมิใจมาก เพราะชนะไปด้วยราคาต่ำสุดๆ 116 บาทต่อล้านบีทียู ช่วยให้ค่าไฟฟ้าถูกลง แต่เรื่องยังไม่จบ เพราะกระทรวงพลังงาน ยังต้องเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิมอย่างเชฟรอน ถึงค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิต และการแตะมือจากรายเก่าเป็นรายใหม่ให้ราบรื่น แม้จะหยุดการเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ เพื่อต่อสู้เรื่องค่ารื้อถอนที่ยังไม่ลงตัว  แต่ไม่ได้หมายความว่าเชฟรอนจะหยุดตลอดไป หากเจรจาไม่ได้ข้อยุติก็สามารถเข้าสู่กระบวนการได้ทุกเมื่อ

S 10166290

6.”ไบโอดีเซล” พระเอกดึงราคาปาล์ม

การโปรโมทไบโอดีเซลมาสู่การผลิตพลังงาน เดินหน้าด้วยนโยบาย โดยกำหนดให้ดีเซล B10 หรือ น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) 10% ทุกลิตร เป็นเกรดมาตรฐาน ให้ทุกคลังผลิตน้ำมันดีเซล B10 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 และทุกปั๊มมีขายในเดือนมีนาคม 2563 เป้าหมายที่กระทรวงพลังงานตั้งไว้จะทำยอดการใช้ให้ขึ้นมา อยู่ที่ 57 ล้านลิตรต่อวันในต้นปี 2563 จากปัจจุบันมียอดการใช้ดีเซล B10 อยู่ที่ประมาณ 3.5 แสนลิตรต่อวัน หากรวมดีเซล B7 และ B20 ด้วยแล้ว จะช่วยดูดซับ CPO ได้ 2.3 ล้านตันต่อปี หรือ 2 ใน 3 บวกกับการจัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบ ไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าของกฟผ. สรุปเบ็ดเสร็จแล้ว กลายเป็นผลผลิตปาล์มของประเทศถูกใช้โดยภาคพลังงานไปเสียแล้ว และระยะหลังนโยบายนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มเหนี่ยว เพราะชูประเด็นลดฝุ่น PM 2.5 เข้าไปอีกด้วย

การดูดซับ CPO ไปผลิตเป็นพลังงานดังกล่าว ก็ถือว่าทำให้ราคาผลผลิตปาล์มปรับขึ้นมาอยู่ที่ 5 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมอยู่ระดับ 2-3 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ CPO ขึ้นมาอยู่ระดับ 28 บาทต่อกิโลกรัม จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 15-16 บาทต่อกิโลกรัม

และหลังจากนโยบายไบโอดีเซล นิ่งแล้ว ปี 2563 นายสนธิรัตน์ จะมาจับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ที่มีส่วนผสมของเอทานอล ผลิตจากอ้อย และมันสำปะหลัง โดยเขาจะพุ่งเป้าไปที่ “มันสำปะหลัง” พืชตัวใหม่ที่จะจับมาเล่น เพราะเขาเกริ่นไว้ก่อนแล้วว่า ทำไมเกษตรกรไทยผลิตไม่พอขาย แต่ราคาที่เกษตรกรได้กลับน้อยนิด โดยจะโปรโมทน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 หรือ น้ำมันเบนซินที่ผสมเอทานอล 85%ในทุกลิตร และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 หรือ น้ำมันเบนซินที่ผสมเอทานอล 20% ทุกลิตร เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้เอทานอลในภาคพลังงานมากขึ้น ดึงราคาผลผลิตเพิ่มคล้ายไบโอดีเซล

BR8 3691

7.การผลิต-ซื้อขายไฟฟ้ายุคดิจิทัล พร้อม!

การขยายตัวของพลังงานหมุนเวียน ที่มีการผลิตเองแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Generation: DG) รวมไปถึงการซื้อขายไฟฟ้ากันเอง ระหว่างประชาชนกับประชาชน หรือระหว่างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนกับชุมชนโดยรอบ ที่เรียกว่า Peer to peer Energy Trading ลดความสูญเสียไฟฟ้าในระบบสายส่ง ผ่านการใช้เทคโนโลยี Blockchain มาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการซื้อขายกำลังขยายไปในพื้นที่ต่างๆเป็นหย่อมๆ และกำลังต่อเป็นจิ๊กซอว์

ทำให้ Grid Modernization จะตามมา เพื่อเชื่อมโยงการผลิตไฟฟ้าของพลังงานหมุนเวียน และการผลิตไฟฟ้าใช้กันเองกับระบบ โดยจะมาในรูปของระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด (Smart grid) ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระบบสื่อสารสารสนเทศ (ICT) ระบบเซ็นเซอร์ ระบบเก็บข้อมูล และเทคโนโลยีทางด้านการควบคุมอัตโนมัติ ทําให้ระบบไฟฟ้ากําลัง สามารถรับรู้ข้อมูลสถานะต่างๆในระบบมากขึ้น และใช้ในการตัดสินใจอย่างอัตโนมัติ ที่สำคัญสื่อสารกับผู้ใช้ไฟฟ้าได้ ซึ่งทั้ง 3 การไฟฟ้ากำลังบูรณาการเรื่องนี้ให้ครอบคลุมระบบผลิต ระบบส่ง ระบบจําหน่าย และระบบผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด

ล่าสุด สำนักงานนโยบาย และแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นโต้โผ เดินสายสัมมนาให้ความรู้ทุกภูมิภาคถึง “ระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด” เพราะเทคโนโลยีมาแล้ว และไทยจำเป็นต้องนำมาใช้ให้เร็วที่สุด จึงต้องกระจายองค์ความรู้สู่ประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง เพราะระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด จะเกิดได้เร็วจริง ทุกปัจจัยต้องพร้อม ทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ (Hardware) ระบบบริหารจัดการที่นำมาใช้กับอุปกรณ์ (Software) และ บุคลากร (People ware) ซึ่งสนพ.ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาใน 3 ด้าน คือ ยกระดับความสามารถของระบบไฟฟ้า (Smart System) ยกระดับคุณภาพบริการที่มีต่อผู้ใช้ไฟฟ้า (Smart Life) และยกระดับโครงสร้างระบบไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Society)

IMG 20191213 111207

8.Big Data ภาคพลังงาน กลายเป็นความจำเป็น 

ไม่มีกิจการไหนมองข้าม Big Data ไปได้ รวมถึงกิจการพลังงาน ปี 2562 กระทรวงพลังงานเชิญผู้เชี่ยวชาญมาตั้งวงคุยแล้ว และเริ่มรื้อ และจัดทำฐานข้อมูล Big Data เป็นการใหญ่ บูรณาการทุกข้อมูลเข้ามาไว้ด้วยกัน เป้าหมายเพื่อนำข้อมูลที่มีทั้งหมด มาพยากรณ์การผลิต และความต้องการใช้ให้สมดุลกัน

แนวทาง คือ ต้องจัดทำ Data Analytic ทั้ง Data Management หรือ การจัดการข้อมูล โดยรวบรวมข้อมูลทุกอย่างมาไว้ด้วยกัน และการวิเคราะห์ข้อมูล Big Data ให้มีความแม่นยำ และง่ายต่อการนำไปใช้ประโยชน์มากขึ้น

ไม่มีอะไรมาก นอกจากต้องการให้ข้อมูลรวมศูนย์ไม่ต่างอยู่ต่างที่ รวมศูนย์ได้แล้วประมวลผล นำไปใช้ในการพยากรณ์ความต้องการได้แม่นยำมากขึ้น โดยเฉพาะด้านไฟฟ้า จากที่ผ่านมามีบทเรียนกันมาแล้วว่า ข้อมูลกระจัดจาย ทำให้ภาครัฐแต่ละหน่วย มีตัวเลขไม่ตรงกัน แถมบางข้อมูลไม่ถูกเชื่อมต่อ จนเกิดข้อผิดพลาดในการวางแผนระบบไฟฟ้า เพราะไม่รู้การเติบโตของกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (IPS) รู้ตัวอีกทีการผลิตไฟฟ้าของระบบก็เหลือแบะบะแล้ว และจะปล่อยให้การวางแผนผิดพลาดต่อไป เห็นจะไม่ใช่ที่ ก็เลยต้องสังคายนาข้อมูลกันเป็นการใหญ่ โดยนำ Big Data มามาพยากรณ์และการวางแผนพลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไม่ตกเทรนด์

IMG 20191207 184433 1

9. เคลื่อนสังคมสู่ “Zero Waste” แบบเท่ๆ

ใครไม่พูดถึงการลดขยะ ยุคนี้อาจถูกมองว่า “ไม่รักษ์โลกเอาเสียเลย” ทำให้ปี 2562 ที่ผ่านมาหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมมือกันลดขยะ และจัดการขยะกันยกใหญ่ โดยเฉพาะขยะพลาสติก ซึ่งเอกชนจำนวนมาก นอกจากช่วยจัดการขยะแล้ว ยังนำขยะมาแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้เป็นสิ่งใหม่ เพื่อให้สังคมเห็นเป็นรูปธรรมว่า “ขยะมีค่า” อาทิ นำขยะพลาสติกมาผลิตเป็นอุปกรณ์สำนักงาน เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า กระเป๋า เป็นต้น สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน

และมาพร้อมกับการพัฒนาพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ หรือไบโอพลาสติกเป็นทางเลือก ซึ่งไบโอพลาสติก เป็น พลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์และแบคทีเรียตามธรรมชาติ ผลิตจากวัตถุดิบ ที่สามารถผลิตทดแทนขึ้นใหม่ได้ในธรรมชาติ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด มีคุณสมบัติในการใช้งานใกล้เคียงพลาสติกจากปิโตรเคมีที่ผลิตจากฟอสซิล สามารถกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ 100% ทั้งนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง

และภายใต้แรงกดดันขยะล้นประเทศ ทำให้การผลิตพลังงานจากขยะ อย่าง “โรงไฟฟ้าขยะ” ได้รับการยอมรับมากขึ้น โดยกระทรวงพลังงานได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ ภายใน 3 ปี ระหว่าง 2563-2565 และขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโควตาที่อยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี2561-2580 ( PDP 2018) โดยจะมีการประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลัก รวมถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

LINE P20190724 140651527 รูปประกอบ

10. CEO ปตท.คนที่ 10 หลอกล่อและสับขาหลอก

ข่าวดังปิดท้ายปลายปี ด้วยการประกาศผลการคัดเลิอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ CEO ปตท.ซึ่งปีนี้มีคนลงสมัครมากเป็นประวัติศาสตร์ปตท.ถึง 6 คน โดยระหว่างกระบวนการสรรหา เล่นเอาแต่ละทีมเชียร์เกร็งกันไปมาตลอดหลายเดือน ไล่เรียงคุณสมบัติเทียบกันแล้วเทียบกันอีก แถมมีข่าวลือ “นารีขี่ม้าขาว” ก็มา ข่าวหนาหูการเมืองเข้าแทรกก็มา  ข่าวตัวเกร็งถูกโยนระเบิด เล่นเอาสะบักสะบอมหลบไม่ทันก็มี แต่แน่ๆบรรดาสื่อสายพลังงานจับมือกัน ไม่ฟันธง” ในโค้งสุดท้าย ด้วยเหตุผลอะไรเดาได้ไม่ยาก?

สุดท้าย “นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์”  ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. หุ่นสลิมถนัดค้าปลีกและเทรดดิ้งคนนี้ ก็ยิ้มออกเมื่อคณะกรรมการปตท.คัดเลือก และประกาศผลออกมาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562  หลังจากหน้าเคร่งเครียดมาหลายเดือน  แม้เขาจะอายุน้อยที่สุด 54 ปี แต่เป็นลูกหม้อปตท.มานาน ตั้งแต่จบปริญญาตรีใหม่ๆ เอาเป็นว่า CEO คนที่ 10 อยู่ในวาระได้ถึง 4 ปีเลยทีเดียว หรืออาจมากกว่าก็ได้ หากผลงานเยี่ยม!! ตอนนี้ก็เหลือรอรับตำแหน่งเป็นทางการอีกครั้งเดือนพฤษภาคม 2563 เพื่อเข้ามาพิสูจน์ฝีมือท่ามกลางการเมืองคุกรุ่น

 

 

Avatar photo