Technology

เทรนด์เทคโนโลยีปี 63 ‘5G-เอไอ-ไอโอที’ ครองดาวเด่นพลิกโลก

ในยุคที่เทคโยโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทุกวัน นำมาซึ่งการพัฒนาสิ่งใหม่ที่จะเข้ามาในชีวิตประจำวันผู้บริโภคมากมาย “TheBangkokInsight” ได้รวบรวมเทรนด์เทคโนโลยีที่จะมีบทบาทอย่างมากในประเทศไทยปี 2563 ซึ่่งแน่นอนว่า การเปิดใช้ 5G เชิงพาณิชย์ จะเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างสรรค์สิ่งใหม่อีกมากมาย

Tech 01 2

1.เปิดประมูล 5G พร้อมใช้งานจริง

ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติให้เปิดประมูลคลื่นความถี่ 4 ย่าน ได้แก่ 700 MHz, 1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz โดยกำหนดวันประมูลวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 พร้อมทั้งคาดว่าจะสามารถคาดว่าจะออกใบอนุญาตได้ปลายเดือน กุมภาพันธ์ 2563 และผู้รับใบอนุญาตจะเริ่มติดตั้งโครงข่ายได้ตั้งแต่เดือน มีนาคม 2563 ซึ่งหากเป็นไปตามแผนคาดว่า ในเดือน มิถุนายน – กรกฏาคม 2563 จะสามารถเปิดให้บริการได้ในบางพื้นที่ เช่น ย่านใจกลางเมือง และ อีอีซี

การเปิดให้บริการ 5G จะมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ ไอโอที, เอไอ, เทคโนโลยีความจริงเสมือน ฯลฯ และที่สำคัญจะเข้ามากระทบกับทุกภาคธุรกิจ เช่น ธุรกิจการเงินการธนาคาร เพราะเมื่อความสามารถของเทคโนโลยีมากขึ้น จะทําให้ระบบ โมบายแบงก์กิ้ง เข้ามาแทนที่, ภาคอุตสาหกรรม จะมีการใช้หุ่นยนต์ในการผลิตและเชื่อมโยงหน้าที่ต่างๆมากขึ้น, ภาคการเกษตร จะพัฒนาเข้าสู่ยุคสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง ตลอดจนธุรกิจโลจิสติกส์, วิวัฒนาการทางการแพทย์, ธุรกิจค้าปลีกที่ถูกดิสรัปชั่นจากการค้าออนไลน์ เมื่อเครือข่ายมือถือมีความเร็วเพิ่มขึ้นอย่างมาก

UK 5G

กล่าวได้ว่า การมาของ 5G จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คน ไปจนถึงการเปลี่ยนเมืองให้อัจฉริยะมากขึ้น ที่สำคัญจะช่วยให้ให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น จากการเชื่อมต่อที่รวดเร็ว เพราะ 5G จะมาพร้อมกับความเร็วในการเชื่อมต่อที่จะขึ้นไปสูงสุดระดับ 10 Gbps อัตราความหน่วง (Latency) ในระดับต่ำกว่า 10 ms (เสี้ยววินาที) ไปจนถึงรองรับการเชื่อมต่อจำนวนมหาศาลจากอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทั้งหลาย

2.เอไอ ช่วยมนุษย์ให้ทำงานได้ดีขึ้นไม่ใช่ทดแทน

ไมโครซอฟท์ คาดการณ์กันว่ามากว่า 40% ของกระบวนการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ภายในปี 2562 บทบาทของเอไอ จะเข้ามาสนับสนุน และในปี 2563 จะมีองค์กรถึง 85% ที่นำเอไอ มาประยุกต์ใช้งาน อีกทั้งคาดว่าแอปพลิเคชันกว่า 50% ในตลาด จะนำเอไอ มาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อใช้งานในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง รวมถึงการใช้บอทและเอไอ ในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้ามีแนวโน้มที่จะแพร่หลายขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนอาจคิดเป็นอัตราส่วนถึง 95% ของการสนทนากับลูกค้าในปี 2568

ในประเทศไทยเอง ปัจจุบันและต่อเนื่องถึงปี 2563 ผู้ประกอบการหลายราย เริ่มให้ความสำคัญกับ เอไอ และนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาคของการเงินการธนาคาร ประกัน โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ และระบบขนส่ง หรือแทบจะทุกภาคอุตสาหกรรมที่ เอไอ เข้ามาขับเคลื่อนการทำงานขององค์กรตัวเอง

เอไอ e1573575013421

ปัจจัยที่ทำให้ เอไอ แพร่หลายมากขึ้น ประกอบด้วย ทรัพยากรข้อมูล กลไก และแนวทางในการค้นหา คัดเลือก และจัดเก็บข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มากมาย , บุคลากร ความรู้ความเข้าใจในการวิเคราะห์หรือประยุกต์ใช้ข้อมูลในรูปแบบที่เกิดประโยชน์กับองค์กร ผู้ใช้งาน หรือสังคม และ ความเข้าใจ นอกจากทักษะและความเข้าใจเชิงเทคนิคของผู้พัฒนา เอไอ ความไว้เนื้อเชื่อใจในเทคโนโลยีเอไอ และความมั่นใจในประสิทธิภาพหรือความแม่นยำของระบบก็มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การใช้งานเอไอ ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ต้องมีการวางมาตรฐานที่ชัดเจนในด้านความปลอดภัยของข้อมูล ความโปร่งใสในการทำงาน และความรับผิดชอบของผู้พัฒนา เป็นต้น โดยการพัฒนา เอไอ ต้องมีวัตถุประสงค์หลักคือการส่งเสริมให้มนุษย์สามารถทำงานได้ดีขึ้น มากขึ้น หรือทำในสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยเป็นไปได้มาก่อน เป็นการผลักดันให้แรงงานมนุษย์พัฒนาทักศะของคัวเองเพิ่มขึ้น ไม่ใช่การเข้ามาแทนที่มนุษย์

3.ไอโอที เชื่อมชีวิตผู้บริโภค

ผลของการเปิด 5G จะทำให้เทคโนโลยีไอโอที หรือ อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ เข้ามาอยู่ในภาคธุรกิจและชีวิตประจำวันผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เนื่องจาก 5จี ต้องมีอุปกรณ์และเซ็นเซอร์ไอโอทีจำนวนมากเกิดขึ้น โดย ไอดีซี คาดการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายด้านไอโอทีทั่วโลกจะพุ่งขึ้นสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2563 โดยเพิ่มมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยภูมิภาคเอเชียจะเป็นผู้นำของโลกในการใช้จ่ายด้านไอโอทีคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 36.9% ของการใช้จ่ายทั่วโลก

industry

นอกจากนี้ ไอดีซียังคาดการณ์ว่า ภายในปี 2564 บริการ 5G จะช่วยผลักดันการใช้งานไอโอที และจะกระตุ้นให้ 50% ของ 500 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของไทยลงทุนในโซลูชันด้านการจัดการการเชื่อมต่อเป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท อุปกรณ์ต่างๆ จะรองรับโซลูชั่นของไอโอทีได้

ปัจจุบัน เทคโนโลยีไอโอทียังถูกพูดถึง ในวงจำกัดเช่นในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ภาคการผลิต และเกษตรกรรม ซึ่งยังไกลตัวผู้บริโภคอยู่มาก แต่ในปี 2563 ผู้บริโภคจะได้สัมผัสไอโอทีมากขึ้น โดยเฉพาะ ด้านสุขภาพและการแพทย์ โดยไอโอทีจะถูก ผนวกเข้าไปอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้สามารถ จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับร่างกายได้แบบเรียลไทม์ เช่น ความดันเลือด ปริมาณออกซิเจนในเลือด อัตราการเต้นของหัวใจ หรือแม้แต่การกรน เป็นต้น

จากแนวโน้มการใช้งานไอโอทีที่มากขึ้น ทำให้ กสทช. เตรียมออกประกาศเกี่ยวกับการกำกับดูแลและปรับปรุงเลขหมายอุปกรณ์ไอโอที เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล หรือ เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทำให้ กสทช.ต้องออกเลขหมายกำกับอุปกรณ์ไอโอที ที่อาจส่งผลกระทบต่อเรื่องดังกล่าวด้วย เบื้องต้น กสทช.กำหนดเลขหมายสำหรับอุปกรณ์ไอโอทีไว้ 14 หลัก จำนวน 8,000 ล้านเลขหมาย

4. องค์กรต้องวางยุทธศาสตร์ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น”

ไอดีซี ยังคาดการณ์ว่า ภายในปี 2563 ประมาณ 20% ขององค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทยจะมีการกำหนดกลยุทธ์การสร้าง “แพลตฟอร์มดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน” ที่ชัดเจน และ จะเริ่มดำเนินการติดตั้งแพลตฟอร์มนี้เพื่อเป็นเครื่องมือหลักในการแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการแยกระบบหลังบ้าน และสร้างนวัตกรรมให้ทันสมัย วิเคราะห์ข้อมูลดาต้าให้มากที่สุด เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรให้เป็นดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ เพื่อเสริมศักยภาพและพร้อมแข่งขันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ

Digital Transformation

นั่นเพราะ ยุคดิสรัปชั่น เป็นตัวผลักดันให้องค์กรธุรกิจทุกอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัว หรือ ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เพื่อช่วยสร้างการเติบโต ยกระดับการบริหารจัดการ พร้อมเพิ่มความได้เปรียบการแข่งขัน ทำให้กระบวนการทำงานเป็นไปอย่างอัตโนมัติ

สิ่งสำคัญคือ ผู้นำองค์กรต้องตระหนักถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ และมีความรู้ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงตลาด ลูกค้า และพาร์ทเนอร์ ได้ดีขึ้น โดยการทรานส์ฟอร์มขององค์กร สามารถทำได้ทั้งการทรานส์ฟอร์มประสบการณ์ คือการพยายามสร้างประสบการณ์การใช้สินค้าหรือบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าในมิติต่างๆ และรวมไปถึงการสร้างประสบการณ์ในการทำงานที่ดีให้กับพนักงาน, การทรานส์ฟอร์มการใช้ดาต้า คือการดึงข้อมูลจากลูกค้า ตลาด การทำธุรกรรม บริการ สินค้า และสินทรัพย์ มาใช้ต่อยอดและใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ โดยต้องถือว่าดาต้าคือสินทรัพย์และปัจจัยการผลิตชนิดหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังควรทรานส์ฟอร์ม วิธีการปฏิบัติงาน คือการทำให้รูปแบบการทำงานขององค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากสินค้า บริการ สินทรัพย์ บุคลากร และพาร์ทเนอร์ที่ เกี่ยวกับเทคโนโลยี เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถใช้เวลาและทรัพยากรกับการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ ได้มากขึ้น, การทรานส์ฟอร์ม ผู้ปฏิบัติงาน คือการสร้างความร่วมมือ ระหว่างพนักงานประจำ พนักงานพาร์ทไทม์ พนักงานสัญญาจ้าง ฟรีแลนซ์และพนักงานของพาร์ทเนอร์ เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายทางธุรกิจต่างๆ ด้วยการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับทุกฝ่าย

5. คลาวด์และดาต้าเซ็นเตอร์ รองรับปริมาณข้อมูลมหาศาล

datacenter

เพราะดาต้า หรือข้อมูลกลายเป็นขุมทรัพย์ใหม่ในยุคดิจิทัล ส่งผลให้ปริมาณข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมหาศาล ซึ่งคลาวด์และดาต้าเซ็นเตอร์ จะเข้ามาตอบสนองการจัดเก็บข้อมูลที่มีค่าเหล่านี้ ทำให้จะได้เห็นการลงทุนคลาวด์ และดาต้าเซ็นเตอร์อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการของภาคธุรกิจ

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าในปี 2568 ธุรกิจทุกอุตสาหกรรมจะย้ายขึ้นบนคลาวด์ กว่า 85% ของการใช้แอพพลิเคชันองค์กรธุรกิจจะเกิดขึ้นบนคลาวด์ทั้งสิ้น การนำ 5จี มาใช้ควบคู่คลาวด์และ เอไอจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพ คุณภาพการทำธุรกิจ สร้างระบบนิเวศที่พร้อมรองรับความต้องการและขนาดธุรกิจยุคอัจฉริยะ

ขณะที่ตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ของไทยก็ยังเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน โดยในปี 2561 ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโต 14-15% และในปี 2563 คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท และเมื่อถึงปี 2568 คาดว่ามูลค่าคลาดจะเพิ่มขึ้นไปถึงกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท

6. โมบายเพย์เมนท์ – อีเพย์เมนท์ดาวรุ่งแรงต่อเนื่อง

online banking

ภายในปี 2563 อุปกรณ์เคลื่อนที่จะกลายเป็นเทอร์มินัลรับชำระเงินในประเทศไทย และในกลุ่มร้านค้าของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยการใช้โมบายเพย์เมนท์ จะผลักดันให้รายได้ของผู้ประกอบการขนาดย่อมเติบโตขึ้น 10% รวมถึงพฤติกรรมการใช้เงินสดของผู้บริโภคที่มีน้อยลง การจ่ายเงินมีทางเลือกมากขึ้นทั้ง NFC, QR Code มีการผลักดันจากภาครัฐ รวมทั้งผู้เล่นธนาคาร และ นอน-แบงก์ ต่างทำตลาดอย่างหนัก ในการทำให้เพย์เมนต์เติบโต

เห็นได้จากผลสำรวจของ YOZZO บริษัทที่ปรึกษาด้านโทรคมนาคมไทย ระบุว่า ในปี 2554-2558 การจ่ายเงินแบบไม่ใช้เงินสดหรือ Cashless Payment มีการเติบโตกว่า 20% ไทยเป็นอันดับที่ 4 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ส่วนการใช้งานอี-เพย์เมนต์เพิ่มขึ้นจาก 6.82 หมื่นล้านบาท เป็น 1.43 แสนล้านบาทในปี 2563 จากการผลักดันของกลุ่มฟินเทคและนันแบงก์ ทำให้โมบายแบงก์กิ้งในไทยโตแบบก้าวกระโดด

การเติบโตของโมบายเพย์เมนต์ และอีเพย์เมนท์ นอกจากเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คนให้ชำระเงินได้สะดวกสบายผ่านโทรศัพท์มือถือแล้ว อีกปัจจัยสำคัญยังมาจากการสนับสนุนเรื่อง สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการชิม ช้อป ใช้ โดยใช้จ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ส่งผลให้คาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ยุค Cashless Society หรือยุคสังคมไร้เงินสด ในช่วงหลังปี ของปี  2563

7. เทคโนโลยีความปลอดภัยลดช่องโหว่ภัยไซเบอร์

security

ปัจจุบัน เครือข่าย 4G ยังคงมีช่องโหว่จากการถูกการโจมตี ตั้งแต่สแปม ไปจนถึง การดักฟัง มัลแวร์ การปลอมแปลง IP การขโมยข้อมูลและบริการ การโจมตีแบบ DDoS และตัวแปรอื่น ๆ อีกมากมาย จึงเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือที่ต้องต่อสู้กับช่องโหว่ด้านความปลอดภัยเมื่อเปิดใช้บริการ 5G

สิ่งที่ต้องตระหนักรู้คือ ปัญหาเรื่องความปลอดภัยบนโลกดิจิทัล ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยของผู้ใช้งาน และความอ่อนแอด้านความปลอดภัยของแอปพลิเคชั่นและบริการของบุคคลที่สามจำนวนมาก ซึ่งจะเกิดขึ้นกับการใช้งาน 5G แน่นอน หากไม่ได้รับการแก้ไขหรือมีการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น อุปกรณ์เชื่อมต่อจะต้องได้รับการดัดแปลงและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อความปลอดภัย โดยมีแนวโน้มว่ารัฐบาลทั่วโลกรวมถึง ในภูมิภาคเอเชีย จะออกคำแนะนำหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของอุปกรณ์ไอโอที และกลุ่มมาตรฐานอุตสาหกรรม ยังคงพยายามอย่างต่อเนื่องในการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ไอโอที

นักวิจัยแคสเปอร์สกี้ ระบุว่า ในปี 2563ภาพรวมของการโจมตีอย่างมีเป้าหมาย จะมีความซับซ้อนขึ้น และพุ่งเจาะหาเป้าหมายมากขึ้น เพื่อไล่ล่าข้อมูลที่มีความอ่อนไหว เช่น ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล หรือไบโอเมทริกซ์ ซึ่งสอดรับกับอิทธิพลจากเงื่อนไขภายนอก เช่น การพัฒนาและการเผยแพร่ของแมชชีนเลิร์นนิ่ง เทคโนโลยีการพัฒนาดีพเฟค

สำหรับภัยคุกคามแบบวางเป้าหมายในปี 2563 ตัวอย่างเช่น สัญญาณแจ้งเตือนลวง ที่มีวิวัฒนาการหลบเลี่ยงการถูกตรวจจับ แล้วยังสามารถลวงให้หลงทิศทาง เช่น ทำให้หลงคิดว่าเป็นฝีมือของมัลแวร์ที่พบได้ทั่วไป หรือซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการระบบ ผสมกับสัญญานเตือนลวงให้ไขว้เขว ขณะที่ แรนซัมแวร์เปลี่ยนมาเป็นภัยคุกคามแบบมีเป้าหมาย ด้วยวิธีการพลิกผันรูปแบบของตัวเอง จากที่เคยจ้องทำลายล้างไฟล์กู้คืนไม่ได้ มาสู่แบบที่ขู่เจ้าของข้อมูลว่าจะเปิดเผยข้อมูลที่ขโมยมาจากบริษัท/องค์กรของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ

8.ระบบอัตโนมัติ รับยุคโรงงานอัจฉริยะ

โรงงานอัจฉริยะ

โลกกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีครั้งสำคัญของระบบอัตโนมัติในเชิงอุตสาหกรรม องค์กรและธุรกิจทั่วโลกกำลังนำระบบอัตโนมัติมาประยุกต์ใช้ในองค์กรเพื่อผลักดันการเปลี่ยงแปลงทางดิจิทัลและปรับรูปแบบการปฏิบัติงานและการดำเนินธุรกิจ รองรับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

อีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดการนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้งานมากขึ้นทั่วโลก คือ ภาวะขาดแคลนแรงงาน อันเป็นผลจากสังคมผู้สูงอายุในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ ดังนั้น เป้าหมายของการนำระบบอัตโนมัติมาใช้มิใช่เพียงลดต้นทุนมากขึ้น แต่ใช้งานทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ระบบอัตโนมัติเป็นเทคโนโลยีที่มีการดำเนินกระบวนการหรือขั้นตอน โดยอาศัยความช่วยเหลือจากมนุษย์น้อยที่สุด และรูปแบบการใช้งานมีจุดประสงค์ในการการควบคุมและตรวจสอบการผลิต รวมถึงการขนส่งสินค้าและบริการต่างๆ ระบบอัตโนมัติสามารถทำงานทั่วไปแทนมนุษย์ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ภาคการผลิต ภาคเทคโนโลยี ภาคการค้าปลีก เป็นต้น โดยอัตราการเติบโตที่รวดเร็วในอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติทั่วโลก คือกลุ่มตลาดหุ่นยนต์อัตโนมัติที่ใช้งานในภาคการผลิตเป็นส่วนมาก

ในอนาคตจะมีกรณีการใช้งานระบบอัตโนมัติมากมายและจะสร้างผลกระทบอย่างมากในหลายอุตสาหกรรม โดยคาดการณ์ว่า จะมีการลงทุนในระบบอัตโนมัติถึง  2 แสนล้านบาทภายใน 5 ปีข้างหน้า และคาดว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นผู้ส่งออกหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภายในปี 2569

นอกจากนี้ ยังมีการคาดหมายว่า มากกว่า 60% ของผู้ผลิตในประเทศไทยจะนำระบบอัตโนมัติมาใช้ภายในระยะเวลา 1-3 ปี ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางจะมีความพร้อมใช้งานในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ตามด้วยธุรกิจขนาดย่อมจะนำมาใช้ในอีก 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ มากกว่า 24  อุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากระบบอัตโนมัติ ซึ่งภาคการผลิต การดูแลสุขภาพ การก่อสร้าง การบังคับใช้กฎหมาย และ
เกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ได้รับผลกระทบ โดยขนาดตลาดของระบบอัตโนมัติจะเติบโตเกินกว่า 1 ล้านล้านบาท ภายในปี 2578

9.สมาร์ทซิตี้ ขยายผลต่อเนื่อง

สมาร์ทซิตี้

การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลได้กำหนดโรดแมพการพัฒนาไว้ 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 เป็นระยะนำร่อง การปรับเปลี่ยน เรียนรู้ ช่วง 2 ปี (2561-2562)จะเน้นการพัฒนาเมืองเดิมซึ่งได้มีการนำร่องในหลายพื้นที่ที่มีศักยภาพรวม 7 จังหวัด 10 พื้นที่ ได้แก่กรุงเทพมหานคร ย่านพหลโยธินและย่านปทุมวัน จ.ภูเก็ต จ.เชียงใหม่ จ.ขอนแก่น จ.ชลบุรี จ.ระยอง. จ.ฉะเชิงเทรา

ระยะที่ 2 เป็นการต่อยอดจุดแข็งบูรณาการระดับภาค (2562-2563) จะยังคงมีการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างต่อเนื่องและเพิ่มเติมในส่วนของเมืองใหม่ 8 จังหวัด 15 พื้นที่เน้นไปที่การพัฒนาเมืองในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี และ ระยะที่ 3 เป็นการขยายผลทุกภูมิภาคทั่วประเทศ (ปี 2563-2565) ขยายไปสู่ 24 จังหวัด 30 พื้นที่ และขยายไป 76 จังหวัด 100 พื้นที่

ยกตัวอย่างเช่น ภูเก็ต ซึ่งเป็นเป้าหมายแรกของการยกระดับสู่สมาร์ทซิตี้ แผนพัฒนาเมืองภูเก็ตนั้นถูกแบ่งออกเป็น 12 แผน โดยครอบคลุมการพัฒนาตามหลักการของเมืองอัจฉริยะ คือ พัฒนาระบบขนส่งมวลชน ระบบขนส่งทางทะเลและพื้นที่โดยรอบ พัฒนาระบบจัดการน้ำ สร้างพลังงานทางเลือก พัฒนาแอพพลิเคชั่น สร้างระบบไฟและระบบความปลอดภัยแบบอัจฉริยะผ่านการใช้เทคโนโลยี ภายใต้งบประมาณลงทุน 4,200 ล้านบาท

10.แมชชีนเลิร์นนิ่ง เปลี่ยนชีวิต งาน

แมชชีน เลิร์นนิ่ง

แมชชีนเลิร์นนิงอยู่รอบๆ ตัวเรา ทำงานผ่านซอฟต์แวร์ในโทรศัพท์ ในรถ ในบ้าน รวมถึงซอฟต์แวร์ที่ใช้ทำงานอยู่ทุกวัน ซึ่งช่วยให้เข้าถึงข้อมูลเพื่อใช้ข้อมูลในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้ถูกต้องและรวดเร็วรวมทั้งเข้ามาเปลี่ยนโลกรอบตัวคนอย่างสิ้นเชิง การที่ระบบมีความสามารถในการลดเวลาการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจได้อย่างมากนี้อาจดูน่าสนใจน้อยกว่ารถยนต์ไร้คนขับ แต่ความสามารถเหล่านี้คือสิ่งที่จะทำให้แมชชีนเลิร์นนิงเป็นเทคโนโลยีที่กำหนดการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคก็ว่าได้

กุญแจสำคัญที่จะใช้ประโยชน์จากแมชชีนเลิร์นนิ่งได้อย่างเต็มประสิทธิภาพคือการมองหาแอพพลิเคชั่นที่จะก่อให้เกิดมูลค่าเชิงกลยุทธ์ในระยะยาว ซึ่งเป็นรากฐานที่จะเปลี่ยนฟังก์ชั่นหรือกระบวนการสำคัญต่างๆ ภายในธุรกิจ มากกว่าที่จะให้คุณภาพหรือคุณลักษณะที่น่าประทับใจเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น

คุณสมบัติที่ดีที่สุดของแมชชีนเลิร์นนิงคือใช้งานได้เกือบจะไม่มีขีดจำกัด เมื่อใดก็ตามที่มีผลการประเมินจากการวิเคราะห์และการทำความเข้าใจข้อมูลอย่างรวดเร็วก็จะนำมาใช้งานได้หลากหลาย เมื่อใดก็ตามที่มีผลลัพธ์จากการระบุแนวโน้มหรือความผิดปกติต่างๆ ในชุดข้อมูลขนาดใหญ่ อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งอย่างใด ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยทางคลินิกไปจนถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบและการรักษาความปลอดภัย

ปัจจุบัน แมชชีนเลิร์นนิงกำลังปฏิวัติการบริการลูกค้า คำถามหลายประเภทสามารถคาดการณ์และตอบได้ง่ายๆ ด้วยการใช้แชทบอทที่ขับเคลื่อนโดยแมชชีนเลิร์นนิง ช่วยให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างถูกต้องเฉียบคม ลดเวลาและความยุ่งยาก เพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ และเชื่อว่าจะได้รับการพัฒนาให้มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในปี 2563

 

Avatar photo