Wellness

สายปาร์ตี้ โปรดระวัง!! ‘แอลกอฮอล์เป็นพิษ’ แรงถึงเสียชีวิต

ปีใหม่นี้ เตือนนักดื่ม สายปาร์ตี้ จัดหนัก ระวังแอลกอฮอล์เป็นพิษ แพทย์ชี้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

อ. พญ.วิจิตรา เลี้ยงสว่างวงศ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยในรายการ รามา สแควร์ (Rama Square) ว่า การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากในระยะเวลาที่สั้น ทำให้ตับซึ่งทำหน้าที่ขับแอลกอฮอล์ออกจากกระแสเลือด ไม่สามารถขับแอลกอฮอล์ที่อยู่ในร่างกายออกได้ทัน จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ ซึ่งไม่สามารถระบุระยะเวลาในการแสดงอาการที่ชัดเจนได้

party

ทั้งนี้ ได้เตือนว่า หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 12 ดื่มมาตรฐานในระยะเวลาอันสั้น หรือมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จะมีโอกาสเกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษสูงมาก อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับความสามารถในการดูดซึมสารของร่างกายแต่ละบุคคล และชนิดของเครื่องดื่มนั้น ๆ ว่ามีดีกรีหรือปริมาณแอลกอฮอล์เข้มข้นมากแค่ไหนด้วย

สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดต่างๆ จะมีปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์แตกต่างกัน เช่น เบียร์ ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ประมาณ 5% โดยมี 1 ดื่มมาตรฐานเท่ากับ 1 กระป๋อง หรือ 1 ขวดเล็ก 330 มิลลิลิตร ขณะที่ ไวน์ มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ประมาณ 12% จะมี 1 ดื่มมาตรฐานเท่ากับ 1 แก้ว หรือ 100 มิลลิลิตร และ สุรากลั่น มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ประมาณ 40% จะมี 1 ดื่มมาตรฐานเท่ากับ 3 ฝา หรือ 30 มิลลิลิตร

การสังเกตอาการของภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ คือ มีอาการเริ่มกระวนกระวาย สับสน พูดจาไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถทรงตัวได้ มีภาวะง่วงซึม นอนหลับมากกว่าปกติ มีอาการกึ่งโคม่า รู้สึกตัวแต่ไม่สามารถตอบสนองได้ จนถึงขั้นอาเจียนออกมาเป็นจำนวนมาก หรืออาเจียนเป็นเลือด เริ่มหายใจช้าลง แต่หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ ไปจนถึงน้ำตาลในเลือดต่ำจนทำให้เกิดอาการชัก หรือเสียชีวิตได้

people 3330590 960 720

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้มีเกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ ควรโทรเรียก 1669 หรือเรียกรถพยาบาลอย่างเร่งด่วน และไม่ควรปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่ตามลำพัง ต้องเฝ้าสังเกตอาการของผู้ป่วยตลอดเวลา พยายามปลุกให้ผู้ป่วยมีสติ ไม่หลับ และพยุงให้อยู่ในท่านั่ง หากผู้ป่วยรู้สึกตัวให้ดื่มน้ำเปล่าเข้าไปมาก ๆ แต่อย่าพยายามให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมา เพราะอาจระคายเคืองทางเดินอาหารจนทำให้อาเจียนเป็นเลือดได้

หากผู้ป่วยหมดสติ ไม่รู้สึกตัว ให้จับนอนตะแคง เฝ้าสังเกตการหายใจจนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง โดยการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษนั้นสำคัญมาก หากผู้ดูแลหรือผู้ที่ช่วยเหลือมีความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้เปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตลดน้อยลงและมีโอกาสรอดมากขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : อ. พญ.วิจิตรา เลี้ยงสว่างวงศ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Avatar photo