Opinions

ต้อง ‘ปรับสมดุล’ เศรษฐกิจใหม่ 2563

Avatar photo
3608

สถานการณ์เศรษฐกิจไทย เมื่อพิจารณาตามศักยภาพในปัจจุบัน ถือว่าอัตราการเติบโตยังอยู่ในระดับต่ำ ถึงแม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะขยายตัวดีขึ้นเป็น 2.8% (จาก 2.5% ในปี 2562) ก็ตาม

gettyimages 484709254

มาลงรายละเอียดกันว่า อะไรบ้างเป็นอุปสรรคที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถขยายตัวได้เหมือนในอดีต ทั้งๆ ที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา และหลายรัฐบาลที่ผ่านมา พยายามวางนโยบายเศรษฐกิจให้ขยายตัว ไปถึงจุดที่จะทำให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลางไปสู่รายได้สูง แต่ดูเหมือนความพยายามนี้ จะยังไม่เห็นผลสำเร็จในอนาคตอันใกล้

มิหนำซ้ำ เมื่อย้อนเวลากลับไปดูอัตราการเจริญเติบโตในช่วงปี 2551-2560 ยิ่งน่าตกใจ ที่พบว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยเพียง 3.4% ถือเป็นอัตราเฉลี่ยต่ำสุด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในอาเซียน (เว้น บรูไน) ตรงนี้จึงถือได้ว่า เป็น “สัญญาณเตือนสำคัญ” ที่รัฐบาลไม่อาจละเลย และต้องเร่งแก้ไข

จากประวัติการณ์เศรษฐกิจไทย ในช่วง 30 ปี ระหว่าง 2528-2533 ปรากฎว่า เศรษฐกิจไทยเคยเติบโตสูงสุด เฉลี่ยถึง 9.89% ซึ่งเกิดจากความสามารถของรัฐบาลในเวลานั้นกำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยมีการเปิดประเทศมากขึ้น ทำให้เกิดโครงการขนาดใหญ่ อย่าง โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก (Eastern Seaboard) เกิดท่าเรือน้ำลึก มีการนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้จากอ่าวไทย

ขณะเดียวกันนั้นประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกันยังน้อย อย่าง เวียดนาม กัมพูชา พม่า และลาว ที่เวลานั้นยังมีปัญหาภายในประเทศ อีกทั้งระบบการเมืองที่ยังไม่พร้อม การลงทุนจากต่างชาติจึงเบนเข็มมาที่ไทยเต็มๆ

ความเป็นมาและจะเป็นไปของเศรษฐกิจไทยวันนี้ แม้จะมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562 รวมทั้งก่อนหน้านี้ที่ยังไม่ถูกแก้ไข จนมองไม่เห็นแนวโน้มจะได้เห็นเศรษฐกิจโตแบบก้าวกระโดด เหมือนช่วงปี 2528-2533

วันเวลาและสถานการณ์ต่างๆ ได้เปลี่ยนไปมาก อีกทั้งขนาดเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันก็ใหญ่กว่าช่วงเวลานั้นมาก แต่ทุกภาคส่วนในสังคมก็มีความคาดหวังกันว่า เศรษฐกิจปี 2563 ควรขยายตัวมากกว่าที่คาดการณ์กันไว้

สำหรับประเทศไทยในปี 2563 รัฐบาลและภาคเอกชนต้องมองสถานการณ์ข้างหน้าให้ออก และสามารถคาดการณ์ได้ระดับหนึ่งว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจโลก และกับปัญหาภายในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบ พร้อมกันกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี (Technological Disruption) ที่วิ่งเข้ามาปะทะอย่างรวดเร็วกับเศรษฐกิจไทยในทุกด้าน ซึ่งจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจ ทั้งภาคการเงิน การคลัง ภาคการค้า การลงทุน และบริการ ตลอดจนภาคการเกษตร ต้องเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้

ประยุทธ์ชัยภูมิ25124

จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำรัฐบาลและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ที่ควรทบทวนนโยบาย และคิดใหม่ (Rethink policy) อีกครั้งว่า แนวนโยบายเศรษฐกิจที่ดำเนินมากว่า 5 ปี สมควรจะปรับเป้าหมาย และจัดลำดับความสำคัญใหม่ ให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้ดีกว่าที่ผ่านมา

ในปี 2563 ผมมองว่า รัฐบาลต้องเป็นหลักและเป็นผู้นำทางให้ภาคเอกชนเดินตาม โดยเฉพาะ 3 เรื่องสำคัญ ที่หวังให้รัฐบาลเร่งดำเนินการคือ

1. เร่งรัดนโยบายเศรษฐกิจที่ประกาศแล้ว ให้เกิดผลทางปฏิบัติโดยเร็ว

นโยบายสำคัญอย่าง Thailand 4.0 โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ ทั้งพหุภาคีและทวิภาคี การยกระดับกับศักยภาพแรงงาน และการปรับปรุงประสิทธิภาพภาคการเกษตร อย่างกรณีข้าวไทยที่มีผลผลิตต่ำ FAO ในปี 2559 พบว่าไทยมีผลผลิตข้าวต่อไร่เฉลี่ยต่ำสุดที่ 456 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนาม เฉลี่ย 891 และอินโดนีเซีย 837 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ โดยเฉพาะงบประมาณแผ่นดิน 2563 ที่รอผ่านกระบวนการในรัฐสภา ซึ่งมีความล่าช้า ก็ควรเร่งรัดให้เสร็จโดยเร็วด้วย

2. ปรับเป้าหมายบางส่วนในนโยบายเศรษฐกิจมหภาค โดยมุ่งเน้นให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจ

โดยนำรายได้ประชาชาติ กระจายลงสู่ผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อยมากขึ้น โดยเฉพาะเพิ่มรายได้ให้มนุษย์เงินเดือน แรงงาน และเกษตรกร ให้มากขึ้น

ที่ผ่านมา รัฐบาลเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ จนทำให้เกิดข้อกล่าวหาว่า รัฐบาลช่วยคนรวย ผู้รับประโยชน์จากนโยบาย คือกลุ่มนายทุน ทั้งในและนอกตลอดหลักทรัพย์ แต่โดยหลักแล้วโครงสร้างพื้นฐานก็จำเป็นต้องทำ เพราะจะส่งผลให้เศรษฐกิจมั่นคงขึ้นในระยะยาว

ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า รัฐบาลจะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น และกระจายรายได้ไปสู่ระดับล่างให้ดีขึ้น

ผมเชื่อว่า ถ้าฐานล่างแข็งแรงกว่าที่เป็นอยู่เวลานี้ จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีขึ้น ที่สำคัญ “หนี้ครัวเรือน” และ “ความเหลื่อมล้ำทางรายได้” ก็จะลดลงด้วย จึงเห็นว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลอาจต้องปรับ ลำดับความสำคัญ (Priority) ของนโยบายโครงการ และมาตรการทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพื่อให้ฐานล่างมีรายได้สูงขึ้นด้วย

d0c4c65d 3dd2 4cc4 899f 8a413ec0dfa0

3. เสริมประสิทธิภาพด้านการค้าระหว่างประเทศ

โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ กับจีน ที่ยังไม่มีทีท่าจะจบลงง่ายๆ ทำให้เส้นทางการค้าที่เคยทำกันมาบิดเบี้ยว เปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม เกิดความไม่แน่นอนสูงแก่ระบบการค้าระหว่างประเทศ ที่มีส่วนทำให้การส่งออกของไทยหดตัวลงรุนแรง

ในเรื่องการค้าระหว่างประเทศนี้ ผมมองว่า รัฐบาลควรกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกับเอกชน ที่มีความยืดหยุ่น ปรับตัวเร็วได้ตามสถานการณ์ใหม่ตลอดเวลา พร้อมกับเปิดแนวรุกด้านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ทั้งแบบพหุภาคีและทวิภาคี เพื่อสนับสนุนให้การส่งออกที่เป็นรายได้หลักของประเทศได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนไทยและต่างชาติด้วย

วันนี้ การบริหารงานภาคเศรษฐกิจของรัฐบาลมีความยากสลับซับซ้อนกว่าในอดีตมาก ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโลก และการปรับเข็มทิศเศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น จะเป็นปัจจัยเสริมให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวต่อไปได้ด้วยดี สร้างรายได้ และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกับชาวไทยทุกคน

ขณะที่เรายังไม่หลุดจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่รายได้ที่สูงขึ้น เราก็ต้องหลีกเลี่ยง และมั่นใจว่า นโยบายเศรษฐกิจจะไม่ไปสร้างกับดักความไม่สมดุลในการพัฒนา สกัดกั้น และเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และรายได้ของประชาชนด้วย

หากรัฐบาลเร่งดำเนินการให้เกิดผลในทางปฎิบัติ 3 เรื่องสำคัญที่ว่านี้ เส้นทางแห่งความหวังของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 และปีต่อๆ ไป ย่อมมีโอกาสไปสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จได้ไม่ยาก