Waste Management

ที่ไหนทำกัน? ตามดูมาตรการนานาชาติ ‘ห้ามใช้ถุงพลาสติก’

ในวันที่ 1 มกราคม 2563 ที่จะถึงนี้ บรรดาห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ของไทย จะเริ่มต้นการงดให้ถุงพลาสติก ภายใต้นโยบายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชนในการดำเนินงานเพื่อลด และเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastic) ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมภายใต้โรดแมพการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573

การเคลื่อนไหวดังกล่าว ทำให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่มีการออกมาตรการอย่างจริง และเข้มงวด เพื่อให้คนงดใช้ถุงพลาสติก ท่ามกลางกระแสการตื่นตัวถึงภัยของขยะพลาสติก ที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และสัตว์หลากหลายชนิด

มาดูกันว่ามีประเทศใดที่ออกมาตรการลด ละ เลิก ในความพยายามที่จะลดจำนวนขยะพลาสติก และเขาทำอย่างไรกันบ้าง

shopping 874974 640

  • ฮ่องกง

ให้ร้านค้าปลีกเก็บเงินค่าถุงพลาสติกที่ใช้สำหรับใส่สินค้ากับลูกค้า เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก ตั้งแต่ปี 2552 และนำพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ไปใช้ในการถมที่

  • จีน

เริ่มใช้กฎหมายควบคุมการใช้ถุงพลาสติกมาตั้งแต่ปี 2551 โดยห้ามห้างร้านต่างๆ ใช้ถุงพลาสติกที่มีความบางน้อยกว่า 0.25 มิลลิเมตรใส่สินค้าให้กับลูกค้า หรือต้องมีการเก็บค่าธรรมเนียมจากการใช้ถุง ซึ่งหลังผ่านไป 1 ปี ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในจีน สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ระหว่าง 60-80 % หรือประมาณ 40 ล้านใบ

  • อินโดนีเซีย

รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะลดขยะพลาสติกในทะเลให้ได้ถึง 70% ภายในปี 2568 ผ่านการนำมาตรการหลายด้านมาใช้ รวมถึง การกำหนดให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ลดการผลิตขยะพลาสติกให้ได้อย่างน้อย 30% ภายใน 10 ปี ทั้งตามเมืองใหญ่ๆ และแหล่งท่องเที่ยว ก็ได้นำมาตรการห้ามร้านค้าใช้ถุงพลาสติกเข้ามาบังคับใช้แล้ว ทั้งยังมีการนำวิธีการจัดเก็บเงินค่าถุงพลาสติกเข้ามาใช้ด้วย

นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังผลิตถุงพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ เป็นการผลิตจากมันสำปะหลัง ซึ่งนอกจากจากจะย่อยสลายได้ง่ายแล้ว อินโดนีเซียยังอ้างว่า คนและสัตว์สามารถบริโภคได้โดยไม่เป็นอันตราย

  • มาเลเซีย

ห้ามใช้หลอดพลาสติกในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ปุตราจายา และเกาะลาบวน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปีหน้า  จากปัจจุบันที่มีการรณรงค์ให้ร้านค้าร้านอาหาร ให้หลอดพลาสติกกับลูกค้าต่อเมื่อได้รับร้องขอเท่านั้น  หลังจากมีคำสั่งห้ามใช้ถุงพลาสติก และพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหาร มาตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2561 โดยกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไว้อย่างรุนแรง ถึงขั้นถูกยึดใบอนุญาตประกอบกิจการ และถูกปรับ

ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป มาเลเซียจะขยายข้อบังคับที่ให้เก็บเงินสำหรับค่าถุงพลาสติกให้ครอบคลุมถึงธุรกิจทุกประเภท จากปัจจุบันที่บังคับใช้เฉพาะธุรกิจค้าปลีกเท่านั้น

waste 1741127 640

  • เมียนมา

ประเทศเพื่อนบ้านของไทยรายนี้ เริ่มดำเนินมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติก เพื่อลดของเสียที่ไม่สามารถย่อยสลายได้มาตั้งแต่ปี 2552  โดยเริ่มที่มัณฑะเลย์ก่อนเป็นแห่งแรก ตามด้วยที่นครย่างกุ้งในอีก 2 ปีต่อมา โดยไม่อนุญาตให้เก็บ และจำหน่ายถุงพลาสติก และโรงงานผลิตถุงพลาสติกที่ไม่หยุดการผลิตจะถูกยึดใบอนุญาตดำเนินกิจการ และอาจถูกดำเนินการตามกฎหมาย

  • อินเดีย

ออกกฎหมายห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 6 ประเภทด้วยกัน ประกอบด้วย ถุงพลาสติก แก้ว จาน ขวดขนาดเล็ก หลอด และซองพลาสติกจำนวนหนึ่ง โดยมีแผนการที่จะห้ามใช้พลาสติกทั้งหมด ในวันที่ 2 ตุลาคม 2565

ก่อนหน้านี้ หลายรัฐในอินเดียต่างมีการออกกฎหมายท้องถิ่นห้ามการใช้ถุงพลาสติกอยู่แล้ว  จากปัญหาที่เศษขยะพลาสติกเหล่านี้ มักไปอุดตันอยู่ตามท่อระบายน้ำ จนทำให้เกิดน้ำท่วมขึ้นบ่อยครั้ง

  • บังกลาเทศ

ประเทศแรกของโลก ที่ออกกฎหมายทั้งห้ามผลิต และให้ถุงพลาสติกแก่ผู้ซื้อ มาตั้งแต่ในปี 2545 โดยผู้ที่ฝ่าฝืนจะถูกปรับครั้งละ 2,000 ดอลลาร์ เพราะขาดการจัดการกับระบบขยะทำให้เกิดวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในปี 2531 และปี  2541 โดยขยะจำนวนมากไปอุดตันในท่อระบายน้ำ ซึ่งมาตรการนี้ทำให้ชาวบังกลาเทศไม่กล้าใช้ และทิ้งถุงพลาสติกตามท้องถนน ส่งผลให้ปริมาณขยะจากถุงพลาสติกลดลงอย่างมาก

  • เคนยา

ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการลงโทษผู้ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามการใช้ถุงพลาสติกรุนแรงที่สุด โดยรัฐบาลเคนยาเริ่มบังคับใช้กฎหมายที่ห้ามการใช้ถุงพลาสติกเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2560  ห้ามทั้งการจำหน่าย ผลิต หรือใช้ถุงพลาสติก ผู้ที่ฝ่าฝืนจะต้องรับโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี หรือปรับเงินสูงสุด 38,000 ดอลลาร์ สำหรับนักท่องเที่ยวที่นำถุงพลาสติกมาด้วย จะต้องทิ้งไว้ที่สนามบินก่อนผ่านขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปกำจัดภายหลัง

  • สหภาพยุโรป 

สหภาพยุโรป (อียู) มีมติห้ามการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง โดยจะมีผลบังคับใช้ในประเทศสมาชิกทั้งหมด 28 ประเทศ ภายในปี 2564 โดยมาตรการนี้พุ่งเป้าไปที่พลาสติกใช้แล้วทิ้ง 10 ประเภท ที่พบได้บ่อยในทะเล และผู้บริโภคมีทางเลือกอื่น ทั้งหลอดพลาสติก ช้อน ส้อม มีดพลาสติก ก้านสำลี ที่คนกาแฟพลาสติก จาน-ชามพลาสติก ก้านสำลี ก้านลูกโป่ง กล่องโฟม และถุงพลาสติกแบบหูหิ้ว

นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่น ในการเพิ่มความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended producer responsibility) เกี่ยวกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สิ้นเปลืองน้อยลง รวมทั้งระบบการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์หลังจากใช้แล้ว โดยเฉพาะ ขวดพลาสติก ภาชนะบรรจุอาหาร ทิชชูเปียก ถุงพลาสติก ก้นกรองบุหรี่ เช่น มีเป้าหมายว่าต้องมีการรีไซเคิลขวดพลาสติกให้ได้ 90% ภายในปี 2568

images 1 5

  • สหรัฐ

หลายรัฐในสหรัฐ ต่างมีมาตรการในระดับท้องถิ่นออกมา สำหรับการห้ามใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง โดยที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 ผ่านกฎหมายแบนการใช้ถุงพลาสติก ผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้ถุงผ้า นำถุงเก่ากลับมาใช้ใหม่ โดยกำหนดให้ร้านค้าสามารถคิดค่าธรรมเนียมแก่ลูกค้าที่ต้องการถุงพลาสติกได้ ตามมาด้วยฮาวาย ที่ออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกในบางพื้นที่ของรัฐก่อน

ล่าสุด รัฐนิวยอร์กได้ออกกฎหมายห้ามร้านค้าในรัฐนิวยอร์กแจกถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งให้แก่ลูกค้า โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2563 นี้ ส่วนที่เมืองหลวงอย่าง กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.เลือกใช้วิธีเรียกเก็บภาษีจากถุงพลาสติก

  • แคนาดา

แบนพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ถุงพลาสติก หลอดพลาสติก ช้อนส้อมพลาสติก จานชาม และที่คนพลาสติก โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2564

นอกจากนี้ ยังดำเนินการจัดทำมาตรฐาน และเป้าหมายในการลดพลาสติกสำหรับบริษัทเอกชนที่ผลิตสินค้า รวมทั้งบรรจุภัณฑ์พลาสติกรูปแบบต่างๆ เพื่อให้บริษัทเหล่านั้นมีความรับผิดชอบต่อขยะพลาสติกที่เกิดจากการผลิต และจำหน่ายสินค้าของตัวเอง

  • เม็กซิโก

รัฐบาลเม็กซิโกออกกฎหมายฉบับใหม่สำหรับจัดการกับขยะที่เป็นของแข็ง ครอบคลุมถึง การสั่งห้ามซื้อขาย และแจกถุงพลาสติกตามร้านค้าทั้งหมดภายในปี 2563 ยกเว้นถุงพลาสติกที่จำเป็นต้องใช้เพื่อรักษาความสะอาด จากนั้นใน 2564 จะห้ามซื้อขายพลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง ไม่ว่าจะเป็น ช้อนส้อม มีด ตะเกียบ จาน หลอด แก้ว ฝาครอบแก้ว สำลีปั่นหู ลูกโป่งและก้าน ถาด รวมไปถึงผ้าอนามัยแบบสอด ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีไมโครพลาสติก เช่น กาแฟแคปซูล ก็จะถูกแบนภายในปี 2564 เช่นกัน

เจ้าของร้าน หรือผู้ประกอบการ ที่ฝ่าฝืนนำถุงพลาสติกใส่ของให้ลูกค้า ยกเว้นถุงพลาสติกที่ย่อยสลายเองตามธรรมชาติ จะถูกลงโทษปรับ 77,400 ดอลลาร์ และจำคุก 1 วันครึ่ง

stra

  • นิวซีแลนด์

ห้ามร้านค้าใช้ถุงหิ้วพลาสติกทุกประเภท ทั้งแบบบางที่ร้านขายอาหาร หรือร้านค้าปลีกใช้กัน หรือแบบหนาที่ใช้ตามห้างสรรพสินค้า รวมไปถึงพลาสติกแบบย่อยสลายได้ แต่ยังอนุโลมให้ใช้ถุงพลาสติกแบบไม่มีหูหิ้วสำหรับใส่ผักผลไม้ในซูเปอร์มาร์เก็ต พลาสติกสำหรับใส่ขยะ และอุจจาระของสุนัข  โดยผู้ที่ฝ่าฝืนอาจถูกปรับสูงสุดถึง 100,000 ดอลลาร์

  • ออสเตรเลีย

เกือบทุกรัฐ และเขตปกครองของออสเตรเลีย ออกมาตรการ หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาในสภาท้องถิ่น ห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ยกเว้นแต่ที่รัฐนิวเซาธ์เวลส์ ที่บรรดาแกนนำการเมือง เห็นว่า เป็นเรื่องจำเป็น และโยนให้เป็นหน้าที่รับผิดชอบของร้านซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ

Avatar photo