World News

10 ข่าวเด่น – เรื่องใหญ่ต่างประเทศปี 62

เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน ปี 2562 ก็จะผ่านพ้นไป ซึ่งตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายครั้ง ทั้งเรื่องดี เรื่องร้าย เรื่องราวแห่งการเปลี่ยนแปลง การสูญเสีย และอื่นๆ อีกมากมาย

The Bangkok Insight รวบรวมมาให้ย้อนรำลึกกันว่า ตลอดปีที่ผ่านมา เรื่องใหญ่ๆ ที่โลกเราต้องเผชิญมีอะไรกันบ้าง

000 1I57G1

ประท้วงฮ่องกง

เหตุการณ์สำคัญที่กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกต่อเนื่องยาวนานที่สุดในปีนี้ คือ การประท้วงที่ยืดเยื้อในฮ่องกง  ที่มีสาเหตุมาจากการนำร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนฉบับใหม่ ที่เปิดทางให้ส่งตัวผู้ต้องสงสัยไปพิจารณาคดีในจีนได้  เข้าสู่การอภิปรายในสภานิติบัญญัติ หากผ่านการรับรอง จะส่งผลให้ผู้ต้องสงสัยในฮ่องกงถูกส่งตัวไปดำเนินคดีในจีนแผ่นดินใหญ่ได้  ทำให้ประชาชนในฮ่องกง ออกมาประท้วงตั้งแต่เดือนมิถุนายน  เพราะกังวลว่า จะมีการใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ควบคุมเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของชาวฮ่องกง

การประท้วงที่เป็นไปอย่างสงบในระยะแรก บานปลายกลายเป็นเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางความไม่พอใจคณะเจ้าหน้าที่บริหารเกาะฮ่องกงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ประท้วงเกิดขึ้นแทบจะเป็นรายวัน  ทั้งเหตุการณ์ที่ยืดเยื้อนี้ ยังสร้างประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่ให้กับฮ่องกง เมื่อผู้สมัครับเลือกตั้ง ที่มีความเห็นต่อต้านรัฐบาลจีน กวาดคะแนนเสียงในการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นไปอย่างถล่มทลาย

v3

วิกฤติเวเนซุเอลา

ประเทศที่เคยร่ำรวยที่สุดในลาตินอเมริกา เผชิญวิกฤติทางเศรษฐกิจและการเมือง ส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งทะยาน กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วประเทศ ซึ่งขาดแคลนทั้งอาหาร น้ำสะอาด ยารักษาโรค และไฟฟ้า ทำให้ชาวเวเนซุเอลาเดินทางออกจากประเทศแล้วกว่า 3 ล้านคน ส่วนใหญ่แล้วเดินทางเข้าไปยังโคลอมเบียประเทศเพื่อนบ้านก่อนจะไปยังเอกวาดอร์ เปรู และชิลี และส่วนอื่น ๆ เดินทางไปบราซิล

ช่วงเดือน มกราคม 2562 นายฮวน กุยโด ผู้นำฝ่ายค้านของเวเนซุเอลา ประกาศตัวเป็นประธานาธิบดีรักษาการ และบอกว่าตัวเขามีอำนาจบริหารประเทศแทนประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร ขณะที่ผู้ชุมนุมหลายพันคนประท้วงเรียกร้องให้ ประธานาธิบดีมาดูโร ลาออก ด้านสหรัฐ ประกาศสนับสนุนนายกุยโด ขณะที่รัสเซียและจีนต่อต้าน

ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ทำให้เงินโบลิวาร์แทบจะกลายเป็นเพียงแผ่นกระดาษที่ไร้ค่า อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นถึง 1,300,000% ในช่วง 12 เดือนจนถึงเดือน พฤศจิกายน 2561  และภายหลังจากทางการออกธนบัตรสกุลโบลิวาร์แบบใหม่โดยมีการตัดจำนวนเลขศูนย์ลง 5 หลัก เงินสดได้กลายเป็นของหายากในประเทศนี้ ส่งผลให้ประชาชนต้องหันไปพึ่งพาวิธีการอันเก่าแก่ในการยังชีพ นั่นคือการเอาข้าวของมาแลกเปลี่ยนกัน

brexit eu

เลื่อนเบร็กซิท

ปัญหาทางการเมืองในรัฐสภา ที่ยืดเยื้อมากที่สุดเรื่องหนึ่งของปี 2562  ที่ทำให้สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษวุ่นวายอย่างมาก  ทำให้รัฐมนตรีหลายคนลาออก รวมถึง นางเทเรซา เมย์ ต้องยอมสละเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม เพราะสภาไม่ยอมรับรับรองร่างกฎหมายข้อตกลงเบร็กซิท ที่เธอเจรจากับทางสหภาพยุโรป (อียู) ถึง 3 ครั้ง ติดต่อกัน จนต้องเลื่อนเส้นตายหลายครั้ง  เพื่อไม่ให้เกิดเบร็กซิทแบบไร้ข้อตกลง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

พรรคอนุรักษ์นิยมเลือกนายบอริส จอห์นสัน ซึ่งมีจุดยืนที่สนับสนุนเบร็กซิทมาตั้งแต่ต้น ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งเขาได้เดินหน้าเจรจาจนบรรลุข้อตกลงเบร็กซิทฉบับใหม่กับทางสหภาพยุโรปในช่วง กลางเดือน ตุลาคมที่ผ่านมา และทำให้ต้องมีการเปิดประชุมรัฐสภาสหราชอาณาจักร ในวันเสาร์เป็นครั้งแรกในรอบ 37 ปี เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่ออภิปรายและลงมติข้อตกลงเบร็กซิท

แต่ปรากฏว่า ส.ส. ส่วนใหญ่สนับสนุนคำแปรญัตติที่เสนอโดยเซอร์โอลิเวอร์ เล็ตวิน ส.ส. อิสระ ซึ่งเสนอให้ “ยับยั้งการรับรอง” ข้อตกลงเบร็กซิทของนายจอห์นสัน จนกว่าจะมีการผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน ส่งผลให้ต้องเลื่อนเส้นตายเบร็กซิทจากเดิม 31 ตุลาคม ไปเป็น 31 มกราคม

จากนั้นนายจอห์นสัน ประกาศยุบสภา จัดเลือกตั้งทั่วไปใหม่ในวันที่ 12 ธันวาคม นำพรรคอนุรักษ์นิยทคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย ได้จำนวน ส.ส. ในสภา 365 คน จากทั้งหมด 650 คน พร้อมประกาสไม่เลื่อนเส้นตายเบร็กซิทอีกต่อไป

000 1M72GJ

ไฟป่าขนาดใหญ่ลามทั่วโลก

เหตุการณ์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในปีนี้ เกิดเหตุ 3 จุดใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ ไฟไหม้ป่าอเมซอน ในบราซิล ไฟป่าแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐ และไฟป่าในออสเตรเลีย

ในกรณีของป่าอเมซอน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “ปอดของโลก” นั้น เหตุไฟป่าในปีนี้ มีความรุนแรงมากกว่าปกติ ซึ่งสถาบันวิจัยด้านอวกาศแห่งชาติบราซิล (INEP) เปิดเผยว่าข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าปริมาณการเกิดไฟป่าในแอมะซอนเพิ่มขึ้นถึง 83% จากปีที่แล้ว สถานการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า อาจทำให้ “ปอดของโลก” แห่งนี้ไม่สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากเช่นเดิมอีกต่อไป และจะส่งผลให้การบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศทำได้ยากขึ้น ป่าแห่งนี้ยังทำให้เกิดฝนสำหรับทำการเกษตรในอเมริกาใต้ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า พืชพรรณ และผู้คนนับล้าน

ขณะที่ในรัฐแคลิฟอร์เนียนั้น ประชาชนราว 200,000 คนต้องอพยพหนีไฟป่าในเขตโซโนม่า เคาน์ตี้ ทางเหนือของนครซานฟรานซิสโก ซึ่งถือว่าเป็นการอพยพประชาชนจากไฟป่าในรัฐแคลฟอร์เนียครั้งใหญ่ที่สุด  โดย “ไฟป่าคินเคด (Kincade)” ซึ่งตั้งชื่อตามถนนในเขตนั้นซึ่งเชื่อว่าเป็นจุดที่เริ่มเกิดไฟป่าในปีนี้ ทำให้มีอาคารบ้านเรือนเสียหายหลายหลัง และกินพื้นที่กว่า 120 ตาราง กม. ทำลายไร่ไวน์จำนวนมาก ส่วนทางใต้ของรัฐก็เกิดไฟป่าที่เขตซานตาคลาริต้า ใกล้นครลอสแองเจลีส ทำลายอาคารจำนวนมาก

ส่วนที่ออสเตรเลียนั้น เหตุการณ์ยืดเยื้อมาเป็นเดือนจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่สิ้นสุดลง ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ไฟป่าในปีนี้รุนแรง และยาวนานนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคลื่นความร้อนที่แผ่เข้าปกคลุมประเทศ ประกอบกับกระแสลมแรง ยิ่งพัดให้ไฟลุกโหมหนักขึ้น โดยไฟป่าได้เผาทำลายพื้นที่ป่าทั่วประเทศไปแล้วกว่า 31.25 ล้านไร่ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คร่าชีวิตประชาชนไปทั้งหมด 9 คน และมีบ้านถูกเผาวอดกว่า 950 หลัง โดยรัฐนิวเซาท์เวลส์ ได้รับผลกระทบหนักที่สุด

914779 01 02

เพลิงเผาผลาญมรดกโลก

ปี 2562 เป็นปีที่ “มรดกโลก” ตกเป็นเหยื่อของพระเพลิงถึง 4 ที่ด้วยกัน โดยได้รับความเสียหายมากน้อยแตกต่างกันไป

เริ่มกันนี้ เหตุเพลิงไหม้มหาวิหารนอเทรอดามในกรุงปารีส ฝรั่งเศส ศาสนสถานเก่าแก่อายุ 850 ปี เมื่อวันที่ 15 เมษายน โดยต้นเพลิงเกิดขึ้นจากด้านในของมหาวิทหาร บริเวณใกล้กับยอดแหลม ก่อนที่จะลุกลามไปอย่างรวดเร็ว เผาไหม้หลังคาไปทางตะวันออกและทางตะวันตก เวลาผ่านไปเพียงชั่วโมงเศษ ยอดแหลมก็พังถล่มลงมาหลังไฟลามไปถึงยอด

จากนั้นในเดือนตุลาคม ญี่ปุ่นก็ต้องสูญเสีย “ปราสาทชูริ”  ปราสาทเก่าแก่อายุกว่า 600 ปี ไปกับไฟที่เผาทำลายบริเวณโถงหลังและอาคารโดยรอบ  เจ้าหน้าที่ใช้เวลานานถึง 7 ชั่วโมงในการควบคุมเพลิง โดยเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ ทำลายอาคารอย่างน้อย 6 หลังของปราสาท รวมถึง ท้องพระโรงไซเด็น อายุเก่าแก่กว่า 600 ปี ซึ่งเป็นอาคารหลักตรงกลางของตัวปราสาท และมีขนาดใหญ่ที่สุดด้วยขนาด 4,200 ตารางเมตร

sss 1

ในเดือนพฤศิกายน  ญี่ปุ่นต้องเจอกับเรื่องน่าตกใจอีกครั้ง ในเหตุไฟไหม้ หมู่บ้านมรดกโลก “ชิราคาวาโกะ ที่จังหวัดกิฟุ  แต่โชคดีที่ระบบดับเพลิงของหมูบ้าน ทำงานได้อย่างมีประสิทธิสภาพ ทำให้เกิดความเสียหายไม่มากนัก

นอกจากนี้ ยังเกิดเหตุไฟไหม้ ‘ฮัลล์สตัทท์’ เมืองมรดกโลกของออสเตรรียช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้  ส่งผลให้อาคารซึ่งมีอายุเก่าแก่ได้รับความเสียหายจำนวนหลายหลัง และทำให้เจ้าหน้าที่หน่วยดับเพลิงได้รับบาดเจ็บ 1 นาย

70 ปีก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน

จีนจัดงานเฉลิมฉลองเดินขบวนพาเหรดครั้งใหญ่ ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม  เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปีวันก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีทหารเข้าร่วมขบวนประมาณ 15,000 นาย อาวุธชนิดใหม่ ๆ และเครื่องบินรบรุ่นต่าง ๆ ตามด้วยขบวนพลเรือนประมาณ 100,000 คน และขบวนแห่แสดงความสำเร็จตลอด 70 ปีที่ผ่านมาจำนวน 70 ขบวน

ประธานาธิบดีสี จิ้ผิง ของจีน และฐานะเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวสุนทรพจน์ในงานนี้ ประกาศไม่มีใครสามารถมาหยุดยั้งการผงาดขึ้นของจีนได้ ในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังก้าวหน้าไปตามเส้นทางที่ “เหมา เจ๋อตุง” ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้วางแนวทางไว้ พร้อมให้คำมั่นถึงการรักษานโยบาย “1 ประเทศ 2 ระบบ” ในการบริหารเกาะฮ่องกง และมาเก๊า

images 1 4

เครื่องบินเอธิโอเปียตก จุดชนวนวิกฤติโบอิง

เครื่องบินโบอิง 737 แม็กซ์ ของสายการบินเอธิโอเปียน แอร์ไลนส์ ตก ขณะบินจากแอดดิสอาบาบา เมืองหลวงเอธิโอเปีย ไปยังกรุงไนโรบีของเคนยา เมื่อต้นเดือนมีนาคม ส่งผลให้ลูกเรือ และผู้โดยสารเสียชีวิตทั้งหมด

การตรวจสอบกล่องดำของเครื่องบิน ที่ทำให้พบความผิดปกติของเครื่องบินก่อนที่จะตก คล้ายคลึงกับกรณีเครื่องบินรุ่นเดียวกันนี้ ของสายการบินไลออนแอร์ ตก ในช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น ทำให้ทุกสายตาพุ่งเป้าไปที่ “โบอิง” และในเวลาต่อมาทั่วโลกประกาศห้ามบิน หรือห้ามเครื่องบินรุ่นนี้ ผ่านน่านฟ้าของตัวเอง

ในตอนแรกนั้นเรื่องราวเกี่ยวกับการตรวจสอบเครื่องบินของโบอิง ดูท่าจะไม่ยืดเยื้อเท่าใดนัก แต่กลับกลายเป็นว่าจนถึงปัจจุบันปัญหานี้ก็ยังไม่จบ และโบอิงก็ต้องเจอกับปัญหานานับประการ รวมถึง ผลประกอบการที่ย่ำแย่อย่างหนัก  จนในที่สุดบริษัทก็ตัดสินใจระงับการผลิตเครื่องบินรุ่นนี้  ซึ่งเป็นรุ่นที่ขายดีที่สุด  ทั้งล่าสุด ยังปลดซีอีโอออกจากตำแหน่งด้วย

images 2 3

กราดยิงไครสต์เชิร์ช 

นายเบรนตัน ทาร์แรนท์ ชายชาวออสเตรเลีย ก่อเหตุกราดยิงที่มัสยิด 2 แห่งในเมืองไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 51 ราย โดยเขาถูกตั้งข้อหาก่อการร้าย ฆาตกรรมและพยายามฆ่า

เหตุกราดยิงครั้งนี้ เป็นหนึ่งในเหตุกราดยิงครั้งนองเลือดที่สุดของนิวซีแลนด์ ซึ่งในเวลาต่อมาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนิวซีแลนด์ มีมติอย่างท่วมท้น ให้แบนอาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติแบบที่ใช้ในกองทัพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต

images 3 1

สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นสละราชบังลังก์

สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ แห่งญี่ปุ่น ทรงประกาศสละราชสมบัติอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน หลังครองราชย์มา 30 ปีเต็ม ซึ่งพระองค์แสดงพระราชประสงค์เมื่อปี 2559 เนื่องจากทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจหลังครองราชย์มานานกว่า 30 ปี

ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 200 ปีของญี่ปุ่น  โดยพระราชพิธีสละราชสมบัติอย่างเรียบง่ายใช้เวลาเพียง 10 นาที ที่พระที่นั่งต้นสน ณ สำนักพระราชวังอิมพีเรียล กรุงโตเกียว

หลังจากที่พระองค์สละราชสมบัติแล้ว เจ้าชายนารุฮิโตะ  มกุฏราชกุมาร ได้ประกอบพิธีเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นจักรพรรดิญี่ปุ่นพระองค์ที่ 126 ต่อจากสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ  และยังเป็นการเริ่มรัชสมัย”เรวะ” ซึ่งมีความหมายว่า “ความสันติปรองดองอันรุ่งเรือง”

images 4 1

เกรตา ธุนเบิร์ก กล่าวสุนทรพจน์ประชุมยูเอ็น

เกรต้า ธันเบิร์ก สาวน้อยนักเคลื่อนไหววัย 16 ปี จากสวีเดน ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีการประชุมสหประชาชาติ (UN) เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา โดยได้กล่าวประณามผู้นำโลกที่เพิกเฉยต่อวิกฤตการณ์โลกร้อน

ทั้งนี้ ธันเบิร์กได้เริ่มทำให้สังคมตระหนักถึงภัยโลกร้อนที่กำลังคุกคามโลกของเรา ด้วยการตัดสินใจไม่เข้าชั้นเรียนทุกวันศุกร์ และไปนั่งอยู่ด้านหน้ารัฐสภาสวีเดน พร้อมกับชูป้ายแผ่นไม้ที่เขียนด้วยลายมือตนเองว่า “ไม่เรียนหนังสือเพื่อประท้วงโลกร้อน” นอกจากนั้น เธอยังทำใบปลิว อธิบายความรุนแรงของภาวะโลกร้อนให้คนที่ผ่านไปมาได้อ่าน โดยนิตยสารไทม์ได้ประกาศยกย่องให้ธันเบิร์กเป็น “บุคคลแห่งปี” ประจำปี 2562

Avatar photo