Technology

เด็กไทยเล่นเน็ต 35 ชม.ต่อสัปดาห์ เสี่ยง “Cyber bullying” สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก

เด็กไทยเล่นเน็ต 35 ชม.ต่อสัปดาห์

เด็กไทยเล่นเน็ต
พบเด็กไทยเล่นเน็ต 35 ชม.ต่อสัปดาห์

เป็นตัวเลขที่ไม่สวยงามเท่าไร สำหรับรายงาน The 2018 DQ Impact Study ที่พบว่าเด็กไทยเล่นอินเทอร์เน็ตสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึงสามชั่วโมง แถมยังเล่นโซเชียลมีเดียหนักข้อ เพิ่มโอกาสเสี่ยงเจอภัยออนไลน์ถึง 60%

โดยรายงานฉบับดังกล่าวถูกจัดทำขึ้นในระหว่างเดือนพฤษภาคม – เดือนธันวาคม ปี 2560 จากความร่วมมือกันของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ  และ DQ  institute ประเทศสิงคโปร์ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างของเด็กและเยาวชนไทยที่มีอายุ ระหว่าง 8 ถึง 12 ปี จำนวน 1,300 คน ทั่วประเทศ ผ่านแบบสำรวจออนไลน์ DQ Screen Time Test ชุดเดียวกันกับเด็กประเทศอื่นๆ  รวมกลุ่มตัวอย่างทั่วโลกทั้งสิ้น 37,967 คน

WEF Global ผู้เผยแพร่งานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า เด็กไทยมีโอกาสเสี่ยงภัยจากออนไลน์ถึง 60% ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 56% ทั้งนี้หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านจะพบว่าฟิลิปปินส์มีความเสี่ยงสูงกว่าที่ 73% ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 71% และเวียดนาม 68% ส่วนสิงคโปร์อยู่ที่ 54%

ด้านนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า การเติบโตที่รวดเร็วของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในมือถือ นำไปสู่ความรวดเร็วของการรับสื่อ จึงทำให้ยากที่เด็กจะคัดกรองหรือแยกแยะเนื้อหาที่สร้างสรรค์และเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมออกจากกันได้ นอกจากนั้น รายงานดังกล่าวพบว่าเด็กไทยใช้เวลากับหน้าจอท่องอินเทอร์เน็ต 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 3 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็นเข้าอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนสูงสุด  (73%)  และรองลงมาคือคอมพิวเตอร์โรงเรียน (48%)

โดยกิจกรรมที่เด็กไทยนิยมใช้เมื่อเข้าอินเทอร์เน็ตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  • การดูวีดิโอออนไลน์ (73%)
  • การค้นหาข้อมูล (58%)
  • การฟังเพลง (56%)
  • การเล่นเกม (52%)
  • การรับส่งอีเมลหรือแชทข้อความผ่านแอพลิเคชั่นบนมือถือ (42%)

 

youtube 1719926 1280 1

โดยในส่วนนี้พบด้วยว่าเด็กไทยใช้โซเชียลมีเดียถึง 98% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 12% และในจำนวนนี้มีการใช้งานอย่างสม่ำเสมอ (Highly Active User) มากถึง 50% เช่น โพสรูป โพสคอมเมนต์ ซื้อหรือขายของออนไลน์ สำหรับโซเชียลมีเดียที่เด็กไทยนิยมใช้มากที่สุด ได้แก่

  • YouTube 77%
  • Facebook 76%
  • Line 61%
  • Instagram 24%
  • Twitter 12%
  • Snapchat 4%

ทั้งนี้ ยังพบด้วยว่าภัยออนไลน์หรือปัญหาจากการใช้ชีวิตดิจิทัลของเด็กไทยที่พบมากที่สุดมี 4 ประเภท ได้แก่

  • การกลั่นแกล้งทางออนไลน์ หรือ Cyber bullying (49%)
  • การเข้าถึงสื่อลามกและพูดคุยเรื่องเพศกับคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ (19%)
  • ติดเกม (12%)
  • ถูกล่อลวงออกไปพบคนแปลกหน้า (7%)

โดยในส่วนของ Cyber bullying ของเด็กไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่อยู่ที่ 47% ซึ่งเป็นไปได้ว่า การ Cyber bullying (เช่น การด่าทอกันด้วยข้อความหยาบคาย การตัดต่อภาพ สร้างข้อมูลเท็จ รวมไปถึงการตั้งกลุ่มออนไลน์กีดกันเพื่อนออกจากกลุ่ม ฯลฯ) เหล่านี้กำลังเป็นอีกผลิตผลจากอินเทอร์เน็ต ที่เป็นปัญหาซึมลึกส่งผลต่อปัญหาสังคมไทย และเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น

นอกจากนั้นยังพบด้วยว่าในส่วนของครู  214 คนที่เข้าร่วมในการสำรวจด้วยนั้น มีคุณครูจำนวน 21 คนไม่สามารถสังเกตถึงภัยออนไลน์ อย่างCyber bullying ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนได้  แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นที่น่ายินดีว่าครูมีการตื่นตัวที่จะให้ความรู้เรื่องทักษะชีวิตในโลกยุคดิจิทัล โดยเห็นความสำคัญของหลักสูตรพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship) ว่าควรมีอยู่ในบทเรียนถึง 88%

โดยงานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่าทักษะหนึ่งที่จำเป็นคือเรื่องของความฉลาดทางดิจิทัล (Digital intelligence Quotient : DQ) ที่ต้องส่งเสริมอย่างถูกต้องและต่อเนื่องในเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักยับยั้งชั่งใจ คิดวิเคราะห์ไตร่ตรอง การรู้จักควบคุมอารมณ์ให้เหมาะสม การมีวินัยรับผิดชอบ เรียนรู้เป็น และมีคุณธรรมในการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์  รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในประเทศที่ต้องมีความตระหนักใน DQ ด้วยเช่นกัน จึงจะสามารถนำพาประเทศให้ก้าวข้ามสถานการณ์ไม่ปลอดภัยเช่นนี้ได้

depa

 

ติดตามอ่านบทความเพิ่มเติมทางด้านเทคโนโลยีได้ในหมวดหมู่ Technology

Avatar photo