Economics

เดินเครื่อง ‘โรงไฟฟ้าลำตะคอง’ ครบ 1,000 เมกะวัตต์ ขึ้นแท่นใหญ่สุดใน ASEAN

เปิดเดินเครื่อง “โรงไฟฟ้าลำตะคองแบบสูบกลับ” หน่วย 3-4 กำลังผลิตครบ 1,000 เมกะวัตต์ ขึ้นแท่นแบตเตอรี่พลังงานสะอาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  พร้อมเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าภาคอีสาน

ลำตะคองชลภาวัฒนา 009

วันนี้ (30 ธ.ค.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เดินเครื่องโครงการโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมาระยะที่ 2 เครื่องที่ 3-4 จ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ (Commercial Operation Date : COD) ทำให้โครงการโรงไฟฟ้าลำตะคองแบบสูบกลับ เครื่องที่ 1 – 4  มีกำลังผลิตรวม 1,000 เมกะวัตต์ เสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นแบตเตอรี่พลังงานสะอาดที่ใหญ่ที่สุดของภาค และต้นทุนต่ำที่สุด สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2.6 แสนตันต่อปี

นายสมรักษ์ เพ็ชรเจริญ ชพว
คุณสมรักษ์ เพ็ชรเจริญ

นายสมรักษ์ เพ็ชรเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรม และก่อสร้างโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ได้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ระยะที่ 1 เครื่องที่ 1-2 กำลังผลิต 500 เมกะวัตต์ ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ และจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2547 และต่อมาได้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ระยะที่ 2 เครื่องที่ 3-4 กำลังผลิต 500 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2573 (PDP 2010)  ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ กฟผ. ดำเนินงานโครงการเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556 ทำให้โครงการฯ มีกำลังผลิตรวม 1,000 เมกะวัตต์

d 3

ทั้งนี้เพื่อผลิตไฟฟ้ารองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Load) ของประเทศ และเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น โดยโรงไฟฟ้าลำตะคองฯ เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงรองรับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเมื่อเสร็จสมบูรณ์จะเป็นพลังงานทดแทนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ลำตะคองชลภาวัฒนา 018

เครื่องที่ 3 4

“โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา” เป็นชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 มีความหมายว่า โรงไฟฟ้าลำตะคอง เป็นที่พัฒนาแสงไฟด้วยน้ำ

เป็นโรงไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรก และแห่งเดียวของประเทศไทย ที่นำกระแสไฟฟ้า ที่เหลือในระบบช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าต่ำ นำมาสูบน้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ขึ้นไปกักเก็บสำรองไว้ในอ่างพักน้ำตอนบนบริเวณเขายายเที่ยง แล้วจึงปล่อยน้ำลงมาผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง

โดยสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นแหล่งพลังงานสำรองขนาดใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า เพราะมีการใช้น้ำหมุนเวียนในอ่างเก็บน้ำลำตะคองโดยน้ำไม่สูญหายไปไหน

ปัจจุบัน กฟผ. มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับอีก 2 แห่ง คือ ที่เขื่อนศรีนครินทร์ เครื่องที่ 4-5 จังหวัดกาญจนบุรี มีกำลังผลิตรวม 360 เมกะวัตต์ และ ที่เขื่อนภูมิพล เครื่องที่ 8 จังหวัดตาก มีกำลังผลิต 171 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ กฟผ. กำลังอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม ในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับอีกหลายพื้นที่ รวมทั้งได้เตรียมพร้อมศึกษา และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจุฬาภรณ์แบบสูบกลับ จังหวัดชัยภูมิ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ เพื่อให้เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ช่วยในการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้า ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต และเป็นไปตามนโยบายการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ

 

 

 

Avatar photo